สว.ประสานเสียง! จวก ‘ก๊วนสีน้ำเงิน’ ปมบล็อกโหวต

6 ส.ค. 2567 - 04:47

  • ‘สว.พันธุ์ใหม่-อิสระ’ ประสานเสียง! ฉะ ‘ก๊วนสีน้ำเงิน’ บล็อกโหวต

  • ดักคอกระเหี้ยนกระหือรือควบคุม ‘องค์กรอิสระ’ ไว้ในกำมือ เพราะมีเหตุผลแอบแฝง

  • ซัดพฤติกรรมน่ารังเกียจ ขอ ‘ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง’ เพลาลงหน่อย

Criticize-the-case-Blue-Group-Senators-block-voting-SPACEBAR-Hero.jpg

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณี ‘วอล์คเอ้าท์ (walk out)’ จากที่ประชุมวุฒิสภา วานนี้ (5 ส.ค.) ว่า เนื่องจาก ‘สว.บ้านใหญ่’ มีการลากไปทั้งสองวาระ ทั้งเรื่องการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติของผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดและประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีคำสั่งจาก ‘บ้านใหญ่’ หรือไม่ และสงสัยมานานว่า ทำไมถึงกระเหี้ยนกระหือรือมาก ในการควบคุมองค์กรอิสระไว้ในกำมือ มีเหตุผลอะไรแอบแฝงหรือไม่

ได้ยินข่าวว่า มีคดีอยู่จำนวนมาก ที่ต้องการการเอื้อเฟื้อจากองค์กรอิสระ ดังนั้น พฤติกรรมทางการเมืองเมื่อวานนี้เกิดขึ้นอย่างน่ารังเกียจ และผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเช่นนี้ตลอดไป เพราะจะบั่นทอนความเชื่อถือของวุฒิสภา ในภาพรวม ซึ่งเราส่วนหนึ่งของ สว.จะไม่ยอมให้ใครมาใช้ สว.เพื่อกระทำชำเราแบบนี้อีกต่อไป โดยเหตุการณ์วานนี้สะท้อนว่า ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ

นพ.เปรมศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า ในการลงคะแนน แม้แต่เรื่องเล็กน้อย อย่างการกำหนดวันประชุม ก็ยังลงคะแนนกันอย่างท่วมท้นแบบ ‘บล็อกโหวต’ และสุดท้าย ก็มาบล็อกโหวตเรื่องการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบองค์กรอิสระ ซึ่งถือว่า เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจในระบอบประชาธิปไตย

ขอให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ออกใบสั่งมาครั้งแล้วครั้งเล่า ได้เพลาลงหน่อย ก่อนที่ประชาชนจะรู้ทัน และท่านอาจจะประสบปัญหาอย่างที่ไม่เคยคาดคิด

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ

Criticize-the-case-Blue-Group-Senators-block-voting-SPACEBAR-Photo03.jpg

ขวางสุดลิ่ม! ไม่เอา ‘งบเพิ่มเติมปี 67’ หนุน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

ส่วนการประชุม สว.วันนี้ มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่อยากคาดว่า จะมีการบล็อกโหวตอีก 

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายเรือธงของพรรคแกนนำรัฐบาล แต่น่าจะเป็นคนละส่วนกับที่ควบคุม สว. จึงอยากให้ สว.กลุ่มสังกัดบ้านใหญ่ นั้นเป็นอิสระ โดยคิดถึงหนี้สินของลูกหลานในอนาคตจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

คิดว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างเอาเปรียบประชาชน ถ้าคิดจะแจกเงิน ก็น่าจะเอาเงินส่วนตัวมา แต่นี่เป็นการเอาเงินของหลวงมาและยังมีวิธีการที่ยอกย้อน โดยมีค่าแปลงเงินสดมาเป็นเงินดิจิทัลและแปลงกลับมาเป็นเงินสดอีก จึงตั้งข้อสังเกตว่า เงินส่วนต่างนี้จะเข้ากระเป๋าของใคร ที่สำคัญ ยังมีเรื่องของแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ที่ดีอยู่แล้ว แต่กลับมาใช้แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งผมมองว่าจะเป็น ‘ทางลัด’ นำเงินมาสู่กระเป๋าของผู้กุมนโยบาย ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ฉบับนี้

