‘เลขาฯ กฤษฎีกา’ บ่นโดนด่าเละ ปมตีความ ‘พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน’ ลั่นไม่ได้มีหน้าที่ฟันธงประเทศวิกฤตหรือไม่

21 พฤศจิกายน 2566 - 07:11

Council-of-State-not-their-job-to-decide-whether-the-country-is-in-crisis-or-not-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘เลขาฯ กฤษฎีกา’ บ่นโดนด่าเละ ปมตีความ ‘พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน’

  • ลั่นกระทรวงการคลัง ยังไม่ส่งเรื่องมาถามเลย

  • ย้ำเป็นนักกฎหมาย ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้มีหน้าที่ฟันธงประเทศวิกฤตหรือไม่

ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ถึงประเด็นการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งได้คำตอบจากทางรัฐมนตรีว่า กำลังดูอยู่

นอกจากนี้ ปกรณ์ อธิบายว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไข จะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย พร้อมย้ำว่า เป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเป็นการยกร่างกฏหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

เมื่อเช้าผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก

ปกรณ์ ยังปฏิเสธให้ความเห็นกรณีที่สภาพัฒน์ ระบุถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการให้ความเห็นว่าหาก ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตนเอง

คณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฏหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฏหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่า รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง ปกรณ์ กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนเองไม่รู้ ไม่สามารถตอบแทนได้ ส่วนเมื่อถามย้ำว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ ปกรณ์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย และไม่ใช่หน้าที่

ขอย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุนที่โต้เถียงกัน

ส่วนกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ารัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญนั้น ปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์