ปรากฏการณ์ 'เกาหลีใต้' บทเรียนสะท้อน ‘ไทย’ เรื่อง 'หัวใจประชาธิปไตย'

4 ธ.ค. 2567 - 14:19

  • สังเคราะห์ปรากฏการณ์ 'ยุน ซอก - ยอล' ประกาศกฎอัยการศึก - ความเคลื่อนไหวของ สส.และประชาชน ‘ต้านรัฐประหารครึ่งใบ’ เทียบมุม ‘พลเมืองไทย’ ควรมองอย่างไรกับสถานการณ์ ‘โสมขาว’

Democracy-The-Difference-Between-Thailand-and-South-Korea-SPACEBAR-Hero.jpg

ปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของ 'เกาหลีใต้' เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดี 'ยุน ซุก - ยอล' จากพรรคประชาชน (PEOPLE POWER PARTY )ได้ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเพื่อขัดขวาง 'กองกำลังต่อต้านรัฐ' จากฝ่ายตรงข้ามในประเทศ (พรรคการเมืองฝ่ายค้าน)  

โดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้เผยแพร่สาระสำคัญของกฎอัยการศึกเป็นภาษาไทย โดยมี 7 ข้อบังคับสำคัญ อาทิ การห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง การให้สื่อมวลชนอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ และห้ามก่อวินาศกรรม  

เวลาต่อมา 'อี แจ-มยอง' ผู้นำพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) และสส.ฝ่ายค้าน ได้ออกมาประณามการกระทำของ เรียกร้องให้ สส. ออกมาโหวตคว่ำกฎอัยการศึกครั้งนี้ พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนมารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา

จนแล้วจนรอด สส. (พรรคฝ่ายค้าน) จำนวน 190 คน  (จากสส.ในสภาฯ ทั้งหมด 300 คน) สามารถเข้ารัฐสภาได้สำเร็จ ทำให้การโหวตยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยมติเอกฉันท์ ด้วยผล 190 : 0 เสียง 

ปรากฏการณ์นี้ หากถอดจะพบมิติที่ลึกซึ้ง ไปจนถึงการสะท้อนภาพทางสังคมและการเมือง เป็นสถานการณ์ที่สร้างบทเรียนให้กับ ประชาคมโลกเสรีได้อย่างน่าสนใจ 

โดยเฉพาะสิ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับนานาชาติ มาจากการที่เกาหลีใต้ ไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกมาแล้ว 44 ปี (ตั้งแต่หมดยุครัฐบาลทหาร) จึงทำให้ประชาชนกระทำตนขัดขืน คำสั่งรวบอำนาจ หรืออีกนัยคือ 'การรัฐประหารครึ่งใบ'

การดีไซน์กฎหมาย ให้ยึดโยงประชาชน ทำให้การรวบอำนาจ (ในเกาหลี) ทำได้ยาก

"ถ้ากล่าวเปรียบกับเมืองไทย เราคุ้นเคยดีอยู่แล้วการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่นัยของเกาหลีมันมีที่มาว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานาธิบดี สามารถประกาศใช้ได้ ถ้ามีเหตุอันควร แต่สำหรับการพูดให้ร้ายพรรคฝ่ายค้าน ว่ามีการแทรกแซงเพื่อบ่อนทำลายรัฐจากเกาหลีเหนือ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น จึงทำให้ประชาชนต้องออกมาแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้"

'ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน' ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงการตัดสินใจของ 'ประธานาธิบดียุน' มาจากการชิงความได้เปรียบทางการเมือง จากพรรคฝ่ายค้าน 

สืบเนื่องมาจาก หลังการเลือกตั้งและได้รับตำแหน่งผู้นำประเทศ 'ยุน' ต้องประสบกับปัญหาทางการเมือง แม้จะเป็นผู้นำในฝ่ายบริหาร แต่ในฝ่ายนิติบัญญัติพรรคพลังประชาชน (ที่เขาสังกัด) มีจำนวนสส.น้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายสำคัญที่มีผลต่อนโยบายและกระบวนการของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.งบประมาณ (ที่ถูกตีตกในการโหวตของสภาฯ ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน) การบริหารของจึงเป็นไปได้ยากเพราะไม่มีทรัพยากรเงิน มาสนับสนุนหน่วยงาน - องค์กร  

ผนวกกับการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น มีการตรวจสอบรัฐบาลในทุกๆ มิติ อาทิ เรื่องครหารับสินบนของ 'ภรรยาประธานาธิบดี' รวมถึงการทำหน้าที่ของอัยการรุ่นน้อง ที่ถูกสอยร่วงเพราะเข้ามาช่วยรัฐบาล มองในเชิงอำนาจถือเป็นทางตัน ความจำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึก อย่างมีนัยแอบแฝงอยู่ เพราะรัฐสภายังคงมีอำนาจในการพิจารณา การประกาศประธานาธิบดีอยู่ ตามที่รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้บัญญัติไว้ 

"เขาประกาศกฎอัยการศึกตอน 21.00น. ของเกาหลีใต้ ทั้งที่รู้ว่าย่อมถูกโหวตคว่ำในรัฐสภา นัยสำคัญทางรัฐศาสตร์ คือการประกาศตอนกลางคืน เพราะรู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างต้องยุติลงจากเสียงของ สส. ดังนั้นจึงถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนพรรคฝ่ายค้าน ว่าอย่าเล่นการเมืองให้มาก มันบริหารประเทศไม่ได้ และอาวุธเดี่ยวที่มีอยู่ก็คือการใช้กฎอัยการศึก"

ไพบูลย์ เชื่อว่า ประธานาธิบดียุน ตั้งใจจะประกาศและยกเลิกให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบจนเกิดความสูญเสีย ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งระดับมวลชนสนับสนุน และมุมมองจากต่างชาติ

แต่เมื่อเลือกเดินทางนี้ ยุน ชุก ยอล ยอมมีราคาที่ต้องจ่าย โดยเฉพาะฐานเสียงเดิม ที่แม้นจะสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ธรรมชาติของคนเกาหลีใต้ ที่เคยรับบทเรียนจากเผด็จการทหารมาแล้ว ย่อมไม่เห็นพร้องด้วย  

ในมุมมองของ ไพบูลย์ เรื่องนี้น่าสนใจในแง่ของการหยิบยกมาเป็นบทเรียนให้กับพลเมืองประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีการเมืองเข้มแข็ง มีข้อดีคือการแบ่งอำนาจขัดเจน ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทุกส่วนมีเอกภาพอย่างเห็นได้ชัด และต้องยอมรับว่ากฎหมายสูงสุดของเขามีการออกแบบโดยยึดโยงกับประชาชน  

ดังนั้น การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ อาจไม่ถึงขั้นทำลายประชาธิปไตย เพราะ สส. ไม่ได้เสียสถานะ กลับกันยังสามารถทำหน้าที่ในรัฐสภา สกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวบอำนาจได้ ขณะเดียวกันในประเทศไทย หากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่ละครั้ง สส. อาจไม่ได้ทำหน้าที่ ก็เปรียบเสมือนกับการก้าวเข้าสู่ 'การรัฐประหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง'

"การดีไซน์รัฐธรรมนูญของเขาต่างกับไทย ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ของไทยหลายครั้งเรามักเห็นการใช้กฎหมาย ไปปรับให้เข้ากับการกระทำ อย่างการฉีกแล้วเขียนใหม่แต่ละครั้ง มักกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มอำนาจ (ผู้ก่อการ) มันมาจากพื้นฐานเจตจำนงค์ที่ต่างกัน หรือแม้แต่การเลือกตั้งเสร็จสิ้น เราก็รู้สึกเราหมดอำนาจทุกอย่างแล้ว ของเกาหลีใต้ไม่ใช่แบบนั้น ถ้าคุณบริหารไม่ดี มันยังมีอีกหลายกลไกที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการถอดถอนคุณอยู่"

ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย

บริบาททางการเมือง 'ไทย - เกาหลีใต้' เหมือนและแตกต่าง ?

ขณะที่ 'รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมสอดคล้องกับ 'ไพบูลย์' ว่าที่มาความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองเกาหลีใต้ เป็นเพราะผ่านการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมายาวนาน พอๆ กับขบวนการเคลื่อนไหวของไทย แต่บริบทอาจมีความแตกต่างอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่อง 'การถอดบทเรียน'

ที่คนไทยมีลักษณะ 'เจ็บแล้วไม่จำ' มีโศกนาฏกรรมทางการเมืองมากมาย สุดท้ายก็จบลงที่การรัฐประหาร - ฉีกรัฐธรรมนูญ  

แต่ก็ต้องยอมรับว่า 'ยุน ซอก - ยอก' ก็เป็นภาพตัวแทนของ 'นักการเมือง' ที่พ่ายแพ้ในระบบการเลือกตั้ง จึงกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาฯ ซึ่งโดยมารยาท หากไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญ อย่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้ จะต้องลาออกจากการเป็นผู้นำประเทศ แต่กลับเลือกใช้เครื่องมืออย่างการประกาศกฎอัยการศึก จนส่งผลให้อนาคตทางการเมืองต่อจากนี้ริบหรี่

"เขามีทางเลือกตั้งเยอะ แต่เมื่ออยู่ในฐานะผู้นำแล้วเชื่อคำยุยงให้ใช้อำนาจที่มีอยู่ มันจึงเห็นได้ว่า แม้ประเทศที่มีพัฒนาการทางการเมืองที่ไปไกล คนที่ยังมีความคิดล้าหลังยังมีอยู่ ขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่าคนเกาหลีมีความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทั้งผู้นำฝ่ายค้านและประชาชนร่วมแสดงความไม่ยอมกับอำนาจรัฐ แม้จะมีการปะทะกันบ้างก็เป็นลักษณะที่ไม่รุนแรง เพราะทหารก็ทำตามคำสั่ง ไม่ได้เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎอัยการศึก มันจึงจบสวยด้วยการโหวตในรัฐสภา"

ปิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในมิติที่เกิดขึ้นจะทำให้พลวัตรทางสังคมประชาธิปไตยในไทยเบ่งบานด้วยหรือไม่ 'ปิติ' มีมุมมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้และในประเทศไทยต่างกัน ตั้งแต่ระบอบประชาธิปไตยที่ของไทยเป็นระบอบรัฐสภา ของเกาหลีใต้เป็นระบบสาธารณรัฐ จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้ตั้งแต่ต้น แต่ก็นำไปสู่ประชาธิปไตยได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ชัดเจน คือ การมีส่วนร่วมกับระบอบการปกครอง (ประชาธิปไตย) ที่พลเมืองเกาหลีใต้ให้ความสำคัญ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และสิ่งจับต้องได้  

ทว่า คนไทยเองกลับไม่เข้าใจหรือเท่าทัน 'การเมือง - นักการเมือง' พอที่ทำการเมืองแบบมีส่วนร่วมแบบเกาหลีใต้ได้ เนื่องจากการเมืองไทย ไม่มีซ้ายจริงหรือขวา ไม่มีขาวไม่มีดำ นักการเมืองทำทุกอย่างเพื่อลุแก่อำนาจ ทุกนโยบาย หรือการเคลื่อนไหวทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือนายทุนพรรค

"ถ้าจะดูตัวอย่างจากเกาหลีใต้ เขามีประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม คนของเขารู้สึกถึงความจำเป็นต่อการรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ ไม่เว้นแม้แต่ฐานเสียงของยุน ซอก - จอง ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการประกาศครั้งนี้ แต่อย่างไทยสิ่งแบบนี้มันหายไปหลังจากที่มันเคยมีในยุคเดือนตุลาฯ - พฤษภาฯ ทมิฬ นู้น"

ปิติ กล่าวทิ้งท้าย

นี่คือสังคม 'เกาหลีใต้' ที่กระบวนการประชาธิปไตย ผ่านร้อนผ่านหนาวมา มาพร้อมๆ กับเรา แต่เขากลับไม่ย้อนคืนสู่วงจรเดิมๆ...แล้วเราล่ะพร้อมหรือยัง หากวันหน้า สถานการณ์บ้านเมืองต้องประสบแบบที่พวกเขาเจอในวันนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์