แซะฝ่ายรัฐใช้วาทกรรม ‘หนักแผ่นดิน’ นึกว่าอยู่ในยุครัฐประหาร

14 ก.พ. 2567 - 11:30

  • ‘ชัยธวัช’ บอกปฏิเสธไม่ได้เหตุป่วนขบวนเสด็จฯ เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง-ความคิด

  • เหน็บฝ่ายรัฐใช้วาทกรรม ‘หนักแผ่นดิน’ นึกว่ายังอยู่ในยุครัฐประหาร

could-not-deny-that-case-of-The-Royal-Motorcade-caused-by-conflicts-in-politics-SPACEBAR-Hero.jpg

หนึ่งในไฮไลท์การอภิปรายญัตติด่วนเพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จฯ ได้แก่ช่วงที่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายชี้ให้เห็นว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันหลายอย่าง 

ประการแรก คิดว่าเราเห็นตรงกันเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมือง หรือแม้แต่บุคคลสาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักปฏิบัติสากล

ประการที่สอง คิดว่าเราเห็นตรงกันว่า ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยในแง่ที่ว่า ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร

ประการที่สาม เราต่างเห็นตรงกันว่า เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์เหมือนวันที่ 4 ก.พ.เกิดขึ้นอีก

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ดีใจที่ได้ฟัง เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ยอมรับว่าตัวเองรู้สึกโกรธที่ได้ทราบเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้น ก็สามารถสงบสติอารมณ์ได้ ด้วยการนึกถึงพระราชดำรัสที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ ก็คิดหาหรือเสนอวิธี เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายนำไปสู่การปะทะขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้อย่างไร เป็นประเด็นที่เราต้องถกเถียงกันให้รอบด้าน ผมยังยืนยันว่า เวลาเราพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัยที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ. เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น

ชัยธวัช ตุลาธน

ชัยธวัช ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่กระทบต่อความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้าย ในหลวง ร. 9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เสด็จไปด้วย ในระหว่างที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ จ.ยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสัปดาห์ก่อนหน้านี้หลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จ และเกิดการวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์

นี่เป็นตัวอย่างว่า เหตุการณ์ในวันนั้น ถ้าจะแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้น ไม่สามารถที่จะพิจารณากฎหมายและแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัยเท่านั้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มันไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยหลายครั้ง จึงเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชัยธวัช กล่าวว่า เสียดายเหตุการณ์ในครั้งก็ใช้วิธีทางการเมืองจัดการเหมือนกัน แต่ผิดทางไปหน่อย เพราะหลังจากนั้นเกิดกลุ่มฝ่ายขวาคือกลุ่มกระทิงแดงพยายามใช้กรณีการลอบปลงพระชนม์ที่เกิดขึ้นที่ จ.ยะลา ปลุกปั่น กล่าวหาโจมตีว่ารัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ ว่าไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ และนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน กว่าประเทศจะฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตยได้ก็ใช้เวลาหลายปี  

ย้อนกลับมาสู่กรณีที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่ ตนก็ยังยืนยันว่า ทราบกันดีว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย อันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้านว่า เราจะจัดการบริหาร จัดการถวายความปลอดภัย และการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร แน่นอนวันนี้ คงไม่ใช่วาระที่เราจะมาพูดกันเรื่องการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยละเอียด

ผมคิดว่าอย่างน้อยประเด็นหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของคุณตะวัน ก็คือว่ามันต้องมีปัญหาอะไรอย่างแน่นอนที่รัฐไทยสามารถทำให้คนๆ หนึ่ง ที่เขาแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการถือกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วผลักให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่คนไทยจำนวนมาก ไม่คาดคิดว่าจะมีใครกล้าทำ มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง เมื่อประชาชนคนหนึ่งเขาอยากพูด แต่เราไม่อยากฟัง เพราะมันไม่น่าฟัง และไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน แล้วเราพยายามจะปิดปากเขา สุดท้ายเขาเลยเลือกที่จะตะโกน และนำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา นี่เป็นบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่ง ที่เราควรพิจารณาหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร

ชัยธวัช ตุลาธน

อย่างไรก็ตาม คิดว่าคนที่กำลังตะโกนอยู่ ด้วยความเคารพคนที่ตะโกน ก็ควรจะไตร่ตรองว่า วิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้นด้วย การตะโกนแล้วยิ่งไม่มีใครฟัง อาจเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน สุดท้ายไม่ว่าจะฝ่ายไหน คิดว่าเราไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ อย่าใช้น้ำมันดับไฟ

