สรรหา ‘จุฬาราชมนตรี’ คนที่ 19 (EP.2) มุสลิมสามสาย เปอร์เซีย-ปาทาน-มลายู ใครชี้ขาดตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

20 พฤศจิกายน 2566 - 07:49

จุฬาราชมนตรี, เปอร์เซีย, มลายู, ปาทาน
  • ย้อนดูข้อมูลคนไทยมุสลิม อ่านเกมก่อนเลือกจุฬาราชมนตรี คนที่ 19

  • ภาคใต้มีจำนวนมัสยิดเยอะที่สุด 3,423 แห่ง และมีผู้มีสิทธิสรรหาจุฬาราชมนตรีมากที่สุด 377 คน

  • เจาะลึกมุสลิมเชื้อสายใดครองฐานเสียงมากที่สุด เปอร์เซีย-ปาทาน-มลายู

สรรหา “จุฬาราชมนตรี” คนที่ 19 (EP.1) เป็นเรื่องราวของจุฬาราชมนตรีทั้ง 18 ท่าน ที่แยกเป็นยุคอยุธยา, รัตนโกสินทร์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

ที่ต้องแยกเป็น 3 ยุค เพราะแต่ละยุค บทบาทและสถานะของจุฬาราชมนตรีแต่ยุคจะแตกต่างกัน ท่านที่อ่านใน EP.1 แล้วก็น่าจะพอเห็นภาพ

ส่วนท่านที่ยังไม่อ่าน ก็ต้องย้อนไปอ่านดูนะครับ จะได้ลุ้นจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 ได้สนุกขึ้น

EP.2 ก่อนที่จะไปวิเคราะห์โค้งสุดท้ายของการสรรหาจุฬาราชมนตรีว่า ใครจะเป็นแคนดิเดตสำคัญที่จะได้คะแนนสรรหาจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 40 จังหวัดทั่วประเทศ

เพื่อให้เห็นภาพฐานคะแนนชัดเจนขึ้นว่า ผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็นจุฬาราชมนตรี จะต้องได้รับการสนับสนุนจากฐานคะแนนเสียงใดบ้าง และแต่ละฐานคะแนนมีผลต่อการสรรหาครั้งนี้อย่างไร ก็ต้องไปย้อนดูข้อมูลประชากรไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม หรือคนไทยมุสลิมในปัจจุบันว่า มีจำนวนเท่าไหร่ และมุสลิมเชื้อสายใด ที่มีบทบาทสำคัญต่อการคุมคะแนนสรรหาจุฬาราชมนตรีในแต่ละครั้ง

น่าแปลกที่จำนวนประชากรไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่มีแหล่งข้อมูลใดระบุได้ชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ มีเพียงข้อมูลประมาณการณ์ว่า น่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 2.2 ล้าน – 7 ล้านคน โดยร้อยละ 18 อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เหลือส่วนใหญ่กระจายอยู่ในทุกจังหวัดของภาคใต้ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหลายจังหวัดภาคเหนือ  มีเพียงบางส่วนที่กระจายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จุฬาราชมนตรี, เปอร์เซีย, มลายู, ปาทาน
Photo: ข้อมูลประชากรคนไทยมุสลิม

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมี มัสยิดกระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบทุกจังหวัดถึง 4,037 แห่ง มีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่มีมัสยิด คือ จังหวัดนครพนม, น่าน, ยโสธร, หนองคาย และอำนาจเจริญ 

ภาคที่มีจำนวนมัสยิดมากที่สุด อันเป็นที่มาที่ทำให้มีจำนวนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมากที่สุด คือ ภาคใต้ 

ภาคใต้มีจำนวนมัสยิด 3,423 แห่ง และมีจำนวนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่เป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนสรรหาจุฬาราชมนตรีถึง 377 คน

แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤศจิกายน จะมีสิทธิลงคะแนนได้เพียง 373 คน เนื่องจากมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตรัง 4 คนถูกคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทยถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังไม่มีการเลือกตั้งซ่อม

ภาคที่จำนวนมัสยิดมากเป็นอันดับสอง คือ ภาคกลาง

ภาคกลางมีมัสยิดจำนวน 343 แห่ง และมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 268 คน แต่ในปีนี้มีสิทธิลงคะแนนเพียง 263 คน เพราะมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกาญจนบุรีลาออก 5 คน และยังไม่มีการเลือกตั้งซ่อม

ลำดับที่สาม เป็นกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครมีจำนวนมัสยิด 187 แห่ง มีคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร 30 คน ปีนี้อยู่ครบ และมีสิทธิลงคะแนนทั้ง 30 คน

ลำดับที่สี่ เป็นภาคเหนือ

ภาคเหนือมีจำนวนมัสยิดทั้งหมด 51 แห่ง กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด มีเพียงจังหวัดน่าน จังหวัดเดียวที่ไม่มีมัสยิด มีจำนวนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 85 คน มีสิทธิลงคะแนนครบทั้ง 85 คน

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนมัสยิดน้อยที่สุด คือ 33 แห่ง และมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพียง 26 คน แต่ใน 26 คน มีสิทธิลงคะแนนเพียง 23 คนเท่านั้น เนื่องจากอีก 3 คนเป็นผู้หญิงซึ่งไม่มีสิทธิลงคะแนน

จุฬาราชมนตรี, เปอร์เซีย, มลายู, ปาทาน
Photo: จำนวนมัสยิดและผู้มีสิทธิออกคะแนนเสียงสรรหาจุฬาราชมนตรี

ข้อมูลจำนวนประชากรไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวนมัสยิด และจำนวนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หากวิเคราะห์เชิงปริมาณ ภาคใต้น่าจะได้เปรียบมากที่สุด เพราะมีฐานคะแนนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ลงคะแนนในปีนี้ได้ถึง 373 คน

รองลงมาคือ ฐานคะแนนกรุงเทพมหานครที่บวกภาคกลาง ที่รวมกันได้ 291 คน

ส่วนภาคเหนือ 85 คน และตะวันออกเฉียงเหนือ 23 คน  เป็นฐานคะแนนตัวแปรเท่านั้น

แต่การสรรหาจุฬาราชมนตรีในประเทศไทย จะวิเคราะห์เพียงจำนวนตัวเลขคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพียงอย่างเดียวไม่ได้

หากต้องเจาะลึกลงไปให้ชัดว่า มุสลิมไทยเชื้อสายใดที่คุมฐานคะแนนเสียง และมีบทบาทต่อการควบคุมเสียงคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้มากที่สุด

จุฬาราชมนตรี, เปอร์เซีย, มลายู, ปาทาน
Photo: มุสลิม 3 เชื้อสายที่มีอิทธิพลในประเทศไทย

คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ สืบเชื้อสายมาจาก 3 สายหลัก คือ เชื้อสายเปอร์เซีย เชื้อสายมลายู รวมทั้งสายสุลต่านสุลัยมาน ที่ท่านมีรากฐานมาจากประเทศอินโดนีเซีย และเชื้อสายปาทานที่เป็นสายใหม่

มุสลิมไทย เชื้อสายเปอร์เซีย เป็นสายที่มาจากตะวันออกกลาง และเข้ามาตั้งรกรากค้าขาย ตลอดจนรับราชการเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ตั้งยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์ ตระกูลหลักๆสายเปอร์เซีย คือ ตระกูลบุนนาค และปัจจุบันก็แตกกระจายออกเป็นหลายตระกูล คุณอารีย์, วงศ์อารยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย  ที่ปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย

จุฬาราชมนตรีในช่วงกรุงศรีอยุธยาและช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เป็นจุฬาราชมนตรีที่สืบเชื้อสายมาจากเปอร์เซียทั้งสิ้น นับจากจุฬาราชมนตรีท่านแรก คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก จนถึงท่านที่ 13 คือ พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)

สายที่สอง คือ มุสลิมไทย เชื้อสายมลายู และมุสลิมสายสุลต่านสุลัยมาน กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ปริมณฑลรอบกรุงเทพ

จุฬาราชมนตรีท่านที่ 14–17 คือ นายแช่ม พรหมยงค์, นายต่วน สุวรรณศาสน์, นายประเสริฐ มะหะหมัด และนายสวัสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ล้วนมาจากสายมลายู

มีเพียงจุฬาราชมนตรีท่านที่ 18 ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล ซึ่งเป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมาน หรือสายอินโดนีเซีย

ส่วนมุสลิมสายที่สาม และเป็นสายที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยไม่นานนัก คือ เชื้อสายปาทาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาในประเทศไทยภายหลังกลุ่มอื่น เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้แบ่งอินเดียออกเป็นประเทศอินเดีย ประเทศปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก ชาวปาทานจำนวนมากได้อพยพ เข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเวลานี้ และกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปาทานในประเทศไทย

ตระกูลสำคัญๆ ของมุสลิมเชื้อสายปาทาน คือ ตระกูลปาทาน

มุสลิมเชื้อสายปาทาน ยังไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

เมื่อวิเคราะห์ผ่านข้อมูลมุสลิมทั้ง 3 สายหลัก คือ เปอร์เซีย, มลายู, ชวา และปาทาน จะเห็นภาพว่า สายเปอร์เซียและมลายู น่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการสรรหาจุฬาราชมนตรีในครั้งนี้ โดยเฉพาะสายมลายูที่ช่วงหลังเข้ามายึดครองตำแหน่งจุฬาราชมนตรีมาโดยตลอด

นอกจากนั้นการสรรหาจุฬาราชมนตรี ที่จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งท่านจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 ท่านสวัสดิ์ สุมาลย์ศักดิ์  และท่านจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล ก็เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายู ต่างกันตรงที่ท่านอาศิสอาจจะเป็นมลายูที่มาจากเกาะชวา ตามเชื้อสายของท่านสุลตานสุลัยมาน

แต่ในความเป็นจริง มุสลิมสายที่มาแรงและมีบทบาทมากขึ้น คือ สายปาทาน เพราะเข้ามามีบทบาททั้งในภาคธุรกิจ ภาคการศาสนา ภาคการเมือง และข้าราชการระดับสูงในประเทศ

ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็สืบเชื้อสายมาจากปาทาน

พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา เขต 8 และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ก็เป็นมุสลิมเชื้อสายปาทานเช่นกัน

EP.3 จะมาลงลึกในรายละเอียดว่า ปาทานจะมีบทบาทอย่างไรต่อการสรรหาจุฬาราชมนตรีในครั้งนี้ และปาทานหนุนใครในการสรรหาจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 

และหากปาทานกับเปอร์เซียจับมือกัน พร้อมดึงฐานคะแนนบางส่วนจากสายมลายู

ภาพจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 จะปรากฏชัดทันที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์