ยากจะปฏิเสธ ว่าการปรากฎตัวของ ‘พรรคอนาคตไกล’ อาจมีนัยสำคัญซ่อนอยู่ โดยเฉพาะชื่อ ที่ดูละม้ายคล้ายคลึงกับ ‘พรรคอนาคตใหม่’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ รวมกัน ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อได้เห็นภาพสมาชิกพรรคกว่า 400 คน ที่รวมตัวอยู่ ณ ห้องประชุมชั้น 4 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ฯ เพื่อประชุมสามัญเป็นครั้งแรก ก่อนจะเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 'ชุดปฐมฤกษ์' (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566)
ภาพที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้า เต็มไปด้วยผู้คนที่นั่งเรียงรายภายใต้เสื้อ ‘สีส้ม’ ไม่ต่างอะไรกับพรรคคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งชนะศึกเลือกตั้งในรอบที่ผ่านมา แต่อาจผิดแผกไปบ้าง ตรงที่สมาชิกมากกว่าครึ่ง (เท่าที่สังเกตด้วยตา) อยู่ในวัยใกล้เกษียณ หรือบางคนล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว เห็นได้จากผมสีดอกเลา ที่แซมสลับกับศีรษะดำขลับอย่างชัดเจน
ทั้งหมดทั้งมวล สอดคล้องกับความเห็นของ 'ดร.อภิสัณห์ ศรวัชรณัฏฐ์' หัวหน้าพรรคอนาคตไกล ที่อธิบายให้ฟังว่า พรรคของเขาคือพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญ กับประเด็นความหลากหลายของสมาชิกและฐานเสียง ไม่ใช่จะมุ่งเพื่อคนหนุ่มสาวรุ่นกระทงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีวัยกลางคน และผู้อาวุโสเข้าช่วยขับเคลื่อนทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างเข้าสู่ห้วง Disruption ที่ผู้คนทุกช่วงวัย จะต้องเดินหน้าสู่อนาคตอันใกล้อย่างพร้อมเพียงกัน


อภิสัณห์ ยืนยันว่า รูปแบบการจัดตั้งพรรคไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร และทุกอย่างเป็นไปตามครรลองกฎหมาย มีการรับรองจาก กกต. ในการจดแจ้งอย่างถูกต้อง พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้เป็น ‘นอมินี’ หรือ ‘พรรคอะไหล่’ ของใคร แต่ที่ต้องเร่งจัดตั้งในวันนี้ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ทำให้เชื่อได้ ว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบ 4 ปี และอาจมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงตัดสินใจจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเตรียมความพร้อม และจะส่งผู้สมัครลงทุกเขตการเลือกตั้ง เริ่มจากภาคกลาง ที่จังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าได้รับเลือกอย่างน้อย 100 ที่นั่ง
"เราคือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และเมื่ออนาคตไกลเข้ามา ก้าวไกลต้องลงไป เพราะในวันข้างหน้าพรรคอนาคตไกลจะต้องเป็นพรรคการเมืองกระแสหลักของประเทศ และนอกจากพรรคจะดำเนินตามแนวทาง เพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติแล้ว เราขอยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 อีกด้วย"
อภิสัณห์ ศรวัชรณัฏฐ์ กล่าว
จาก ‘พลัง’ สู่ ‘อนาคตไกล’
เมื่อกลับมาไล่เรียงรายชื่อ 5 เสือ ‘กก.บห.’ จะเห็นว่ามีทั้งผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่ปะปนกันอยู่ อย่าง 'ดร.อภิสัณห์ ศรวัชรณัฏฐ์’ หัวหน้าพรรค ที่แต่เดิมชื่อ ‘ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม’ คลุกคลีในวงการเมืองมานับสิบปี ตั้งแต่การเป็นสมาชิก ‘พรรคชาติไทย’ สมัย ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ เป็นหัวเรือหลัก แต่ไม่ได้เข้าสู่สนามเลือกตั้ง เพราะเกิดการรัฐประหารปี 2549 ก่อน
จากนั้นได้ย้ายมาสังกัด ‘พรรคประชาราช’ ของ ‘เสนาะ เทียนทอง’ และลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ระยอง เขต 2 แต่ก็สอบตก และข้ามห้วยเข้าสังกัด ‘พรรคเพื่อไทย’ ให้หลังได้รับตำแหน่งสำคัญ ในชั้นกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร หลายคณะ และเข้าสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ ‘พรรคพลัง’ จนกระทั่งตัดสินใจออกมาทำพรรคอนาคตไกล ในฐานะหัวเรือใหญ่ในเวลาต่อมา

ขณะที่ ‘ดำรง ทองยืน’ ในฐานะเลขาธิการพรรค ก็เพิ่งมีข่าวออกหมาดๆ (เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566) ฐานะทนายความในคดีที่ 'ปริเยศ อังกูรกิตติ' ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ 'พรรคไทยสร้างไทย' เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 'เสมอใจ ศุขสุเมฆ' ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำเลยรวมกับพวก 4 คน ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีค่าไฟฟ้าแพง
ด้าน ‘ภนุวัฒน์ เอกพลกุล’ ที่ได้รับตำแหน่งนายทะเบียนป้ายแดง ก็เป็นลูกหม้อเก่าพรรคพลัง เช่นเดียวกันกับหัวหน้าพรรค (อภิสัณห์) โดยก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่ง เป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.
ส่วนเสือตัวสุดท้ายที่สื่อจับตา คือ 'ภวัต เชี่ยวชาญเรือ' หรือ ‘ไก่ต๊อก’ หนุ่มรุ่นกระทงวัย 21 ปี อดีตนักกิจกรรมและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะกรรมการบริหารพรรคที่อายุน้อยที่สุด ที่ได้รับการเสนอชื่อและรับรองตำแหน่งเป็น ‘โฆษกพรรค’ ซึ่งหากไล่เรียงรายละเอียดดูจะพบว่า ภวัตเองก็เคยดำรงตำแหน่งเป็น ‘เหรัญญิก’ พรรคพลังมาก่อนหน้านี้

นอกจากบุคลากรที่ถ่ายเทมาจากพรรคพลังแล้ว ยุทธศาสตร์ที่ดูคล้ายคลึงอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือการแสดงออกเชิงสัญญะที่ดูเหมือน ‘การเลียนแบบพรรคใหญ่’ ย้อนกลับไปดูที่ตราสัญลักษณ์ ‘พรรคพลัง’ ก็เหมือนกับโลโก้ ‘พรรคเพื่อไทย’ อย่างฟอนต์ตัวอักษรที่ดูอย่างกับ ‘พรรคพี่น้อง’ คลานตามกันมา ซึ่งรอบนี้ แม้ตราสัญลักษณ์พรรคอนาคตไกล จะไม่ได้เหมือนกับพรรคอื่นๆ แต่ ‘ชื่อ’ และ ‘สีเสื้อประจำพรรค’ อาจใกล้เคียงจนหลายคนแยกไม่ออก ว่า ‘เป็นเครือข่ายพรรคส้ม’ หรือไม่ ?
อีกประเด็น คือ การปาถกฐาพิเศษในวันเลือกตั้ง กก.บห. พรรคพลัง (เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564) ทางพรรคได้มีการเชิญ ‘ศ.ดร.สมชาย ภคภาคส์วิวัฒน์’ กูรูนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง มาให้ความรู้แก่สมาชิกพรรค ซึ่งวิทยากรที่เข้ามาบรรยาย ในวันเลือกตั้งกรรม กก.บห. อนาคตไกล ก็เป็นคนเดียวกันคือ ‘อาจารย์สมชาย’
ทั้งหมดทั้งมวลจึงคาดเดาได้ว่า ‘อนาคตไกล’ อาจมีความสัมพันธ์ หรือได้รับอิทธิพลการเมืองมาจาก ‘พรรคพลัง’ แบบเต็มๆ

ตั้งพรรคย้อนเกล็ด ‘ก้าวไกล’
เมื่อทุกอย่างแลดู ‘ตั้งใจ’ ที่จะเลียนแบบ ‘อนาคตใหม่ - ก้าวไกล’ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ‘อนาคตไกล’ มีแผนทำการเมืองแบบไหน แล้วเป้าสำคัญคืออะไร ? SPACEBAR จึงชวน ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์อย่างละเอียดยิบ ผ่านการชำแหละสาแหรก และองคาพยพที่มีให้เห็นอยู่ ณ ขณะนี้
อาจารย์โอฬาร เชื่อว่า พรรคอนาคตไกล มีความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์การเมืองให้คล้ายคลึงกับเครือข่าย ‘อนาคตใหม่ - ก้าวไกล’ แน่นอน แต่หาใช่ฐานะพรรคอะไหล่ เพราะเมื่อวิเคราะห์กันแล้ว ว่าแม้นพลพรรค 'เสื้อส้ม' จะทราบดีว่ากำลังตกที่นั่งลำบาก สุ่มเสี่ยงจะถูกยุบพรรคแค่ไหน (กรณีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนโยบายหาเสียง ‘แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112’) แต่บุคลากรและ สส. ของพรรคก้าวไกล ไม่มีเลือกที่จะย้ายเข้าสังกัดอนาคตไกลอย่างแน่นอน เพราะไม่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันเลย
"การตั้งพรรคการเมืองแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นความตั้งใจที่จะทำลายพรรคก้าวไกล และหากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคอนาคตไกลเนี่ยแหละจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน อย่างสีเสื้อที่ส้มเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ไม่เป็นผลดีเลยสำหรับก้าวไกล มันจะมีแต่ผลเสียจากความงุนงงของฐานเสียงเท่านั้น อีกทั้วผมยังเชื่อว่าเขา (สส.ก้าวไกล) ต่อให้พรรคถูกยุบ ก็ไม่มีทางย้ายไปอยู่อนาคตไกลแน่นอน"
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกลุ่มนักการเมืองลาออกจากพรรคพลัง เพื่อร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตไกล มีนัยแฝงอยู่หรือไม่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นลักษณะที่คล้ายกับ ‘การสร้างพรรคการเมืองขาย’ หรืออีกนัยคือ ‘การทำธุรกิจการเมือง’ ที่มักจะก่อตั้งพรรคใหม่ เพื่อรอให้กลุ่มการเมืองใหญ่ๆ มากว้านซื้อ กรณีต้นสังกัดตกอยู่ในภาวะวิกฤติ อย่าง ‘การถูกยุบพรรค’ ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ค่อนข้างผิดธรรมชาติ เพราะไม่ได้เกิดจากการสร้างแนวร่วม หรือเชิดชูอุดมการณ์อย่างแท้จริง และส่วนใหญ่มักมีต้นตอมาจาก ‘นักการเมืองที่ไม่ประสบผลสำเร็จ’

“ผมคิดว่ามันคือการตั้งพรรคเพื่อรอกลุ่มการเมืองมาเทคโอเวอร์ แต่เที่ยวนี้อาจมีความแตกต่างบ้าง เพราะมีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง อาทิ หากพรรคก้าวไกลโดนยุบ อนาคตไกล (ที่อาจรับงานใครมา) อาจทำหน้าที่สร้างความสับสนเพื่อทำลายพรรคก้าวไกลด้วย ซึ่งมันจะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อแนวร่วมอนาคตใหม่ทั้งหมด ประเด็นนี้ต้องจับตาครับ เพราะบางประเด็นเราไม่สามารถโยงทุกอย่างผ่านทางนิตินัยได้ แต่มันอาจออกมาจากพฤตินัยที่ชัดเจน จนเราไม่ต้องสงสัยอะไรอีกครับ”
โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวทิ้งท้าย

ชวนย้อนอ่านข่าว - บทความที่เกี่ยวข้อง :