‘ธรรมดาของสรรพสิ่งในใต้หล้า เมื่อแยกกันนานย่อมรวม เมื่อรวมกันนานย่อมแยก’ เป็นหนึ่งข้อคิดสำคัญที่ปรากฎในวรรณกรรมสามก๊ก วิเคราะห์กันผ่านนัยเชิงอำนาจ มีความหมายว่าบนถนนทางการเมือง ไม่มี ‘มิตรแท้’ และ ‘ศัตรูถาวร’ ไม่เว้นแม้แต่การเมืองไทยก็เป็นเฉกเช่นนั้น
(ในวาระร่วมสมัย) คาบแรกเกิดขึ้นห้วงหลังเลือกตั้งปี 2566 จากปรากฏการณ์การตระบัตย์ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ จับมือร่วมรัฐบาลข้ามขั้วพรรคลุง และเครือข่ายรัฐบาลยุคประยุทธ์ ส่งผลให้ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ชนะการเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง ต้องพบชะตากรรมไปเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ อย่างไม่สมัครใจ
คาบที่สอง อันเป็นสถานการณ์หมาดๆ เกิดขึ้นภายหลัง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แทนที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าผิดจริยธรรมกรณีแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ส่งผลให้มีการจัดขุนทัพพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยเลือกที่จะตัดหาง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ในฟาก ‘บ้านป่ารอยต่อฯ’ ออกจากฝ่ายบริหารไป และทำการดึงศัตรูเก่าอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ มาแทนที่ในรัฐบาลอิ๊งค์ 1
การร่วมวงษ์ไพบูลย์ ระหว่าง 2 พรรค (ตระกูลชินวัตร - ลูกพระแม่ธรณี) ที่เกิดขึ้นล่าสุด ในมิติทางการเมือง ถือเป็นกระบวนการเทียบเชิญ มาแทนที่เสียงจากพรรคพลังประชารัฐที่ขาดหายไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมาจากการ ‘ต่อรองผลประโยชน์’ จนลงตัว
มีรายงานว่าโผคณะรัฐมนตรีจะคลอดเร็วๆ นี้ มีบุคคลชั้นแกนนำของพรรคสีฟ้าน้ำทะเล เข้ารั้งตำแหน่ง 2 เก้าอี้ วาง ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ หัวหน้าพรรคเป็น ‘รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ และ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ เลขาธิการพรรค รั้งตำแหน่ง ‘รมช.สาธารสุข’
จับสัญญาณ ‘พรรคหลักหน่วย’ - เลือกตั้ง 70 ภาคใต้ ‘กระสุน’ สะพัด
แม้มิติทางการเมืองทุกอย่าง จะเป็นไปตามกลไกเชิงอำนาจ แต่การจับมือผูกมิตรของทั้ง 2 พรรค อาจไม่เป็นที่พึงพอใจของ ‘โหวตเตอร์’ ประชาธิปัตย์หลายกลุ่ม โดยเฉพาะบุคคลที่เคยออกมาต่อต้าน ‘ระบอบทักษิณ’ ในช่วงสงครามสีเสื้อ ถึงขนาดมีการกล่าวสำทับปรากฏการณ์ขั้นว่า ‘เขียนด้วยมือ ลบด้วยตีน’ แบบนี้ระวังจะ ‘สูญพันธุ์’
โดยเฉพาะจากมุมของ ‘ดรีมทีมพระแม่ธรณี’ รุ่นคลาสสิคอย่าง ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ ที่ให้ความเห็นกับ SPACEBAR ว่า สมาชิกพรรคส่วนมาก รวมถึงฐานเสียงดั้งเดิมที่เคยเหนียวแน่นกับพรรค ย่อมเกิดความไม่พอใจ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วง ‘หว้าเหว่’ และกำลังช่างใจว่าจะไปทางไหนต่อดี สวนทางกับฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ยังคงเหนียวแน่นและยินดีกับดีลที่เกิดขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจของซุปเปอร์โพล ในหัวข้อ ‘ความนิยมต่อประชาธิปัตย์’ ที่ออกมาว่า คะแนนนิยมต่อพรรคลดลงมากถึงร้อยละ 60.1 ขณะที่พรรคเพื่อไทยคะแนนนิยมพุ่งร้อย 80.4
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการ ‘ล้างแค้น’ คู่ต่อสู้ ในลักษณะ ‘พรานล่านก’ ที่สามารถสังหารเหยื่อได้ทีเดียว 3 ตัว อันได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์
“การขอเข้าร่วมรัฐบาลรอบนี้มันไม่มีเหตุผลไรหรอก จะมาบอกว่าเป็นแล้วจะได้รับเลือกตั้งมากขึ้นก็ไม่ใช่ เห็นได้จากการเข้าร่วมกับรัฐบาลประยุทธ์ในปี 2562 ก็ได้แค่ 52 เสียง มาปี 2566 ก็เหลือ 25 เสียง แล้วตอนนี้ไปร่วมกับพรรรคเพื่อไทยซึ่งเคยเป็นขั้วตรงข้ามมาก่อนอีก ผมคิดว่าในปี 2570 คงเหลือแค่หลักหน่วย”
นิพิฏฐ์ กล่าว
ขณะที่ ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีตลูกหม้อแนวหน้า ปชป. ได้ให้ความเห็นสอดคล้องกับนิพิฏฐ์อยู่ 2 ประการ
- พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่ถูกลดทอนความเชื่อมั่นทางการเมือง ตั้งแต่ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองที่ต่อต้านการทำรัฐประหารหมดไป กลายเป็นการฆ่าตัวตายยกแรก หนำซ้ำยังเข้าร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอีก ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป
- แม้นปรากฏการณ์จะนำไปสู่วาทกรรม ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ แต่ฐานเสียงดั้งเดิมจำนวนมากยังคงอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยร่วมชุมนุม พันธมิตรฯ และ กปปส. ซึ่งหลังจากนี้คงไม่มองว่าพรรคคือหัวหอกในการขับเคลื่อนอีกต่อไป แต่อาจจะมีการเดินหน้าผ่านองค์กรอื่น และมีความเป็นไปได้สูง ว่าอาจเกิดพรรคการเมืองใหม่ที่รวม ‘คนประชาธิปัตย์ดั้งเดิม’ มาสู่กับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อีกระลอก (กรณีกรรมการบริหารพรรคที่นำโดยก๊วนเฉลิมชัยยังไม่ลาออกหรือย้ายสังกัดพรรค)
“ประชาธิปัตย์ในวันข้างหน้า ถ้าจะสู้ในสนามการเมืองก็ต้องสู้แบบบ้านใหญ่ ไม่สนใจคะแนนป็อปปูล่าโหวต จะออกลูกคล้ายๆ กับพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นหากยังไม่ตระหนักเอาอุดมการณ์กลับมาสู้ แล้วอยากได้สส. ก็ต้องใช้กระสุนมากกว่ากระแส จึงต้องจับตาดูเลือกตั้งรอบหน้า ภาคใต้จะกลายเป็นตำบลกระสุนตก เพราะทุกพรรคก็หวังเจาะ ในวันที่เสาไฟฟ้าไม่เหลือสักต้น”
เทพไท กล่าว
เทพไท ประเมินว่า หากมีการเลือกตั้งระดับประเทศรอบใหม่ สมรภูมิปลายด้ามขวานในส่วนบัตรแบบแบ่งเขตจะขึ้นอยู่กับการ ‘ยิงกระสุน’ ส่วนบัญชีรายชื่อคาดว่าฐานเสียงเก่าของประชาธิปัตย์ อาจมีจำนวนไม่น้อยที่ไปลงคะแนนให้กับ ‘พรรคประชาชน’ เพราะเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชัดเจนเข้มข้น ซึ่งเป็นที่พึงพอใจอยู่แล้วสำหรับฐานเสียงดั้งเดิม
‘ปชป.’ จะย่ำแย่กว่า ‘ชาติไทยพัฒนา’ ?
