การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ในวาระที่ 2 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ภายหลังกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยเริ่มการพิจารณาในมาตราที่ 16 งบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่กรรมาธิการฯ ปรับลดลงราว 72 ล้านบาท จากงบประมาณเดิม 5,419 ล้าน เหลือ 5,347 ล้านบาท ซึ่งบรรยากาศการอภิปรายไม่หวือหวาเท่าใดนัก


ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอปรับลดว่า กรมอุตุนิยมวิทยาถนัดเรื่องลมฟ้า แต่เรื่องราคาไม่แม่นเท่าไร โดยงบประมาณปีนี้ ในส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาถูกปรับลด 19 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดของโครงการที่เกี่ยวกับ PM 2.5 ตามเอกสารกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งโครงการระบบตรวจวัดชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกและวัดฝุ่นละออง PM 2.5 จำนวน 1 ระบบ โดยมีการตั้งเป็นงบผูกพันในปี 68 ด้วย รวมแล้วระบบนี้จะมีมูลค่า 127,223,000 บาท

ณัฐพล ยังได้โชว์ภาพดอยอินทนนท์ พร้อมระบุว่า ในช่วงเช้าที่อุณหภูมิพื้นผิวลดน้อยลง ชั้นบรรยากาศจะถูกกดลงเหมือนฝาชี ภายใต้ชั้นบรรยากาศคือฝุ่นละอองทั้งหมด และในช่วงบ่ายที่อุณหภูมิพื้นผิวเพิ่มสูงขึ้น ชั้นบรรยากาศก็จะยกตัวขึ้น แต่ความหนาแน่นของฝุ่นยังเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมตั้งคำถามว่าเครื่อง Lidar PBL ซึ่งเป็นเครื่องวัดระยะและประเมินฝุ่นที่มีประโยชน์ ดูไม่แพง แต่ตัดงบทำไม เพราะเครื่องดังกล่าวเป็นเครื่องที่ยิงเลเซอร์ขึ้นฟ้าก็จะหาความหนาแน่นของฝุ่นได้
นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของงบประมาณในโครงการ ยกตัวอย่างใบเสนอราคาซื้อเครื่อง Lidar PBL จำนวน 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท แต่กรมอุตุนิยมวิทยากลับไม่รู้ว่า ไทยเคยมีเครื่องนี้แล้วและซื้อมาในราคาเพียง 5,000,000 บาท ทั้งนี้บริษัทซัพพลายเออร์เสนอค่าซ่อม 2,000,000 บาท แต่เครื่องนี้ถูกทิ้งไว้เฉยเฉย และปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ไทยผลิตเครื่องนี้ได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 1,000,000บาท
ณัฐพล ระบุว่า เป็นเดชะบุญที่กรมอุตุนิยมวิทยาตัดงบประมาณโครงการตนเอง ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะแม้จะเป็นโครงการสำคัญแต่มีราคาแพงเกินจริง จึงอยากฝากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวกับมลพิษ PM 2.5 หากจะตั้งงบเพื่อซื้อเครื่องลักษณะนี้ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ NARIT สามารถผลิตได้เอง มีต้นทุนไม่ถึงล้านบาท และมาพร้อมกับโมเดลการวิเคราะห์เก็บข้อมูลที่นักวิจัยไทยเขียนเองทั้งหมด

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ จะมีสายด่วน 1441 ที่เอาไว้แจ้งมิจฉาชีพ แต่ก็มีสายด่วนของหน่วยงานอื่น เช่น 1599 เราไม่สายด่วนเยอะมาก แต่ประชาชนจำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหามิจฉาชีพเข้ามาร้องเรียนมิจฉาชีพ ทำให้ประชาชนงงว่าหากร้องเรียนไปแล้ว จะเป็นตำรวจจริงหรือไม่ ตอนนี้ตำรวจทำงานไม่ทันมิจฉาชีพ ไลน์แอดที่ยิงไป 4-6 อัน มิจฉาชีพหมดเลย สรุปอันไหนจริงกันแน่ พอไปถามเจ้าหน้าที่ก็โยนงานข้ามกันไปมาว่าสายด่วนไหนจริง สายด่วนไหนปลอม

ศศินันท์ ยังเปิดคลิปพีอาร์ของกระทรวงดีอีเอส ที่รณรงค์ให้ประชาชนรู้ทันมิจฉาชีพ ในหัวข้อ ‘มงคลมาโอนเงินให้เปี๊ยกหน่อย’ โดยขอเสนอปรับลดงบ เนื่องจากอยากให้กระทรวงดีอีเอส ทำงานที่ควรจะทำ มองว่าหากมัดรวมงบแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ได้ จะประหยัดงบไปได้เยอะ
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ส่วนตัวสงสัยมานานว่าเหตุใดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเลือกตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ทั้งนี้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังแบ่งกลุ่มข่าวที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2.หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ 3. หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่
ยกตัวอย่างข่าวที่ถูกปฏิเสธการตอบกลับ ‘ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือน ก.ย.นี้ เตรียมรับเงินสูงสุด 1,900 บาท สามารถดกดเป็นเงินสดได้’ ซึ่งจากการตรวจสอบกับกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่าเพื่อความชัดเจนและข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด รบกวนสอบถามทางกระทรวงการคลัง เนื่องจากดูแลเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยตรง สุดท้ายศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมปิดเคส สมชื่อกับศูนย์ประสานงานและแก้ปัญหาข่าวปลอม ไม่ติดตามหรือทวงถามอะไรทั้งนั้น
นอกจากนี้ ในกลุ่มข่าวที่ไม่ประสงค์เผยแพร่ยังระบุเหตุผลไว้ชัดเจน โดยเฉพาะข่าว ครม. อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 ล้านบาท หรือข่าวทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์แปดเส้น 3.4 ล้านบาท จากการตรวจสอบกับกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

ตลอด 4 ปี 5 เดือน การส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานราชการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการตรวจสอบแต่เป็นการขออนุญาตเผยแพร่ข้อมูล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ และเป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น โครงการเช่นนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว

แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมฯ มีมติเสียงข้างมาก 279 เสียง ต่อ 146 เสียง เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการฯ โดยยังคงตัดลดงบประมาณลงราว 72 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2567 นี้ กระทรวงดีอี จะได้รับงบประมาณ 5,347 ล้านบาท