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ

Criticize-the-case-Blue-Group-Senators-block-voting-SPACEBAR-Photo02.jpg

จำเป็นต้องอารยะขัดขืน ‘วอล์คเอ้าท์’ เหตุไม่ได้รับส่วนแบ่งร่วมเป็น กมธ.ตรวจสอบกรรมการองค์กรอิสระ

ทางด้าน นันทนา นันทวโรภาส แกนนำ สว.พันธุ์ใหม่ ชี้ให้เห็นว่า อำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด ถือเป็นกล่องดวงใจ ของการขับเคลื่อนประเทศก็ว่าได้ ดังนั้น กรรมาธิการที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจพิจารณาและสอบประวัติความเป็นมาของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ จะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มข้น และตรวจสอบอย่างรอบด้าน

ที่ผ่านมา เราไม่เคยรู้เลยว่ามีการตรวจสอบอย่างไร เพราะเป็นการประชุมลับมาโดยตลอด ดังนั้น คนที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งใน 15 ของกรรมาธิการฯ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการที่จะเข้าไปคัดเลือกบุคคล เพื่อให้วุฒิสภาลงมติรับรอง เราจึงเห็นว่า กรรมาธิการชุดนี้มีความสำคัญสูงสุดสูงกว่ากรรมาธิการใด ๆ และโดยเฉพาะหน้านี้คือ กรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมา จะต้องตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก

แต่สุดท้ายก็พบว่า เราไม่ได้รับส่วนแบ่งที่จะเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการตรงนี้เลย โดยมีการนำเสนอขึ้นมาทั้ง 15 คน นั่นหมายความว่า การลงมติจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนกับที่เราได้ทราบมาโดยตลอด ที่คะแนนจะอยู่ที่ประมาณ 140-150 คะแนนขึ้นไป ดังนั้น ตรงนี้เราจึงต้องแสดงอารยะขัดขืน เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเราไม่ได้มีโอกาสเข้าไปรับรู้การตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ นั่นก็คือต่อไปนี้ การคัดเลือกองค์กรอิสระ ก็จะไม่อิสระอีกต่อไป เราจึงอารยะขัดขืนด้วยการ วอล์คเอ้าท์ (walk out) ออกมาห้องประชุม

นันทนา นันทวโรภาส

วอน ‘สื่อฯ-ประชาน’ ร่วมจับตา

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังสื่อมวลชน ถึงการรายงานในเรื่องของการประชุมวุฒิสภา และเชิญชวนประชาชนติดตามการประชุมวุฒิสภา อย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่ม สว.ที่เข้ามาทำงานอย่างอิสระ ตรวจสอบอย่างเต็มที่ และสิ่งเดียวที่เราสามารถที่จะรายงานตรงไปยังประชาชนได้ คือการอภิปรายในสภา จึงยืนยันวุฒิสภายุคใหม่จะไม่เงียบ และจะรายงานในสิ่งที่ทำได้

สิ่งที่เราทำไม่ได้ เช่น เมื่อวานนี้ เราทำไม่สำเร็จ และไม่สามารถเข้าไปเป็นกรรมาธิการตรวจสอบในองค์กรอิสระได้เลย ก็ขอให้ประชาชนติดตามด้วย

นันทนา นันทวโรภาส

Criticize-the-case-Blue-Group-Senators-block-voting-SPACEBAR-Photo01.jpg

เปิดเบื้องหลัง! ศึกแย่ง กมธ.สอบประวัติ ‘อัยการสูงสุด’

