ชะตากรรม ‘พรรคก้าวไกล’ กลับมาอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยง ‘ถูกยุบพรรค’ อีกครั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ‘พิธา-ก้าวไกล’ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ปมเสนอแก้มาตรา 112 เพราะเรื่องนี้ได้กลายเป็น ‘สารตั้งต้น’ เปิดทางให้เข้าเงื่อนไขในการยื่นยุบพรรคการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
วันนี้ (1 ก.พ) ที่ กกต. จึงเกิดปรากฎการณ์ ‘ดาบสองพร้อมสะบั้นก้าวไกล’ นำโดย ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่เดินทางมายื่นเรื่องให้ กกต. พิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวานนี้ (31 ม.ค.) ว่า การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงถือว่าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 92 (1) และ (2) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เรื่องการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
-
(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ
-
(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

‘เรืองไกร’ ย้ำว่าสิ่งที่ทำวันนี้ เป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและตามพยานหลักฐาน ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หรือเอาความเห็นส่วนตัวมาร้องเกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบแน่ ส่วนพรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เคยหาเสียงเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เหมือนกัน ‘เรืองไกร’ บอกว่าตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหากมีน้ำหนักมากพอจะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป

อีกหนึ่งคนที่เดินทางมายื่นเรื่องให้ กกต. พิจารณายุบพรรคก้าวไกล คือ ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกษร’ ทนายความอิสระ ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ‘พิธาและพรรคก้าวไกล’ กรณีหาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ จนนำมาสู่การอ่านคำวินิจฉัยวานนี้
หนึ่งในหลักฐานที่ ‘ธีรยุทธ’ นำมายื่นยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 แผ่น มองว่า กกต. มีหน้าที่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่กังวลว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นชวนเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในอนาคต
โดยวันที่ 2 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. ‘ธีรยุทธ’ บอกว่าเขาจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรม พรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึง นายพิธา ด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง