ศึกการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ที่เสร็จสิ้นผ่านไปวานนี้ (30 มิถุนายน 2567) ทำเอาทั้งชาวปทุมฯ และคอการเมืองทั่วประเทศต้องลุ้นอย่างจดจ่อ ชนิดที่ว่านาทีต่อนาที นับตั้งแต่ช่วงหลังปิดหีบ และผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจากอำเภอต่างๆ ถูกรวบรวมรายงานสู่สายตาประชาชนเป็นระยะๆ
ในช่วงแรกของการประกาศผลนับคะแนน ‘พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าย’ ผู้สมัครหมายเลขที่ 3 ในฐานะอดีตนายก อบจ. ปทุมธานี (คนล่าสุด) มีคะแนนนำ ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี 3 สมัย อยู่นับพันแต้ม จากเขตอำเภอซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของ ‘บิ๊กแจ๊ส’ อันได้แก่ ธัญบุรี ลำลูกกา และหนองเสือ
แต่เมื่อผลนับคะแนนจากคูหาอำเภอเมือง คลองหลวง ลาดหลุมแก้ว และสามโคกทยอยเข้าสู่ส่วนกลาง คะแนนของ ‘ลุงชาญใจดี’ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เบีอดแซงนำหน้าผู้สมัครหมายเลข 3 ในที่สุด ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า มาจากจุดตัดของคะแนนในอำเภอรอบนอก ที่นำคู่แข่งแบบทิ้งห่าง ตั้งแต่ 5,000 จนถึง 15,000 แต้ม เป็นผลพวงที่ ‘ชาญ’ รักษาฐานที่มั่นเดิมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
กระทั่งผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ประกาศโดย กกต.จังหวัดปทุมธานี ประกาศออกมาเมื่อเช้าวันนี้ (1 กรกฎาคม 2567) ได้ตอกย้ำชัยชนะของ ‘ลุงชาญ’ ด้วยคะแนน 203,032 ขณะที่ ‘พี่แจ๊ส’ มี คะแนนตามหลัง 1,820 คะแนน (คำรณวิทย์ ได้คะแนน 201,212) ส่งผลให้บ้านใหญ่เมืองสามโคก กลับคืนสู่เส้นทางอีกครั้งในฐานะ ‘อบจ.ปทุมธานี สมัยที่ 4’
จุดตัดความปราชัยของ ‘บิ๊กแจ๊ส’
ในส่วนความพ่ายแพ้ของคำรณวิทย์ ‘วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่ามาจาก ‘จุดตัด 3 ประการ’
- ฐานเสียงส่วนใหญ่ของ ‘บิ๊กแจ๊ส’ อยู่ในส่วนพื้นที่ที่เป็น ‘เขตเมืองใหญ่’ หรือพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดกับ ‘กรุงเทพฯ’ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่คือ คนชนชั้นกลาง ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร และประกอบอาชีพหลักอยู่ในเมืองหลวง แต่ขณะที่ ‘ลุงชาญ’ จะมีอิทธิพลทางความคิดกับชาวบ้านในอำเภอรอบนอก ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นและฐานเสียงดั้งเดิม ตั้งแต่การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา
โดย ธรรมชาติของการเมืองท้องถิ่น ‘พื้นที่รอบนอก’ ยังคงมี ‘ระบบจัดตั้ง’ ที่เข้มแข็ง มากกว่า ‘พื้นที่เจริญ’ ที่การเข้าถึงประชาชนของนักเลือกตั้งทำได้ยาก เนื่องจากการอยู่ภายในหมู่บ้าน บ้านจัดสรร และคอนโด เป็นการอยู่อาศัยแบบระบบปิด คนในอำเภอฐาน ซึ่งคาดว่าจะเป็นฐานเสียงหลักของคำรณวิทย์ จึงลงคะแนนโดยใช้ภาวะทางอารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่
-
ผลลัพธ์คะแนนที่ลดลงจากการเลือกตั้งอบจ. เมื่อปี 2563 ที่ไม่ว่าจะ ‘บิ๊กแจ๊ส’ หรือ ‘ลุงชาญ’ ก็ลดฮวบเป็นหลักหมื่นแต้ม
-
การเมืองในพื้นที่จุดตัด คือการวัดพลังระหว่าง 2 ค่าย คือ ‘ค่ายสีแดง’ และ ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ ซึ่งทำการเมืองแบบจัดตั้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขณะที่ ‘ค่ายสีส้ม’ คือคะแนนพลอยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญของเกมนี้
ซึ่งต่อให้ ‘บิ๊กแจ๊ส’ ได้รับแรงสนับสนุนจาก ‘ก้าวไกล’ ก็คงไม่อาจเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ แต่อาจถึงขั้นทำให้คะแนนบางส่วนไหลไปที่ ‘ลุงชาญ’ มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะ ‘ฐานน้ำเงิน’ กับ ‘ฐานแดง’ เป็นฐานเดียวกัน จึงมองได้ว่าผล ‘โหวตโน’ ไม่ได้มีนัยสำคัญหาก ‘พรรคก้าวไกล’ กระโดดเข้าร่วมสนามปทุมฯ
ดังนั้น จึงหมายความว่า การเมืองในระดับท้องถิ่นยังคงยึดโยงพึ่งพิง ‘บ้านใหญ่’ อยู่ และ ‘คะแนนกระแส’ ไม่ได้มาเหนือไปกว่า ‘คะแนนจัดตั้ง’ แม้หลายคนจะโฟกัสความเชื่อมถึงการเมืองระดับชาติ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเดิมพันด้วยศักดิ์ศรี แต่สาระสำคัญที่ส่งผลให้ชาญ สามารถทวงเก่าในวันวานกลับคืนมาได้ คือปัจจัยส่วนบุคคลมากกว่า การได้รับแรงสนับสนุนจาก ‘เพื่อไทย’
บทเรียน ‘ปทุมฯ’ สั่งสอน ‘เพื่อไทย’
แม้ ‘ลุงชาญ’ จะได้รับชัยชนะจากศึกเลือกตั้ง อบจ. ปทุมธานี แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงโหมโรง จะเห็นได้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งให้การสนับสนุน ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ ต้องทุ่มขุมกำลังจากส่วนกลาง เพื่อเรียกคะแนนเสียงอย่างเต็มกำลัง
โดยเฉพาะ ‘ครอบครัวชินวัตร’ ไม่ว่าจะ ‘ทักษิณ’ ในฐานะของแขกกิติมศักดิ์งานอุปสมบทของบุตรชาย ‘นายกฯ เบี้ยว’ นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งซุ้มที่ให้การสนับสนุนชาญ รวมถึงการลงพื้นที่จังหวัดปทุมฯ ของ ‘โอ๊ค - พานทองแท้’ ที่ลุยเข้าพื้นที่ลาดหลุมแก้ว และ ‘อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร’ ที่ตะลุยเข้าชุมชนแถบคลองหลวง ห่างจากจมูก ‘บิ๊กแจ๊ส’ แค่เอื่อม
แต่ผลคะแนนที่ออกมากลับไม่ทิ้งห่างกับคู่แข่งเท่าที่ควร จำนวน 1,820 แต้ม ไม่ได้การันตีสำเร็จ ผ่าน ‘บารมี’ นายน้อยนายใหญ่
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากมองการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองชั้นเดียว ก็จะมีแค่ผลแพ้ชนะ แต่หากสำรวจเบื้องลึกมุมการลงทุนลงแรงจากผู้ให้การสนับสนุน ผลประกอบการที่ ‘เพื่อไทย’ ได้คือการ ‘ขาดทุน’ เพราะเป็นการเอาชนะแบบ ‘หืดขึ้นคอ’ ทั้งๆ แม้ลึกๆ ‘บิ๊กแจ๊ส’ อาจมี ‘ภูมิใจไทย’ ให้การสนับสนุนอยู่ แต่ก็เลือกใช้วิธีการ ‘หาเสียงแบบอิสระ’ ชัยชนะของชาญจำเป็นจะต้องเด็ดขาดกว่านี้ ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้น เป็นบทพิสูจน์สำคัญที่พรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องตกตะกอนให้ขาด
“ถ้าเพื่อไทยลงทุนขนาดนี้ แต่ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เด็ดขาด แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างต่อจากนี้จะไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะกรณีการใช้ภาพของคุณทักษิณเข้ามาเรียกกระแสความนิยม อาจจะใช้แค่บางพื้นที่เท่านั้น ขณะที่บางจังหวัดอาจต้องชี้เรื่องตัวบุคคลให้เด่นขึ้น โดยทิ้งระยะห่าง มิเช่นนั้นจากคะแนนดูดก็จะกลายเป็นคะแนนหนีได้”
วันวิชิต กล่าว
แม้ผลการเลือกตั้งในจังหวัดปทุมธานีจะไม่เด็ดขาด แต่วันวิชิตเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต่อการมีส่วนร่วมกับการเมืองท้องถิ่นจะยังจะดำเนินต่อ และอาจมองภาพความสำเร็จครั้งนี้ คือตัวชี้วัดว่ากระแสพรรคกำลังกลับมา ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงตัวผู้สมัครอย่างชาญ ก็มีคะแนนนิยมส่วนตัวอยู่แล้วในฐานะที่เป็น ‘บ้านใหญ่’ ที่สามารถสร้างคะแนนนิยมเป็นกอบเป็นกำด้วยตนเองอยู่แล้ว