ถือเป็นประวัติศาสตร์ ‘ทัพฟ้าไทย’ ที่เครื่องบินเครื่องบินขับไล่ F-35 A ของ ทอ.สหรัฐฯ บินเหนือน่านฟ้า และลงจอดที่ กองบิน 1 โคราช ในการฝึก Cope Tiger 2024 กองทัพอากาศ 3 ประเทศ ไทย-สหรัฐฯ-สิงคโปร์ ช่วง 18-29 มี.ค.67
สำหรับเครื่องบินขับไล่ F-35 A เป็นยุทโธปกรณ์ที่เป็น ‘ชั้นความลับสูงสุด’ ทางสหรัฐฯ จึงมีความเข้มงวดในการป้องกัน เพราะเครื่องที่นำมาฝึกครั้งนี้ เพราะมีการ ‘ติดตั้งระบบอาวุธ’ ต่างๆ และไม่ได้มีการปิดกั้นป้องกันอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากเครื่อง F-35 A ที่เคยจัดแสดงในงาน Singapore Airshow 2024 ช่วง ก.พ.67 ที่เป็น ‘เครื่องโชว์-ไม่มีติดอาวุธ’ รวมทั้งมีการปิดบังห้องบังคับ ทำให้สามารถบันทึกภาพโดยใกล้ได้


การฝึกผสม Cope Tiger เรียกว่ารวมพลเครื่องบินรบ ‘ตระกูล F’ โดย ทอ.สหรัฐฯ ได้นำ เครื่องบิน F-35 A จำนวน 8 เครื่อง เดินทางจากฐานทัพสหรัฐฯ ในรัฐอลาสก้า และเครื่องบิน F-16 CJ จำนวน 10 เครื่อง จากฐานทัพในเกาหลีใต้
ทอ.ไทย จัดเครื่องบิน F-16 MLU ที่ผ่านการอัปเดรดยืดอายุใช้งาน-เทคโนโลยีต่างๆ เครื่องบิน F-5 และเครื่อง Gripen C/D จากค่ายสวีเดน มาร่วมฝึก
ขณะที่ ทอ.สิงคโปร์ นำเครื่องบิน F-15 SG และ F-16 CD และเครื่องเรด้า G550 AEW มาร่วมฝึกในครั้งนี้ ทั้งนี้ ทอ.สิงคโปร์ อยู่ในระหว่างการจัดหาเครื่องบิน F-35 จากสหรัฐฯ 20 เครื่อง แยกเป็น เครื่อง F-35 B จำนวน 12 เครื่อง ที่จะทยอยเข้าประจำการปี 2026 และ แบ่งเป็น F-35 A จำนวน 8 เครื่อง รองรับการปลดประจำการเครื่องบิน F-16 CD ตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป


สำหรับ ทอ.ไทย ช่วงปี 2563 ต่อเนื่อง 2566 ในยุค พล.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ในขณะนั้น พยายามผลักดันโครงการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 A โดยได้ขออนุมัติงบ ‘ตั้งต้นโครงการ’ จากสภาฯ 369 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในระยะแรกเพื่อใช้เจรจากับสหรัฐฯ แต่สุดท้ายต้องยุติลงไป เพราะสภาของสหรัฐฯ ไม่อนุมัติขายให้ได้
ซึ่งในยุค พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ขณะเป็น ผบ.ทอ. โดยทางทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ พล.อ.อ.อลงกรณ์ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงเหตุผลการไม่อนุมัติ ว่า ขอชะลอการซื้อขายไปก่อนโดยให้เหตุผลถึงความพร้อมของ ทอ. ไทย ในเรื่องอาคารสถานที่ การรักษาความปลอดภัย เนื่องจากสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสาร เป็นอันดับแรก
ในปัจจุบัน เครื่องบินขับไล่ F-35 มีประจำการใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเครื่องบิน F-35 A มีมูลค่าประมาณ 85 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ/เครื่อง หรือประมาณ 2,950 ล้านบาท/เครื่อง


สำหรับคุณสมบัติ เครื่องบิน F-35 ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินล่องหน เพราะหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ได้ แม้หลายชาติ แสดงความต้องการซื้อ แต่ตัองได้รับการอนุมัติจากสภาของอเมริกา
การที่ ทอ.สหรัฐฯ นำเครื่องบิน F-35 A มาทำการฝึกและลงจอดที่ไทย ในแง่หนึ่งก็เป็นการ ‘ทอดไมตรี’ ถึง ทอ.ไทย แม้ ทอ.ไทย จะมีท่าทีชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดหา ‘เครื่องบิน Gripen E’ บริษัท SAAB สวีเดน ทดแทนเครื่องบิน F-16 Block 15 ที่ประจำการที่ ฝูงบิน 103 กองบิน 1 โคราช ที่เตรียมปลดประจำการปี 2571-75



หากเทียบ ‘ไทม์ไลน์’ ต่างๆ เครื่อง Gripen E จะตอบโจทย์ ทอ.ไทย ที่สุด ด้วยระยะเวลาการ ‘จัดหา-ฝึกอบรม’ 3-4 ปี ที่สอดรับกับแผนปลดประจำการปี 2571-75 ที่ ทอ. จะทำการเสนอของบรัฐบาล 19,000 ล้านบาท งบประมาณปี 2568
เพราะหากเป็นเครื่องบิน F-16 Block 70 จากสหรัฐฯ จะต้องรอคิว 7-10 ปี ถึงจะได้เครื่องลำแรก เพราะมีประเทศต่างๆ จัดหาก่อนแล้ว โดยมีคำสั่งซื้อกว่า 70-80 เครื่อง จากสถานการณ์ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะส่งผบต่อ ‘อัตรากำลังรบทางอากาศ’ ของไทยที่จะไม่เพียงพอ
ดังนั้นฝูงบิน 103 ในอนาคตจะเป็นฝูงบิน Gripen แห่งที่ 2 เหมือนกับ ฝูงบิน 701 กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี
ทว่า ทอ.ไทย ก็ยังไม่ทิ้ง ‘ค่ายสหรัฐฯ’ เพราะการที่เครื่องบิน F-35 A ที่มาฝึกในไทยครั้งนี้ อีกแง่ก็เป็นการ ‘เตรียมความพร้อม’ ให้กับไทยในอนาคต ตามแผน ‘สมุดปกขาว ทอ.’ ที่จะต้องจัดหา ‘เครื่องบินรบ’ ฝูงใหม่ ช่วงปี 2580-89 ที่เครื่อง F-16 D MLU ที่ผ่านการอัปเกรด ที่ ฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี จะปลดประจำการพอดี


ดังนั้นเท่ากับว่าในอนาคตอีกราว 10 กว่าปีข้างหน้า ทอ. ไทย จะมีแผนจัดหา ‘เครื่องบิน F-35A’ เพื่อทดแทน F-16 D MLU ที่มีการมองกันว่า เมื่อถึงขณะนั้นเครื่องบิน F-35 A ราคาจะถูกลง และมีเทคโนโลยีก็จะพัฒนามากขึ้น คล้ายกับเครื่อง F-16 ที่มีใช้กันหลายประเทศในขณะนี้
ที่สำคัญในการฝึก Cope Tiger ครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จาก ‘บริษัทล็อคฮีด มาร์ติน’ ผู้ผลิตเครื่องบิน F-35 A เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย