‘หมอมิ้ง’ ย้ำ การสู้รบในเมียนมา ต้องไม่รุกล้ำดินแดนไทย

22 เมษายน 2567 - 08:50

1-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘หมอมิ้ง’ ย้ำจุดยืนรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์สู้รับในเมียนมา ต้องไม่รุกล้ำดินแดนไทย ยันพร้อมดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักสากล และพร้อมเป็นคนกลาง เจรจายุติความรุนแรง

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา บริเวณชายแดนไทยว่า ในฐานะรัฐบาลเรากำหนดจุดยืนชัดเจนว่า 

  1. การสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกองกำลังติดอาวุธ จะไม่ให้มีการล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทย 

  2. รัฐบาลประเทศไทย ยังคงให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามปฏิญญาที่ได้หารือร่วมกัน ตามหลักของสหประชาชาติ

  3. เนื่องจากสถานการณ์นี้ มีความเกี่ยวข้องกันมากมาย ซึ่งเดิม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดเดินทางไปในพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่ล่าสุด ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยนายกฯ มอบหมายให้ปานปรีย์เดินทางไปในพื้นที่แทน

น.พ.พรหมินทร์ ยังบอกว่าจากการหารือกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทราบว่าจะร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อไปช่วยดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็จะลงพื้นที่ เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และมารับบริการในโรงพยาบาลของประเทศไทย เราก็จะดูแลอย่างดี

ส่วนการดูแลผู้ลี้ภัย น.พ.พรหมินทร์ อธิบายว่า รัฐบาลจะดูแลประชาชนเป็นหลัก ส่วนใหญ่เข้ามาหลบภัย แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายคนกลุ่มนี้ชก็จะเดินทางกลับไป แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงวันต่อวัน ยํ้าว่าจะไม่ให้การสู้รบกระทบเข้ามาในเขตแดนไทย ซึ่งทางกองทัพต้องเข้มงวดในเรื่องนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีกองกําลังติดอาวุธรุกล้ำเข้ามาแน่นอน

ส่วนโอกาสที่นายกฯ จะเป็นคนกลางเจรจากับทุกกลุ่มในเมียนมา น.พ.พรหมินทร์ ตอบว่า จุดยืนสำคัญคือการเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือดำเนินทุกวิถีทางให้มีการยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นบทบาททางสากล ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกับเมียนมา ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ก็คาดหวังว่าเราจะมีบทบาทคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ อย่างสันติวิธี 

เมื่อถามว่ามีสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าหรือกำลังติดอาวุธ ในการเจรจายุติการสู้รบหรือยัง น.พ.พรหมินทร์ ตอบว่า ในทางการทูตคงมีการพูดคุยกัน แต่ไม่มีข้อเรียกร้องโดยตรง แต่กระทรวงการต่างประเทศจะดูแลเรื่องนี้

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ที่มี ปานปรีย์ เป็นประธานคณะกรรมการ พบว่ามีตัวแทนทั้งจากฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ แต่ที่น่าใสใจคือในรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้ ไม่มีชื่อของ ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ท่ามกลางกระแสข่าวลือ สุทิน จ่อโดนยึดเก้าอี้ รมว.กลาโหม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์