การวิเคราะห์ฉากทัศน์ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2570 อาจไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานใดๆ มายกอ้างเพิ่มเติม เพราะลำพังแนวโน้มการลดลงของจำนวน สส. ใน 2 การเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วถึงภาวะถดถอย
แต่สิ่งที่ ‘รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงปรากฎการณ์ ‘สูญพันธุ์’ ชนิดที่อาจหนักกว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ ดับแสงเสียอีก
พิชาย เริ่มต้นจากการจำแนกฐานเสียง (ตามพลวัตร) ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่ม
- ผู้สนับสนุนที่มีความจงรัก ซึ่งเป็นฐานสนับสนุนให้พรรคมาอย่างยาวนาน
- ผู้สนับสนุนชนชั้นกลาง ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเข้มข้น ซึ่งเป็นปรปักษ์กับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะแนวคิดหรือตัวบุคคล
- ผู้สนับสนุนชนชั้นกลาง ที่เป็นเสรีนิยม (อ่อนๆ) สนับสนุนการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มีความเสถียรไม่หวือหวาจนเกินไป
ในการเลือกตั้งปี 2562 กลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นได้ตีตัวออกห่างจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมองว่าพรรคไม่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เข้มข้น จึงไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ (และเป็นเสียงสนับสนุนให้กับ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ในการเลือกตั้งปี 2566) ภายหลังจากการร่วมรัฐบาลกับคณะรัฐประหาร และการลาออกจากหัวหน้าพรรคของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ รวมถึงการทยอยลาออกของกลุ่มนิวเดม (New Dem) ที่นำโดย ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ได้ทำให้ฐานเสียงที่เป็นกลุ่มเสรีนิยม (อ่อนๆ) หายไปเช่นเดียวกัน (ต่อมากลายเป็นฐานเสียงใหม่ของ ‘พรรคก้าวไกล’ ในการเลือกตั้งปี 2566)
ดังนั้น ในการเลือกตั้งปี 2566 ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จึงมีแค่กลุ่มดั้งเดิมที่เป็นฐานเสียงในการได้มาซึ่งบัญชีรายชื่อ 3 เก้าอี้ และแบบแบ่งเขต 1 เก้าอี้ (สส.กลุ่มชวน) หรืออาจมีเพิ่มเติมมาบ้าง จากผู้สมัครที่ทำการเมืองแบบบ้านใหญ่ หรือผู้หวังผลประโยชน์ในระยะสั้น นำมาสู่การได้ สส. แบบแบ่งเขต 21 เก้าอี้ (สส.กลุ่มเฉลิมชัย)
เมื่อวิเคราะห์จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า การจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนี้ย่อมส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้งปี 2570 อย่างแน่นอน เพราะประชาชนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ (ซึ่งเป็นฐานเสียงชุดสุดท้ายของพรรค) คงไม่อาจรับการกระทำทางการเมือง ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อการเมืองเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ที่มาพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของพรรคเสรีนิยมเข้มข้น (พรรคตระกูลอนาคตใหม่) ย่อมทำให้พลวัตรของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาคใต้ ที่มักเลือกลงคะแนนเสียงตามยุทธศาสตร์ ‘เลือกแบบมีอุดมการณ์’ สถานการณ์ในอนาคตของประชาธิปัตย์ ย่อมตกอยู่ในภาวะที่น่ากังวลมากกว่า พรรคการเมืองที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ อย่าง ‘พรรคชาติไทยพัฒนา’ ที่วันนี้ได้ สส. เพียง 10 คน
“ประชาธิปัตย์จะแย่กว่าพรรคชาติไทยพัฒนาในตอนนี้อีก เพราะพรรคคุณบรรหาร เขากุมจังหวัดซึ่งเป็นฐานที่มั่นได้ แต่ประชาธิปัตย์ไม่มี สส.สไตล์บ้านใหญ่แบบสุพรรณฯ หรือบุรีรัมย์ ที่ใช้จังหวัดในการสร้างอิทธิพล มีเพียงอิทธิพลที่จำกัดวง และมักจะตอบสนองผลประโยชน์ต่อเครือข่ายตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แตกต่างกับบ้านใหญ่อื่นๆ ที่จะเน้นสร้างตัวตนให้คนเข้าใจว่าเป็นผู้พัฒนานำจังหวัดสู่ความเจริญ มันจึงมีทิศทางว่าอาจสูญพันธุ์ในวันข้างหน้า”
พิชาย กล่าวทิ้งท้าย
สุดท้ายแล้ว เราอาจจะพบว่า ภายใต้เรื่องราวทั้งหมดของวรรณกรรมสามก๊ก มีหลักคิดหนึ่งที่จริงแท้ที่สุด คือ ‘ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน’ แต่การคดโกงต่ออุดมการณ์ของประชาชนเพื่อ ‘อำนาจ’ จะเป็นการเร่งเวลาให้ถึงคราวสูญสิ้นหรือไม่….มีแต่สวรรค์เท่านั้นที่รู้