นับตั้งแต่ ‘เพื่อไทย’ หาเสียงด้วยนโยบาย ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ตั้งแต่ 5 เม.ย.2566 จนกระทั่งได้ก้าวเข้ามาเป็น ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ มีนายกรัฐมนตรีชื่อว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ใช้คำว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นนโยบายเรือธงที่จูงใจ ‘ประชาชน’ ให้รอคอยมาตลอด ตั้งแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ประชาชน’ เริ่มออกอาการเบื่อหน่าย กับ ‘เงื่อนไข’ ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากแค่ “คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป” ไปสู่การกำหนด ‘รายได้และเงินฝาก’ นอกจากนี้ ยังกำหนดรูปแบบการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้าและพื้นที่การใช้ จนกระทั่ง เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิแบบจริงจังผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ในช่วงวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.67

แต่ยังไม่ทันได้จ่าย ‘เงินหมื่น’ ก็มีเรื่องให้ ‘ช็อตฟีล’ คนไทยทั้งประเทศ เมื่อนายกรัฐมนตรี นามว่า ‘เศรษฐา’ ต้องพ้นจากตำแหน่ง จากกรณีการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรี นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังต้องหลุดจากเก้าอี้ทั้งคณะอีกด้วย กว่าจะฟอร์ม ครม.ชุดใหม่ กว่าจะแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ก็ใช้เวลานานเกือบเดือน
เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านตาดำๆ เขาย่อมเกิดคำถามในใจว่า “อ้าว! แล้วเงินหมื่นฉันล่ะ จะยังได้อยู่ไหม?”

นายกฯ คนใหม่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ไม่ปล่อยให้ประชาชน ‘ว้าเหว่’ นาน ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง แม้จะเผชิญมรสุมทั้ง ‘น้ำท่วม ดินโคล่นถล่ม’ ต้องอนุมัติงบกลางแบบด่วนจี๋ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยก่อน แต่ก็หายห่วง ที่รัฐบาลไม่เมินเฉย เร่งอนุมัติจ่าย ‘เงินหมื่น’ เป็น ‘เงินสด’ แทนดิจิทัล ‘แก้ผ้าเอาหน้ารอด’ ให้ถือว่า ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้
จ่าย ‘เงินหมื่น’ เฟสแรก จำเป็นต้องสลัดทุกเงื่อนไขที่เคยวางไว้ให้คนสับสน เพราะผู้ได้รับสิทธิใน ‘งวดแรก’ นี้ คือ ‘กลุ่มเปราะบาง’ จำนวน 14.5 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้พิการและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนรับสิทธิในแอปฯ ทางรัฐ เพียงแต่ต้องมีบัญชีธนาคารผูกกับพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้รัฐโอน ‘เงินสด’ เข้าไปในช่วงวันที่ 25-30 ก.ย.67

‘เฟสแรก’ ผ่านไปได้ด้วยดี ‘เฟสสอง’ ที่รอคอย กำลังจะมา ครั้งนี้เป็นข่าวดีของ ‘ผู้สูงอายุ’ อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งรัฐบาลให้คำมั่นไว้ว่า ก่อนวันตรุษจีนปี 2568 จะได้รับ ‘เงินหมื่น’ เป็น ‘เงินสด’ (อีกแล้ว) ผ่านบัญชีธนาคารผูกกับพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน แต่ ‘เงื่อนไข’ เยอะกว่าเดิม ดังนี้
- อายุ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย
- ลงทะเบียนผ่าน ‘ทางรัฐ’ ภายใน 15 ก.ย.67
- รายได้ไม่เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- มีเงินฝากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกัน เงินฝากกระแสรายวัน ได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
- ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับเงินในกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในเฟสที่ 1
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขมาตรการหรือโครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ถูกระงับสิทธิ หรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการโครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
เงื่อนไขสำคัญที่ ‘ผู้สูงอายุ’ เกิดข้อสงสัยคือ ต้องเคยลงทะเบียนรับสิทธิผ่านแอป ‘ทางรัฐ’ ภายใน 15 ก.ย.67 ไว้แล้ว
“อ้าว! คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีโทรศัพท์เอานิ้วไถๆ แบบวัยรุ่น จะได้กับเขาไหมล่ะ?”
คำถามนี้ เกิดขึ้นแน่นอน เรื่องนี้ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ รมช.คลัง คาดการณ์ว่า จะดำเนินการได้ช่วงหลังปีใหม่ โดยจะกำหนดวันอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ได้รับ ‘เงินสด’ กันครบแล้ว คงถึงเวลาของ ‘คนทั่วไป’ ใน ‘เฟส 3’ ซึ่งคาดการณ์ว่า กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนสัญชาติไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ภายใต้ ‘เงื่อนไข’ เดียวกับชาวผู้สูงอายุเฟสที่ 2 ดังนี้
- ไม่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือนและไม่เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- มีเงินฝากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกัน เงินฝากกระแสรายวัน ได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
- ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับเงินในกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในเฟสที่ 1
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขมาตรการหรือโครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ถูกระงับสิทธิ หรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการโครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ

การจ่ายเงินใน ‘งวด 3’ นี้ มีการคาดการณ์ว่า อาจจะได้รับในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 และคงได้เริ่มจ่ายเงินในรูปแบบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ตามชื่อโครงการแล้วจริงๆ แม้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ‘แอปพลิเคชัน’ อยู่ก็ตาม
สุดท้ายการรอคอยจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน? เพราะแม้แต่ ‘เฟส 2’ เอง ‘บรรดาคนแก่คนเฒ่า’ ก็ยังลุ้นว่า จะได้ ‘เงินหมื่น’ เป็น ‘อั่งเปา’ จากรัฐบาล ก่อน ‘ตรุษจีน’ 2568 จริงๆ หรือไม่ ส่วน ‘เฟส 3’ แม้จะรอมาตั้งแต่ปี 2566 อย่างไรก็ต้องรอต่อไป แม้จะอ้างว่า อยู่ระหว่างทำ ‘แอปฯ’ แต่ไม่รู้ว่า ‘แอปฯ’ หรือ ‘แอบ’ เพราะไม่เห็นออกมาเสียที พอประชาชนถาม ‘เมื่อไหร่’ กลับไม่มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน แถมแจกเป็น ‘เงินสด’ ถึง 2 งวด