เสมือนศึกซักฟอกเล็กๆ ที่กว้างขวาง สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์แหล่งที่มาเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครในสังคม ก็ร่วมสังฆกรรมด้วยความเป็นห่วงนโยบายเรือธง ที่ดูเหมือนจะไปไม่รอดในหลายมิติ โดยเฉพาะการตีความด้านกฎหมาย ที่ยังเต็มไปด้วยคำถาม ว่าถึงขั้นเร่งรัดออก ‘พ.ร.บ.กู้เงิน’ มาใช้ต่างหน้าเลยหรือ ? ‘ความเร่งด่วน’ และ ‘ความต่อเนื่อง’ ในมุมทางกฎหมายมองอย่างไร
ชวน 'รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก' อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย สังเคราะห์ถึงขั้นตอนทางนิติกรรม เพื่อทำความเข้าใจกับกระบวนการ และหาเหตุผลว่าคำวิจารณ์ที่สังคมตั้งแง่ว่าเท็จจริงมีประการใด
นักนิติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า แม้หลายจะบอกถ้าต้องการความรวดเร็วจริง ทำไมไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พรก.) ตามความเข้าใจส่วนใหญ่คิดว่า เบื้องต้นการออก พรก. สามารถออกได้ง่ายกว่า โดยใช้กลไกของรัฐบาลออกกฎหมายได้ทันที โดยไม่ต้องรอฟังความเห็นจาก สส. พรรคร่วมฯ หรือฝ่ายค้านในสภา ใช้แค่เพียงมติคณะรัฐมนตรี ในการรับรองก็สามารถประกาศใช้ได้ แต่เมื่อพ้นวาระดังกล่าว ท้ายที่สุดก็ต้องกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอยู่ดี ส่วนนี้จะกลายเป็นปัญหา เพราะหากต้องพิจารณามันมีรายละเอียดซับซ้อน มากความยิ่งกว่าการจะขอออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
ยิ่งหากดูข้อจำกัดแล้ว การออก พรก. ถือว่าไม่กว้างเท่าการออก พ.ร.บ. อย่าง ประเด็นเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ที่มีหลักหลักการพิจารณาแบบกว้างๆ ยึดหลัก ‘ความเร่งด่วน' หรือ 'มีความต่อเนื่อง' กลับกัน หากจะประกาศใช้ในรูปแบบ พรก. จะไม่ได้ใช้หลักพิจารณาข้างต้น แต่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยในภาพแคบลง อาทิ ความปลอดภัยของประเทศ ป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือประเด็นวิกฤติความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดต้องเข้าข่ายเป็น ‘กรณีฉุกเฉิน’ จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า
"พ.ร.ก. มันกระชับพื้นที่ไปเยอะเลย ง่ายๆ คือเปรียบเทียบกับรถ เร่งด่วนที่ระบุไว้ตามการออก พ.ร.บ. อาจหมายถึง การเร่งความเร็วให้ได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่กรณีเร่งด่วนฉุกเฉินที่มีความจำเป็น ต้องใช้ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ไปถึงที่หมายได้เร็วที่สุด ดังนั้นการออก พรก. ขั้นต้นอาจสะดวกกว่าการออก พ.ร.บ. แต่เมื่อต้องเข้าสู่ชั้นการตรวจสอบของสภา นายกฯ เศรษฐาจะให้เหตุผลเรื่องภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งไม่รู้จะให้อย่างไร"
เจษฎ์ มองว่า หากรัฐบาลตัดสินใจออกเป็น พรก. เสมือนเป็นการ 'ตีหัวเข้าบ้าน' และจะถูกมองว่า การแจกเงินเป็นเรื่องฉุกเฉินต้องเร่งรัด ดังนั้นจึงพยายาม ทำทีเป็น 'กึ่งยิงกึ่งผ่าน' ออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อที่จะสามารถให้เหตุผลกับรัฐสภาได้กว้างกว่า อีกทั้ง ในอดีตก็เคยมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินมาแล้ว ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง จนเกิดการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงมี 2 เหตุผลสำคัญ ที่สามารถรองรับความคิดของรัฐบาลได้
รัฐบาลเลือกใช้เป็น พ.ร.บ.กู้เงิน มาจาก การคาดการณ์ไว้แล้ว ว่าเสียงในสภาจะโหวตเห็นชอบให้ผ่านทั้ง 3 วาระ ซึ่งต่อให้ติด ในชั้นพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ก็เป็นเพียงชั่วคราว สว. ทำได้เพียงยื้อเวลาไว้เท่านั้น แต่จะผ่านไปด้วยกลไกของกรรมาธิการชุดพิเศษ ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นภายหลัง
หากสภาโหวตคว่ำ ไม่ผ่านในชั้นใดชั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น สภาล่าง สภาสูง หรือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญญ ก็ถือว่ารัฐบาลใช้กลไกที่ถูกต้อง และดำเนินขั้นตอนอย่างตั้งใจที่สุดแล้ว ผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือพรรคเพื่อไทย แต่จะกลายเป็นองคาพยพ ที่ไม่เห็นชอบ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งการแจกเงิน ตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
"แค่วันนี้คุณเศรษฐาก็อ้างแล้ว ที่บอกให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้ ก็มาจากแนวคิดของผู้ว่าแบงค์ชาติไม่ใช่หรือ เริ่มเอาดีใส่ตัวเริ่มโทษคนอื่นแล้ว หรือต่อให้ติดขัดที่ชั้นวุฒิสภา มีการตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่วม ก็ต้องใช้เวลายาวไปอีก 180 วัน เขาก็อ้างได้ว่าที่ช้าไม่ได้ช้าที่รัฐบาล แต่ไปช้าเพราะ สว.ไม่เห็นด้วย แล้วท้ายที่สุดประชาชนจะเห็นว่า รัฐบาลทำตามครรลองอย่างที่สุดแล้ว แต่ดันสะดุดกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ในขั้นตอนก่อนประกาศใช้ ดังนั้นแนวคิดการออกเป็น พ.ร.บ. จึงเหมือนเป็นกึ่งยิงกึ่งผ่าน เพื่อนเห็นชอบก็โอเค เพื่อนไม่เห็นชอบรัฐบาล ก็ไม่โดนด่า แต่เพื่อนจะโดนด่าแทน"
เมื่อถามถึงมุมกฎหมาย อาจตีความได้ว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน ในภาวะที่ 'ไม่เร่งด่วนจริง' อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่ระบุไว้ในมาตรา 53 เจษฎ์ อธิบายว่า หากโฟกัสไปที่มาตราดังกล่าว อาจต้องทบทวนไปที่รัฐธรรมนูญมาตรา 140 ก่อน ที่ระบุเนื้อหาถึงการใช้เงินของแผ่นดิน ซึ่งมีการจำกัดความไว้ประมาณว่า หากมีการใช้เงินแผ่นดิน ต้องใช้ตามกฎหมายจำนวนหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในกฎหมายที่พูดถึง คือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ดังนั้นรัฐบาลสามารถใช้ยกอ้างได้ว่า มีสิทธิ์ในการขอกู้เงิน เพียงแต่ว่าเป็นการกู้นอกเหนือที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
หากกลับไปดูตัว พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งเรื่องหนี้สาธารณะ ในมาตรา 20 ก็ถูกกำหนดไว้ว่า กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินได้ แต่ต้องมีวัตถุประสงค์ ในการชดเชยการขาดทุนของงบประมาณเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม การปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ และการให้หน่วยงานอื่นกู้เงินต่อ
เมื่อพิจารณาหลักการกู้เงิน มาใช้ในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจไม่เข้าข่ายวัตถุประสงค์ดังกล่าวเลย และต้องกลับไปมองการจำกัดความ ว่าเร่งด่วนหรือไม่ มีความต่อเนื่องแค่ไหน และจะแก้วิกฤตประเทศอย่างไร ซึ่งขณะนี้ เรื่องถูกส่งไปที่สำนักงานพระราชกฤษฎีกา ให้พิจารณาแล้ว ว่าขัดต่อหลักกฎหมายหรือไม่ กรณีหากพิจาณาว่าไม่เร่งด่วน คงไม่เกิดปัญหาอะไร แต่หากมองว่าเร่งด่วนและต้องใช้เงินกู้ ส่วนตัวจะขอตั้งข้อสังเกต ว่ามันใช่เรื่องหน้าที่ของงานพระราชกฤษฎีกา ในการพิจารณาเลย
"เมื่อคุณเศรษฐาโยนให้กฤษฎีกาตีความว่าทำได้หรือไม่ อันนี้เป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังเอาหลังพิงสำนักงานพระราชกฤษฎีกาอยู่ จะเรียกว่าเป็น ‘คนฉลาดแกมโกง’ ก็ย่อมได้ ส่วนตัวผมหากพูดในมุมนี้ ขอย้ำว่ากฎหมายระบุชัดเจนแล้ว ถึงความเร่งด่วนคืออะไร และการทำให้ต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศมันคือแบบไหน ทุกอย่างชัดอยู่แล้วไม่ต้องอธิบาย ถ้าผมเป็นท่านผมตีตกเลย เหมือนกันหากผมเป็นผู้ว่าแบงค์ชาติ ผมจะไม่ปล่อยให้คุณเศรษฐาโยนเรื่องมาให้ผม เพราะเตือนไปก็หลายครั้งแล้ว อย่าให้เขาโยนบาปมาที่คนอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาส่วนตัวเลยครับ" เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวทิ้งท้าย