หนึ่งในประเด็นร้อนเดือนสิงหาคมนี้ ที่สังคมกำลังจับตากันนั่นก็คือกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2567 นั้นจะถึงคิว ‘พ้นโทษ’ และได้รับ ‘ใบบริสุทธิ์’ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงยุติธรรมระบุว่า อดีตนายกฯ จะได้รับการพ้นโทษในวันที่ 22 ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เปิดเผยรายละเอียดเรื่องการครบกำหนดพ้นโทษของ ‘ทักษิณ’ ว่า อดีตนายกฯ ได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเพียง 1 ปี เเละเมื่อนับไป 365 วัน จึงตรงกับวันเสาร์ที่ 31 ส.ค. 2567
(ทั้งนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี ประกาศ ณ วันที่ 1 ก.ย. 2566)
ส่วนกระบวนการปล่อยตัวอดีตนายกฯ ขณะนี้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้มีการโอนเรื่องไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี เนื่องจากสถานที่พักโทษ (บ้านจันทร์ส่องหล้า) อยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
ดังนั้น เรื่อง ‘ใบบริสุทธิ์’ จะถูกออกให้โดย ผบ.เรือนจำพิเศษธนบุรี และจะต้องได้รับการประสานงานจากกรมคุมประพฤติเรียบร้อยก่อน
โดยปกติแล้ว ทางผู้ต้องราชทัณฑ์จะเป็นผู้เดินทางไปรับใบบริสุทธิ์ ที่เรือนจำฯ เพราะจะต้องมีการลงนามรับรองชื่อนามสกุลของตัวเอง อย่างไรก็ตาม สามารถมีเหตุในการละเว้นได้ หากผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางไปยังเรือนจำฯ เช่น ป่วยติดเตียง ป่วยวิกฤติ ก็สามารถยืดหยุ่นได้ โดยที่ผู้ต้องขังเซ็นมอบอำนาจให้บุคคลใกล้ชิด เดินทางไปรับเอกสารใบบริสุทธิ์กับเรือนจำแทน ซึ่งการยืดหยุ่นนี้ ก็ถือเป็นการให้บริการประชาชน เราคงจะไม่ถึงขนาดให้ผู้ป่วยต้องถูกเข็นเตียง หรือมีลักษณะทางกายไม่พร้อมแต่ต้องออกมารับเอกสาร เราจะไม่ทำเด็ดขาด

ส่วนในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ตรงกับวันเสาร์ ทางหน่วยงานราชการ หรือเรือนจำพิเศษธนบุรี จะสามารถเปิดให้บริการออกใบบริสุทธิ์ แก่ผู้ต้องขังได้ด้วยหรือไม่นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นวันใด ทางราชทัณฑ์ก็จะต้องพร้อมในการดำเนินการออกใบบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษ
ทั้งนี้ ลักษณะหรือสาระสำคัญของใบบริสุทธิ์ คือ เป็นเอกสารที่ใช้ระบุได้ว่าบุคคลนั้นพ้นโทษแล้ว และสามารถใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะในขั้นตอนที่บุคคลนั้นต้องไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มิเช่นนั้น อาจเกิดข้อแคลงใจได้ว่า บุคคลนี้ยังมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนประวัติอาชญากร เช่น กรณีที่ผู้ต้องขังรายใดถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี แต่พอ 15 ปี ยังไม่ครบกำหนดกลับได้ออกมา เช่นนี้เป็นต้น
ซึ่งเรียกว่า เป็นหลักการบริหารโทษ หากผู้ต้องขังได้รับการเลื่อนชั้น ลด ปรับวันต้องโทษ หรือพักโทษ ก็เป็นไปได้ที่จะได้พ้นโทษก่อนกำหนด เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง
สำหรับเอกสารใบบริสุทธิ์ ที่ผู้พ้นโทษได้รับนั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องพกติดตัวตลอดชีพ ซึ่งจะใช้เพียงแค่ในช่วงต้นเท่านั้น เพราะผู้พ้นโทษรายนั้น อาจต้องนำเอกสารไปใช้ประกอบกับการยืนยันตัวตนว่า ได้รับการพ้นโทษเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการยืนยันตัวตนอีกแล้ว
ส่วนในคดีอาญามาตรา 112 ที่ขณะนี้ อดีตนายกฯ ได้รับการประกันตัวชั่วคราว หากจะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล จะต้องพกเอกสารใบบริสุทธิ์ไปด้วยหรือไม่นั้น ยืนยันว่า อดีตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องพกใบบริสุทธิ์ไปด้วย เพราะระบบการจัดเก็บข้อมูลของศาล จะขึ้นข้อมูลอยู่แล้วว่า บุคคลดังกล่าวได้รับการพ้นโทษจากคดีใด ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีปัจจุบัน