ตามที่มีการประเด็นในอภิปรายที่ตั้งของ โรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเอง ซึ่งได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือ WATERSHED AREA ซึ่งมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 107,000 ไร่ กรณีนี้ กรมที่ดิน ชี้แจงว่า คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้มีมติให้นิคมสร้างตนเองลำตะคองนำพื้นที่ต้นน้ำลำธารไปจัดที่ดินให้กับราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ได้มีการออก น.ค.3 ในพื้นที่ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และกันพื้นที่ไว้เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกป่าทดแทนและอนุรักษ์ดินและน้ำ ประมาณ 33,000 ไร่
ดังนั้น เมื่อราษฎรที่เป็นสมาชิกนิคมได้รับ น.ค.3 จึงสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก. ได้โดยในกระบวนการออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก. ผู้ปกครองนิคมจะต้องร่วมรังวัดและยืนยันความถูกต้องของ น.ค.3 ด้วย และโฉนดที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ได้ออกมาจาก น.ส.3 ก. ซึ่งออกจากหลักฐาน น.ค.3 เมื่อปี พ.ศ.2528 และขายเปลี่ยนมือมาหลายทอดจนเปลี่ยนมือมาถึง บริษัท พีดี เขาใหญ่ จำกัด ในปี พ.ศ.2560 ในพื้นที่นี้ไม่ได้มีการออกเฉพาะโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ จำกัด เท่านั้น แต่มีการออกโฉนดที่ดินและ น.ส.3 ก. จำนวนถึง 10,165 แปลง
สำหรับกรณี โครงการแรนโช ชาญวีร์ พื้นที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ได้ตรวจสอบและรับรองแนวเขตแล้ว นิคมสร้างตนเองลำตะคองจึงได้ออก น.ค.3 ให้สมาชิก พื้นที่ส่วนนี้จึงเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างนิคมสร้างตนเองลำตะคองกับ ส.ป.ก. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 128/2548 กรณีนิคมสหกรณ์จัดที่ดินล้ำเข้าไปในเขตปฏิรูปที่ดินใน อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ให้ ส.ป.ก.ส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่คณะกรรมการจัดที่ดินเพื่อส่งมอบให้นิคมสหกรณ์ต่อไป
ซึ่งกรมที่ดิน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินทับซ้อนตามแนวทางดังกล่าวแล้ว