เหน็บใช้วาทกรรม ‘หนักแผ่นดิน’ นึกว่ายังอยู่ในยุครัฐประหาร - หวังรัฐใช้ ‘กุศโลบายทางการเมือง’ แก้ขัดแย้ง

ชัยธวัช กล่าวว่า ถ้าถามว่าวันนี้ เราจะเสนออะไรไปยังฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐบาล จากญัตตินี้ นอกจากการทบทวนกฎหมายระเบียบแบบแผนต่างๆ แล้ว คิดว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้ คือ กุศโลบายทางการเมือง ตนไม่สบายใจได้ยินสมาชิกฝั่งรัฐบาลพูดกันถึง “ถ้าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่น หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง”

นี่ผมยังนึกว่าเราอยู่ในรัฐบาลจากการรัฐประหาร ผมคิดว่าเราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่า การใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายไม่สามารถส่งผลดีกับใครเลย เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มาแล้ว มันสอนเราแล้วว่าสุดท้ายเราใช้กำลังใช้อาวุธร้ายแรงยิงเข้าไปสู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ฆ่าเขาตายกลางเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ตอกอก หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายเขาไม่มีทางเลือก และเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ ในป่า มันไม่ใช่ทางออก สุดท้ายเราก็ต้องแก้ปัญหาทางการเมืองนิรโทษกรรม เปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มันวนลูปอยู่แบบนี้

ชัยธวัช ตุลาธน

ชัยธวัช แสดงความหวังว่า รัฐบาลของเรา สส.ของเรา จะมีสติ และระงับความโกรธ อย่างที่เจ้าของญัตติได้เปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก และใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ แล้วเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน สามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยเราออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว เพื่อให้ประเทศของเรา มีสมาธิในการเดินหน้าไปเผชิญหน้ากับโลกที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ

Chada-blames-Rangsiman-in-the-meeting-of-the-House-of-Representatives-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘วิโรจน์’ ชี้รบกวนการอารักขาขบวนเสด็จฯ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ปิดปากไม่ให้ประชาชนพูดไม่ได้

ส่วนอีกหนึ่งรายจากพรรคก้าวไกล ที่อภิปรายได้น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ ที่ชี้ให้เห็นถึงการที่เราต้องยอมรับก่อนว่า การดูแลความปลอดภัยและการรักษาบุคคลสำคัญ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์นั้นอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นระหว่างสัญจรได้ 

รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการอารักขา และกระบวนการถวายอารักขาการเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นกระบวนการปกติ ดังนั้น การรบกวนกระบวนการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติ คงจะต้องยืนยันว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องตระหนักอยู่ในใจตนเองเสมอคือ การพยายามทำให้กระบวนการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าคนที่ต้องไปทำงาน คนที่ต้องไปพบแพทย์ หรือคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ เขาก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ไม่อาจรู้ด้วยซ้ำไปว่า ขบวนเสด็จอยู่ข้างหน้า คุณปิดปากประชาชนไม่ให้พูดไม่ได้ คุณจะบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกไม่ได้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

แนะทบทวน ‘พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัยฯ’ ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

วิโรจน์ ระบุว่า การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีสุด คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอารักขา ทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ การทบทวน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในมาตรา 5 โดยสภาฯ แห่งนี้ ควรจะเพิ่มเติมให้การปฏิบัติงานถวายความปลอดภัย คำนึงถึงประชาชน ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบที่มากเกินควร และมีการเตรียมแผนในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในกรณีที่จำเป็น จึงจะทำให้การถวายความปลอดภัยและการอารักขา มีประสิทธิภาพสอดรับกับยุคสมัย ไม่ส่งผลกับสถาบันฯ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรบกวนมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็จำเป็นต้องสะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ไม่มีความเกลียดชังใดๆ และยังเคารพในวิจารณญาณของผู้กระทำ ซึ่งอาจจะฟังบางส่วน หรือไม่ฟังเลย ตนก็น้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเช่นกัน คิดว่าคนที่ปรารถนาดีต่อกัน ต้องกล้าพูดในสิ่งที่มีเหตุมีผล แม้สิ่งที่พูด เป็นสิ่งที่บางคนอาจจะไม่อยากฟังก็ตาม แต่การสะท้อนให้อีกฝ่ายได้รับรู้ ได้ไตร่ตรองต่างหาก คือความปรารถนาดีที่แท้จริง

ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่น โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ ทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างจงรักภักดี ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันฯ ที่สุด

หากรัฐปล่อยให้กลุ่มคนที่นิยมความรุนแรงเหล่านี้ลอยนวล มีอำนาจบาตรใหญ่อ้างสถาบันฯ ไปทำร้ายคนอย่างไรก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันฯ เสื่อมเกียรติยศ ทำลายภาพลักษณ์คนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันสถิตอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและสถาบันฯ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เปรียบ ‘ใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้’ วอนเลิกกล่าวหาเลื่อนลอย ‘คนเบื้องหลัง’ กลุ่มป่วนขบวนเสด็จฯ จี้ตั้งคำถามพวกใช้ความรุนแรงบ้างว่า ‘ใครให้ท้าย’

วิโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรมคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันฯ ไม่ใช่แค่สภาฯ แต่ต้องเป็นเวทีสาธารณะด้วย เพื่อให้พูดถึงด้วยเจตนาสุจริตอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่มีการจับผิด หรือใช้กฎหมายกลั่นแกล้งรังแกกัน หากไม่มีพื้นที่ปลอดภัย และใช้ความรุนแรง ยิ่งแช่งชักหักกระดูก สร้างความเกลียดชัง ผลักคนเห็นต่างเป็นศัตรู ป้ายสีให้เขาเป็นภัยความมั่นคง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่พวกเราไม่สบายใจก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลจะปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เราใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งในโลกนี้ล้วนแก้ไขด้วยการพูดคุย ก็จะเข้าใจกัน และที่สุด ก็จะเกิดทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันด้วยสันติ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในหลายวงสนทนาเวลาที่เอ่ยถึงสถาบันฯ แม้จะเอ่ยด้วยความสุจริตก็ตาม ก็จะมีบางคนในวงสนทนามีอากับกริยาแบบนี้ (พร้อมทำปากมีเสียงออกจุ๊ๆ) สะท้อนว่าการพูดถึงสถาบันฯ กลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ยิ่งทำให้สถาบันฯ ห่างเหินจากประชาชนออกไป  บั่นทอนแรงยึดเหนี่ยวจิตของสถาบันฯ มีต่อประชาชนอย่างที่เคยเป็นมา

เลิกได้แล้วกับคำกล่าวหาเลื่อนลอยว่า มีคนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลัง คำกล่าวหาลักษณะนี้เป็นการดูถูกประชาชนอย่างสิ้นเชิง ทำไมไม่ตั้งคำถามกับกลุ่มที่ใช้รุนแรงบ้าง ทำคนมากี่คน กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้ อย่างนี้ต่างหากที่มีผู้สงสัยว่า ผู้มีอำนาจที่คอยให้ท้ายให้คนเหล่านี้ กระทำความรุนแรงโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ผมเชื่อว่าหลายคนที่ฟังผมอยู่ทางบ้าน บางคนไม่สบายใจและด่าทออยู่ในใจ ผมน้อมรับ แต่ถ้าฟังด้วยใจที่เป็นกลาง และคิดตามในสิ่งที่ผมจะพยายามสื่อสาร ก็จะทราบดีว่า ผมมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันฯ ละประสงค์ที่จะทำให้สถาบันฯ ทรงสถิตสถาพรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประชาชนตราบนิรันดร์

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

แนะรัฐเปิดพื้นที่ปลอดภัยพูดคุย ย้ำบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาค

วิโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนคนที่มีพฤติกรรมกล้านำสถาบันฯ มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายคนตามใจชอบ ถ้าเชื่อว่าพฤติกรรมของคนเหล่านี้เป็นคนดี ลองจินตนาการดู ถ้าคนดีเพิ่มขึ้นแบบนี้เป็นล้านๆ คนจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันฯ จากเดิมสถาบันเป็นศูนย์รวมของจิตใจของคนต่างชาติ ต้องถูกนำไปโยนใจกลางความขัดแย้งของประชาชนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วสถาบันฯ จะยั่งยืนสถาพรได้อย่างไร

การบังคับใช้กฎหมาย ฟังไว้ตรงนี้ ต้องมีความเสมอภาค ไม่ใช่เอากฎหมายไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่งจัดหนักจัดเต็ม แต่อีกฝ่ายรออยู่เหนือกฎหมาย การใช้กฎหมายแบบ 2 มาตรฐานที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ประชาชนรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นคือ พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่สถาบันแห่งนี้แต่รวมถึงเวทีสาธารณะทั่วไป

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์