นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ ‘รัฐบาลเสี่ยนิด’ มุ่งหน้าสู่อีสานตอนบน เพื่อประชุมครม. สัญจร นัดแรก ก็มีข่าวสารร้อยแปดพันเรื่องถูกเสนอผ่านสื่อ ตั้งแต่ปมค้างเติ่งจากเมืองหลวง สู่นโยบายฟื้นฟูและแก้ปัญหาปากท้องของท้องที่ แต่เรื่องที่ถูกจับตาอีกครั้งหนีไม่พ้นการให้สัมภาษณ์ประเด็น ‘กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ ซึ่งเที่ยวนี้มาจากปากของ ‘พวงเพ็ชร ชุนละเอียด’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ยืนยัน ว่าจะชงเข้าสู่การพิจารณา ครม. เพื่ออนุมัติงบประมาณกว่า 28 ล้านบาท เป็นค่าสำรวจและออกแบบการก่อสร้าง นำไปสู่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ความน่าสนใจรอบนี้มาจาก ‘ป้าแจ๋น - พวงเพ็ชร’ ที่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ขณะนี้จังหวัดเลยเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่หน้าหนาว ที่จะไปแค่ภูเรือหรือเชียงคาน
“ฉะนั้นจึงอยากให้มีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เรื่องนี้โครงการอนุมัติมา 20-30 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการดำเนินการสักที ในฐานะอดีต ส.ส.เลย อยากเห็นโครงการนี้ดำเนินไปเพื่อคนจังหวัดเลย”
โดยทุกอย่างเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ปี พ.ศ. 2565-2570 มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยกำหนดว่าภายในปี 2570 จังหวัดเลยจะต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 มีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี คิดเป็นรายได้รวมจำนวนเงิน 35,505.56 ล้านบาท
จริงๆ ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงมายาวนานติดต่อกันหลายทศวรรษ แต่ด้วยที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีฐานโปรเจกต์อยู่กลางป่า อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผนวกกับเสียงสะท้อนจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาความยั่งยืน จึงทำให้โครงการดังกล่าวถูก ‘ปัดฝุ่น - พับเก็บ’ อยู่โดยตลอด เหมือนๆ กับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มาพร้อมๆ กับหนาว หรือรัฐบาลใหม่ ที่มาพร้อมกับนโยบายการพัฒนา
“เรื่องกระเช้าลอยฟ้ามันมีมาให้เซอร์ไพรส์ทุกๆ ปี แต่สิ่งที่อยากให้ผู้คนตระหนัก คือ เรื่องความสำคัญเชิงนิเวศ อย่างภูกระดึงก็เป็นอุทยานฯ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ที่เราพบพรรณไม้สำคัญๆ หลายชนิดครั้งแรกในโลก อีกทั้งยังพอมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ แน่นอนว่านักอนุรักษ์ต้องห่วงทรัพยากรในพื้นที่มากเป็นธรรมดา”
เป็นคำพูดเของ ‘อรยุพา สังขะมาน’ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่บรรยายถึงความสำคัญเชิงพื้นที่ของ ‘ภูกระดึง’ กับ SPACEBAR เธอเล่าว่า โปรเจกต์การทำกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภู มีมาแต่นมนาน มีการพูดถึงทุกปี เคยถูกปัดฝุ่นมาแล้วในหลายรัฐบาล ทั้งยุค ‘รัฐบาลทักษิณ - ยิ่งลักษณ์’ หรือแม้กระทั่ง ‘รัฐบาลประยุทธ์’
ส่วนข้อกังวลที่ทำให้นักอนุรักษ์ต้องออกมาตั้งข้อสังเกต (ในทุกๆ ครั้งของการเสนอพิจารณา) มีอยู่ด้วยกันหลายประกาย
ความกังวลช่วงเวลาการก่อสร้าง ซึ่งอรยุพามองว่า แม้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมสมัยใหม่จะพัฒนาไปไกลแล้ว และอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง แต่ข้อยังกังขาหนีเรื่องการวางแผน - บริหารการจัดการคน เพราะช่วงระยะเวลาในการก่อสร้าง จะต้องมีที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ในพื้นที่อนุรักษ์จำนวนมาก อาทิ ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้าง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไป หากจัดการส่วนนี้ไม่ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่อนิเวศได้
ภูกระดึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ ถือเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศ และการปรากฏของพรรณไม้หลายชนิด ที่พบเป็นแห่งแรกของโลก อาทิ ‘เหง้าน้ำทิพย์’ (Aqapetes saxicola Craib) ‘กระดุมกระดึง’ (Eriocaulon kradungense Satake) และ ‘จุกนกยูง’ (Eriocaulon siames Moldenke) ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มสูง ว่าจะถูกคุกคามจากนักท่องเที่ยว ที่ไม่เคารพกฎกติกา และก้าวก่ายพื้นที่ธรรมชาติมากเกินไป
“พี่เคยขึ้นภูกระดึงไปสำรวจธรรมชาติ 3 ครั้ง และก็พยายามไปหาพรรณไม้พวกนี้ ก็เจอบ้างบางชนิด แต่อาจเพราะพื้นที่มันกว้างใหญ่เราเลยเห็นไม่หมด แต่ที่ก็ตั้งสมมุติฐานว่าส่วนหนึ่งที่ไม่เห็น มันอาจจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ บางทีมันก็เกิดคำถามในใจ ว่าพืชพวกนี้มันถูกเหยียบย้ำตายไปหมดแล้วหรือเปล่า ดังนั้นเราจึงกังวลเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการของระบบนิเวศด้วย”
การจำกัดนักท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์กังวล เพราะรายงานการศึกษาและความเป็นไปได้ (ฉบับเก่า) มีการเขียนระบุความสามารถในการรับรองนักท่องเที่ยวที่สูงมาก สวนทางกับการจำกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมหลายเท่า ซึ่งเป็นการยากต่อการดูแลผู้คนที่หลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้เสนอโครงการต้องมีแผนนำเสนอและการรองรับ ว่าธรรมชาติจะไม่ถูกเหยียบย่ำไปมากกว่าเดิม
เรื่องการจัดสรรพื้นที่ ซึ่งเดิมทีจุดท่องเที่ยวบนยอดภู ก็มีระยะที่ห่างกันพอสมควร นักอนุรักษ์จึงเกิดคำถามพ่วงว่า หากสร้างกระเช้าสำหรับขึ้น - ลงสำเร็จ จะแน่ใจได้อย่างไร ว่ารัฐหรือผู้สนับสนุนโครงการ จะไม่ใช้โอกาสในการขยายสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนสุดท้ายที่ตั้งข้อสังเกตคือ รายได้ที่เกิดขึ้นจริงๆ กับการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า จะตกถึงมือของประชาชนหรือชาวบ้านจริงๆ หรือเปล่า หรือจะตกอยู่แค่ในมือของนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้นการที่รัฐหยิบยกประเด็นปากท้องมากล่าวอ้าง ว่าจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวอาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะในอนาคตหากโครงการไร้ซึ่งการจัดการที่ดี ทรัพยากรถูกทำลายเสื่อมโทรมลง จะมีประชาชนคนไหนอยากมาเที่ยวภูกระดึง และเมื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่แบบนี้ จะกระทบกับแผนการจัดการธรรมชาติ ที่แต่ละปีจะต้องปิดอุทยานฯ เพื่อให้ทรัพยากรได้ฟื้นตัวด้วยหรือไม่
“แน่ใจหรือว่ามีกระเช้าแล้วจะจบ จะมีอย่างอื่นงอกตามมาอีกไหม เพราะคุณอ้างเสมอว่า มีคนป่วยมีคนแก่อยากขึ้นภู แล้วขึ้นไปแหล่งท่องเที่ยวแต่ละที่ก็ห่างกันเป็นกิโลฯ เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะสร้างอะไรเพิ่ม ต้องอย่าลืมนะคะ ว่าธรรมชาติมันสูญเสียแล้ว มันยากจะกลับคืนมา ฉะนั้นเราต้องไตร่ตรองดีๆ ว่าสุดท้ายแล้ว มันคุ้มค่ากับทุกมิติหรือไม่ อย่างที่บอกเราไม่ได้คัดค้านแบบหัวชนฝา แต่อยากร่วมตั้งข้อสังเกต ว่ามันพอจะมีวิธีการไหนบ้าง ในการบริหารจัดการให้ภูกระดึงยังอยู่ได้ในระยะยาว และไม่ถูกทำลายไปด้วยการพัฒนาที่รุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ”
อรยุพา สังขะมาน
