สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งเตือนประชาชนในช่วงระหว่างเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จะมีการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน (31 มกราคม 2568) จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง (1 กุมภาพันธ์ 2568) ห้ามผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

เคลียร์ปมคุณสมบัติ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ เลือกตั้งท้องถิ่น
ส่วนประเด็นคุณสมบัติของ ‘ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น’ ที่มีการตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้หรือไม่นั้น
เรื่องนี้ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เผยผ่านโซเชียลมีเดียว่า
ผู้ช่วยหาเสียง...
1.ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1.1 เป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้ 1.2 เป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 1.3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
2.ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 2.1 เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ 2.2 เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2.3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
พร้อมแนบรายละเอียดข้อกฎหมาย โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่า
คุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาห้องถิ่นหรือผู้บริหารห้องถิ่น ตามนิยามข้อ 4 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 หมายความว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ที่ได้รับว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง...
ทั้งนี้ กกต.ได้ออกระเบียบฯ ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาห้องถิ่นหรือผู้บริหารห้องถิ่น พ.ศ.2563 ให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม
ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาจจะเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามนิยามของระเบียบฯ ดังกล่าว หมายความว่า
‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ตามนิยาม ข้อ 4 ของระเบียบดังกล่าว ที่กำหนดว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นการกำหนดสถานะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาห้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเปียบฯ ซึ่งเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับนิยามของ ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่กำหนดใว้ก่อนแล้ว
‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ตามข้อ 4 ในนิยาม ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ เป็นการกำหนดนิยามผู้ช่วยหาเสียง ‘เป็นการเฉพาะ’ สำหรับระเบียบนี้ เพราะใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ไว้ กกต.จึงได้กำหนดนิยามเป็นการเฉพาะสำหรับในระเบียบนี้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาห้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งนิยามผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้กำหนดว่าผู้ช่วยหาเสียงต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครลงสมัครหรือในเขตเลือกตั้งใด ดังนั้น การแต่งตั้งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งอื่นเป็นผู้ช่วยหาเสียง ย่อมสามารถกระทำได้
หลักการและสาระสำคัญดังกล่าวข้างต้นเป็นหลักการเดียวกันกับ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงสมาชิกสภาผู้แหนราษฎร พ.ศ. 2561 เพื่อให้โอกาสผู้สมัครมีโอกาสในการจ้างผู้ช่วยหาเสียงได้อย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ กกต.และสำนักงาน กกต.ได้บังคับใช้หลักการนี้ โดยได้ตอบข้อหารือผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง รวมทั้งมีหนังสือเวียนแจ้งแนวปฏิบัติแก่ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว คือ
ตอบข้อหารือพรรคเพื่อชาติ หนังสือ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0019/2077 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562
ตอบข้อหารือพรรคก้าวไกล หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0015/10234 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563
ทางด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่ก่อนหน้านี้ได้ตั้งข้อสังเกตการตั้ง ทักษิณ ชินวัตร, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ช่วยหาเสียง ได้โพสต์ถึงการชี้แจงดังกล่าวว่า
คำชี้แจงจาก กกต. ว่า เคยตอบคำหารือของพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2563 ว่า ผู้ช่วยหาเสียงท้องถิ่นเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นใดก็ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง
เมื่อเคยมีการพิจารณาแบบนี้ ก็ยอมรับได้ว่า คุณทักษิณ คุณธนาธร คุณพิธา สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียง รับเงินวันละ 300 เล่นบท 3 ล้านได้
แต่สิ่งนี้ คงเป็นโจทย์ที่ กกต.ต้องคิดต่อในอนาคตว่า เหมาะสมหรือไม่ นำไปสู่การเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมหรือไม่ หากเหมาะก็เอาแบบนี้อย่างสนุกสนานต่อไป หากไม่เหมาะก็เขียนระเบียบให้รัดกุมครับ