เคาะแล้ว! ‘ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ’ ฉบับรัฐบาล เตรียมชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

23 พ.ค. 2567 - 06:38

  • ‘รัฐบาล’ เคาะแก้ ‘กฎหมายประชามติ’ 6 ประเด็น จ่อชง ครม.สัปดาห์หน้า คาดทันส่งสภาฯ 18 มิ.ย.นี้

  • เปิดไทม์ไลน์ทำประชามติ ครั้งแรก ‘ปลายปี 67’ ก่อนลุยแก้ ‘ม.256’ ตั้ง ‘ส.ส.ร.’

  • ทำประชามติรอบ 2 ช่วง ‘ก.พ. ปี 68’ มั่นใจได้ ‘รัฐธรรมนูญใหม่’ สมัยรัฐสภาปัจจุบัน

Draft_Referendum_Act_of_the_government_is_finished_SPACEBAR_Hero_460e6056ca.jpg

นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเนื้อหาต่อการเสนอแก้ไข ‘พ.ร.บ.ประชามติ’ เบื้องต้น ได้จัดทำเนื้อหาแล้วเสร็จ และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 28 พ.ค.นี้

สำหรับหลักการของการแก้ไขเนื้อหามี 6 ประเด็น คือ

  1. กำหนดให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป หรือ เลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ
  2. เพิ่มช่องทางการออกเสียง สามารถทำผ่านบัตรอกเสียง หรือ ไปรษณีย์ เครื่องออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิธีอื่น โดยเขตออกเสียงสามารถใช้วิธีเดียวกันหรือหลายวิธีได้
  3. แก้ไขเกณฑ์ว่าด้วยการผ่านประชามติ ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากดังกล่าวต้อสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่ออกเสียงประชามติ หรือ โหวตโน (Vote No)
  4. ให้ กกต.เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนประชามติอย่างทั่วถึง และให้มีการแสดงความเห็นอย่างอิสระเท่าเทียม ทั้งผู้ที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขประเด็นที่เคยเป็นปัญหา กรณีที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ไม่มีช่องทางการแสดงความเห็น
  5. ให้ กกต.กำหนดเขตออกเสียง ที่สามารถใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้านหรือเขตอื่น เป็นเขตออกเสียงได้
  6. ให้ใช้หน่วยเลือกตั้งเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป หรือเลือกตั้งท้องถิ่นกรณีที่ครบวาระได้

ผมเชื่อว่า ครม.จะส่งร่างแก้ไขกฎหมายยประชามติ ต่อสภาฯ ได้ทันการพิจารณาในวาระแรกวันที่ 18 มิ.ย.นี้ และการพิจารณาจะเป็นไปด้วยดี ก่อนจะตั้งกรรมาธิการพิจารณาให้เสร็จภายในกรอบเวลา 45 วัน โดยไม่มีปัญหา เพราะฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้คุยร่วมกันไม่มีขัดแย้ง จากนั้น ในการพิจารณาวาระสองและวาระสาม จะทำได้ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ก่อนจะส่งให้ สว.พิจารณาโดยใช้เวลา 1 เดือน และคาดว่าจะเสร็จในเดือน ส.ค.

นิกร จำนง

ส่วนไทม์ไลน์ของการออกเสียงประชามติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น นิกร กล่าวว่า หลังจากที่แก้ไขกฎหมายประชามติแล้วเสร็จ และประกาศใช้ จะมีการกำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้ง ต่อการออกเสียงประชามติตามคำถามที่ ครม.เห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ ยังกำหนดไม่ได้ เนื่องจากต้องรอการพิจารณาของสภาฯ ให้เสร็จก่อน

อย่างไรก็ดี หากจะเร่งกันทำให้เสร็จ การออกเสียงประชามติครั้งแรก อาจจะเกิดขึ้นในปลายปี 2567 เมื่อผ่านแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการแก้มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้น คาดว่าจะทำได้เสร็จและนำไปออกเสียงประชามติครั้งที่สอง ทันกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่ในเดือน ก.พ. 2568 อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในสมัยรัฐสภาปัจจุบัน จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นิกร จำนง

เมื่อถามว่า มีโอกาสจะทบทวนคำถามที่นำไปออกเสียงประชามติ หรือไม่ นิกร กล่าวว่า ทำไม่ได้ เพราะ ครม.ออกเป็นมติแล้ว อีกทั้งมองว่า ในประเด็นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หากจะแก้ไข ควรทำประชามติเป็นการเฉพาะเรื่องอีกครั้ง โดยไม่ควรนำมารวมกับการรื้อใหญ่เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าการเว้นการรแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 จะเป็นปัญหาบ้าง แต่หากไม่เว้นเชื่อว่าจะมีปัญหามากกว่า

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์


เคาะแล้ว! ‘ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ’ ฉบับรัฐบาล เตรียมชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า