ขณะที่ ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่เคยออกแถลงการณ์คัดค้านตอนปี 2559 ให้ความเห็นกับ SPACEBAR ว่า โครงการกระเช้าลอยฟ้า ไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรให้กับทรัพยกรธรรมชาติ และชาวบ้านที่ประกอบอาชีพในท้องถิ่นเลย แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ท่องเที่ยวเดินทางสะดวกมากขึ้น ผ่านการโดยสารกระเช้าขึ้นไปยอดภู ถือเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาล ต่อให้จะมีเทคโนโลยีทางวิศวกรรมดีเลิศแค่ไหน ก็ต้องกระทบกับธรรมชาติอย่างแน่นอน
ซึ่งตามปกติสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องมีการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพการท่องเที่ยวให้เหมาะสม อย่างภูกระดึงเอง ที่แม้จะมีพื้นที่มหาศาล แต่ก็ไม่สามารถปล่อยปละละเลยเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวได้
“วันนี้คนก็แห่ขึ้นไปมากมายอยู่แล้ว ถ้ามีกระเช้าทุกคนก็อยากขึ้นไปหมด ซึ่งยอดภูอาจไม่สามารถรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้ แต่ละคนก็ไม่ได้ไปตัวเปล่า แต่หิ้วความมักง่ายเข้าไปด้วย การจัดการขยะมหาศาลจะต้องทำอย่างไร ? แล้วจะใช้วิธีไหนในการจำกัดกับสิ่งเหล่านี้ไม่ให้กระทบกับธรรมชาติ”
ศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันการขึ้นภูกระดึงที่ยากเย็นแสนเข็ญ ถือเป็นการช่วยคัดกรองคุณภาพของนักท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง เพราะบุคคลที่เลือกจะเดินทางไปพิชิตยอดเขา คือผู้ที่สนใจธรรมชาติ และส่วนมากให้ความสำคัญเรื่องขยะ อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพ ‘ลูกหาบ’ มีรายได้ด้วย
หากรัฐใช้ข้ออ้างเรื่องปากท้อง ก็ควรโฟกัสไปที่ระบบการจัดการที่ตีนภู อาทิ การส่งเสริมร้านค้าท้องถิ่น หรือหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐบาลก็พูดอยู่แล้ว (มิใช่หรือ) ในเรื่องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ท้องถิ่น
ทั้งนี้ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ฝากถึงรัฐบาลว่า อย่าตามใจนักการเมืองท้องถิ่นจนเกินเหตุ เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลประโยชน์อื่นทับซ้อนหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่แบบนี้ และหากย้อนดูอดีตจริงๆ โครงการกระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง ก็ถูกผลักดันมาตั้งแต่ ‘รัฐบาลทักษิณ’ และถูกพลิกฟื้นมาโดยตลอด ประชาชนก็ควรตั้งคำถามกับรัฐว่า เข้ามาหาผลประโยชน์จากธรรมชาติหรือไม่ ?
“เวลาภูกระดึงมีไฟป่า ผมไม่เห็นนักการเมืองพวกนี้กระโดดเข้ามาช่วยเลย และเมื่อพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาลแล้วกลับมาหยิบยกโครงการนี้เข้ามาพิจารณาอีกรอบ ผมว่ามันจะกลายเป็นเผือกร้อนและจะถูกถล่มมากขึ้นๆ ดังนั้นต้องต้องคิดให้รอบด้าน ไม่ใช่จะผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปอย่างเดียว ฉะนั้นการรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติของภูกระดึง ยังคงเป็นเพชรเม็ดงามให้กับจังหวัดเลย มันจะยั่งยืนกว่าหรือไม่ หากเทียบกับความละโมบโลภมาก ในการหานักท่องเที่ยวเข้าไปเยอะๆ”
ศรีสุวรรณ จรรยา
เป็นดั่งคำที่เขาว่าไว้ 'การอนุรักษ์ไม่มีวันสิ้นสุด' มักมีความท้าทายบทใหม่เพิ่มเข้ามาเสมอ เหมือน 'โครงการกระเช้าไฟฟ้า' ณ 'ภูกระดึง' ต่อให้ถูก 'พับเก็บ' และ 'ปัดฝุ่น' มาแล้วอีกกี่ครั้ง ก็ต้องแสวงหาข้อยุติ อันจะนำไปสู่ 'ความยั่งยืนที่แท้จริง' ต่อไป
แต่ดูแล้วหากวางแผนไม่ดี 'พาหนะ' จะกลายเป็น 'หายนะ' เอาได้นะครับท่านผู้เจริญ...