100 วัน 'รบ.เศรษฐา' แนวร่วมประชาธิปไตยหายไปไหน ?

6 ธ.ค. 2566 - 09:45

  • ถอดรหัส ‘มวลชนปีกซ้าย’ หายไปไหน ? กับสถานการณ์บ้านเมืองยุค ‘รัฐบาลผสม’ บริหารเกิน 100 วัน กับ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ รุ่นใหญ่นักประชาธิปไตย และ ‘เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์’ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

Disappearance-of-the-Democratic-Mob-SPACEBAR-Hero.jpg

หากท่านติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เหตุไฉน ‘มวลชนฝ่ายประชาธิปไตย’ ที่ก่อนหน้านี้มักมีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนประเด็นบ้านเมือง บนท้องถนน ถึงแลดูซบเซาห่างหายจากบาทวิถีไปแบบไร้ร่องiอย ยิ่งเฉพาะช่วงที่ ‘รัฐบาลผสมขั้ว’ ที่นำโดย 'เศรษฐา ทวีสิน' กำลังถูกเพ่งเล็งจากสังคม ถึงการดำเนินนโยบายหลายประการ ที่ดูต้องกลืนน้ำลายตัวเองอีกหลายอึก...หรือจริงๆ แล้วการขับเคลื่อนของม็อบประชาชนกำลังเข้าสู่ช่วงปัจฉิมบท ? 

"คุณต้องเข้าใจว่า การชุมนุมบนท้องถนนมันมีทั้งช่วงพีคและช่วงพักรบ ตอนนี้มันก็เป็นช่วงพักอยู่ เพื่อจัดรูปขบวนและสังเกตการณ์ จนกว่าจะเกิดเงื่อนไขหรือสถานการณ์ใหม่ขึ้นมา ที่มันสามารถดึงดูดผู้คนให้ออกมาได้"

เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ 'สมบัติ บุญงามอนงค์' ที่ให้ความเห็นถึงเรื่องความซบเซาของกลุ่มมวลชนปีกซ้าย ช่วงหลังการเลือกตั้งกับ SPACEBAR โดย 'บก.ลายจุด' ขยายความต่อว่า ช่วงการชุมนุมเฟื่องฟูสูงสุดคือ ระหว่างการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการดำเนินการทางการเมืองรูปแบบปกติ เพื่อกดดันและตอกย้ำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลตามเสียงประชาชน แต่เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเสร็จสิ้น กระบวนการทุกอย่างจึงยุติลงเป็นการชั่วคราว เปลี่ยนบทบาทเป็นเฝ้าดูการทำงานของรัฐบาล ว่ามีอะไรที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหรือไม่  

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของ กลุ่ม iLaw บนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ระดับมวลชน - ประชาชน คงอยู่ที่วาระสำคัญใหญ่ๆ หรือถึงคราวที่รัฐบาลกีดขวาง ความต้องการของภาคประชาชน อย่างประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งความหวังกับการตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และกรณีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ผู้ต้องโทษคดีความทางการเมือง

"หาก 2 กรณีที่กล่าว ถูกสะเด็ดน้ำออกมาในรูปแบบค้านสายตาประชาชน ก็อาจจะมีผลในการออกมาลงถนนอีกครั้ง อย่างที่ผมบอกการออกมาเคลื่อนไหวของมวลชนมันขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ และความเห็นพ้องร่วมกันทางสังคม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การเดินขบวนจะหายไป คุณลองดูทีวีสิ เรตติ้งข่าวการเมืองมันก็ลดฮวบ อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะมันเหลือแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่ยังติดตามพรรคการเมืองของตัวเองอยู่ แต่ม็อบไม่ได้หายไปไหน เขายังคงตื่นตัวกับบ้านเมืองเช่นเดิม"

สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ความเห็นบก.ลายจุด สอดคล้องกับมุมมองของ 'เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์' แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ให้สัมภาษณ์กับ SPACEBAR ว่า แม้รัฐบาลชุดนี้ จะไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชน (ฝ่ายซ้าย) มากนัก การเข้ามาสู่อำนาจจากการผสมขั้วทางการเมือง กับกลุ่มอำนาจเก่า (อนุรักษ์นิยม) แต่เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง คืนสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  

ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย ที่แต่เดิมจะเคลื่อนไหวในภาวะที่บ้านเมืองไม่เป็นไปตามครรลอง ก็ต้องปล่อยให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบปกติ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวได้แปรสภาพ เป็นผู้มีส่วนร่วมผลักดันประเด็นสำคัญๆ อย่างการสนับสนุนให้มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านคณะกรรมมาธิการ รัฐสภา แทนการเรียกร้องในลักษณะไฮต์ปาร์กกลางพื้นสาธารณะ 

ดังนั้น เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษา ดำเนินการตามระบบที่ตรงไปตรงมาอย่างที่รัฐคาดหวังแล้ว หากวันใดเกิดภาวะตีบตันทางกระบวนการ ในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรม ก็จะเป็นเหตุผลให้เกิดการขับเคลื่อนบนท้องถนนอีกระลอก 

"หากเราเข้าไปขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ กมธ. แล้ว แต่ปรากฎว่า กฎหมายที่เราคาดหวังมันไม่สามารถดำเนินการตามเส้นทางปกติได้ เส้นทางพิเศษทางการเมือง หรือการลงถนนลงอาจเกิดขึ้น เพราะมันเป็นพลังเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งบทตัดสินของคุณพิธาหรือบรรดา สส. ที่เกี่ยวข้องกับ ม.112 ที่อยู่ในช่วงใกล้คลอดสิ่งเหล่านี้เป็นแรงต้านให้กับมวลชน เพราะในเมื่อเราเข้าอยู่ในกติกาแล้ว แต่ยังไม่วายถูกกลั่นแกล้ง และยังเกิดการกำจัดศัตรูทางการเมืองในรูปแบบเดิมๆ มันย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนปีกประชาธิปไตยแน่นอน"

เมื่อถามว่า การส่งสัญญาณเป็นมิตรระหว่าง 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานคณะก้าวหน้า กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ถือเป็นเหตุผลสำคัญหรือไม่ ที่ทำให้กลุ่มมวลชนนิ่งเฉย ไม่ออกมาขับเคลื่อน เสกสิทธิ์ ไม่สามารถพูดแทนทุกกลุ่ม (มวลชน) ได้ แต่เท่าที่เขาเข้าใจคือ ขบวนการนิสิตนักศึกษา (ส่วนมาก) ไม่ได้มีฐานตั้งอยู่บนพรรคการเมือง แต่ยึดหลักแนวคิดเชิงอุดมการณ์เป็นหลัก อีกทั้งส่วนตัวยังเข้าใจว่า เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบการเมืองในแบบปกติแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองจะหาพันธมิตร เพื่อขอเสียงในการโหวตเห็นชอบกฎหมายสำคัญๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีมุมมองคล้ายคลึงกัน

"ผมว่าทุกคนเข้าใจความเป็นการเมืองในระบอบรัฐสภา และผมเข้าใจว่า การที่ก้าวไกลมีทิศทางอะลุ่มอล่วยมากขึ้นกับพรรคเพื่อไทย เป็นเพราะจำเป็นต้องได้เสียงจากพรรคการเมืองอื่น เพื่อผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมจริงๆ หากผลักดันเรื่องนี้สำเร็จ ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ ซึ่งกระบวนการเคลื่อนไหวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ ขอให้มันเป็นไปตามครรลอง โดยมีประชาชนเป็นหลักของสมการเท่านั้นเป็นพอครับ”

เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์