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ซึ่งพบว่า มีความขัดแย้งกันระหว่าง ‘สว.สายสีน้ำเงิน’ ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของที่ประชุม กับกลุ่ม ‘สว.พันธุ์ใหม่’ และ ‘สว.กลุ่มสีขาว’ ที่เป็นเสียงข้างน้อย ที่ต้องการให้คนของกลุ่มตนเองเข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าว จนทำให้ต้องมีการลงมติเป็นการตัดสิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิรัตน์ อยู่ภักดี สว. เสนอรายชื่อ กมธ. 15 คน ซึ่งพบว่าเป็นรายชื่อที่อยู่ในกลุ่ม ‘สว.สายสีน้ำเงิน’ ทั้งหมด

ขณะที่ นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. เสนอรายชื่อกลุ่ม ‘สว.พันธุ์ใหม่’ 10 คน เพื่อแข่งขันกัน นอกจากนั้น ยังพบ ‘สว.สายอิสระ’ เสนอบุคคลที่ตนเองสนับสนุนเข้าแข่งขัน รวมมี สว.ที่เสนอชื่อทั้งสิ้น 33 คน

ภายหลังการลงมติแล้วเสร็จ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ได้ประกาศผลคะแนน โดยพบว่า สว. 14  คน ในกลุ่ม ‘สว.สายสีน้ำเงิน’ ผ่านการคัดเลือก โดยมีคะแนนโหวตระดับ 134-142 คะแนน ประกอบด้วย

  1. กมล รอดคล้าย ได้ 142 คะแนน
  2. พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร ได้ 142 คะแนน
  3. นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ได้ 140 คะแนน
  4. พลตำรวจโท บุญจันทร์ นวลสาย ได้ 142 คะแนน
  5. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ได้ 140 คะแน
  6. พลตำรวจโท ยุทธนา ไทยภักดี ได้ 144 คะแนน
  7. วร หินดี ได้ 137 คะแนน
  8. วิรัตน์ รักษ์พันธ์ ได้ 140 คะแนน
  9. วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ได้ 138 คะแนน
  10. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ได้ 138 คะแนน
  11. พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา ได้ 144 คะแนน
  12. อภิชาติ งามกมล ได้ 137 คะแนน
  13. อลงกต วรกี ได้ 139 คะแนน
  14. เอนก วีระพจนานันท์ ได้ 134 คะแนน

ขณะที่ พล.ต.ต.สุนทร ขวัญเพ็ชร สว. (สายสีน้ำเงิน) ที่ถูกเสนอชื่อมานั้น ได้รับคะแนน 36 คะแนน ไม่ผ่านคัดเลือก

ทั้งนี้ กมธ.ที่ได้คะแนนรับเลือกอีก 1 คน คือ สุนทร เชาว์กิจค้า สว.กลุ่มเสียงข้างน้อย ได้รับเลือกด้วยคะแนน 109 คะแนน

จากผลการลงคะแนนดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการลงคะแนนให้ผิดไปจากโผ เนื่องจากมีชื่อ ‘สุนทร’ ซ้ำกัน 2 ชื่อ ทำให้ สว.สับสน

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า นี่ไม่ใช่เป็นการกาคะแนนผิดคน หรือ ‘ผิดโผ’ เนื่องจากได้คุยกันแล้วในกลุ่มว่า จะให้โควตาของ สว.เสียงข้างน้อย 1 คน เพื่อให้เกิดการประนีประนอมและผสมผสาน กลมกลืนกัน ซึ่งในรอบต่อไปอาจจะเพิ่มจำนวนให้

ส่วนเหตุต้องเลือกชื่อ ‘สุนทร’ ทั้งที่ สว.อิสระ เสนอมา 10 ชื่อนั้น แหล่งข่าว อ้างว่า “เป็นเรื่องที่พูดคุยกัน แล้วบอกให้ลงคะแนนแบบนี้ ดังนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่กาผิด เพราะได้มีการระบุชัดเจนว่าให้เลือก สุนทร เชาว์กิจการค้า”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์