รธน.กำหนดไว้! ‘เลขาฯ กกต.’ ชี้รูปแบบ ‘คัดเลือก สว.’ แก้ไขไม่ได้แล้ว

2 พ.ค. 2567 - 06:20

  • ‘เลขาฯ กกต.’ ชี้รูปแบบคัดเลือก สว. แก้ไขไม่ได้แล้ว เหตุ รธน.กำหนดไว้

  • แนะดูประวัติผู้สมัครฯ ผ่าน ‘แอปฯ Smart Vote-เว็บ กกต.’ ยันมีมาตรการป้องกันการ ‘ฮั้ว’

  • แจงไม่ห้ามสื่อฯ เสนอข่าว-จัดเวทีหลังมี ‘พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง สว.’ แต่เตือนระวังผิดกฎหมายอื่น

format-for-selecting-Senators-cannot-be-edited-SPACEBAR-Hero.jpg

เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกทิศทุกทาง สำหรับรูปแบบการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในเรื่องนี้ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันว่า รูปแบบของการเลือกตั้งคงแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ไม่ใช่ กกต.เป็นคนกำหนด แต่สิ่งที่ กกต.ทำได้ คือเรื่องการแนะนำตัวระเบียบ

ส่วนเรื่องการแนะนำตัวนั้น ตามกฎหมายคือการแนะนำตัวกับผู้มีสิทธิ์เลือก คือผู้สมัคร ส่วน กกต.ตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน เพราะสุดท้ายแม้จะไม่ได้เลือกโดยตรงจากประชาชน แต่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิ์ติดตาม-ตรวจสอบ-สังเกตการณ์ตั้งแต่หลังปิดสมัคร

กกต.จะนำชื่อผู้สมัคร สว.ทุกคน เผยแพร่ลงในแอปพลิเคชัน Smart Vote และในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. เพื่อให้ประชาชนทราบรายชื่อ ประวัติ การทำงาน ประสบการณ์ของผู้สมัคร ขณะที่ผู้สมัคร ส.ว. สามารถติดต่อกันได้ทางอีเมล (e-mail) หรือแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อแนะนำตัวเอง คิดว่าระบบนี้ เพียงพอที่จะทำให้ประชาชน และผู้สมัคร สว. มีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้

ส่วนที่ขณะนี้มีบุคคลออกมาเปิดเผยตัวว่า จะลงเป็นผู้สมัครนั้น สามารถทำได้หรือไม่ เลขาฯ กกต. ก็ยืนยันว่า ไม่ผิดกฎหมายอะไร การเปิดตัวและการเชิญชวน สามารถทำได้ อีกทั้งกรณีที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเชิญชวนให้สมัคร ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าใครก็ทำได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงไทม์ไลน์วันสมัครที่ชัดเจน เนื่องจาก กกต. ยังไม่ได้มีการประกาศออกมา เลขาฯ กกต. ก็อธิบายว่า กรณีเลือก สว.ไม่เหมือน สส. ที่จะบอกได้ว่าเลือกตั้งวันไหน และภายในกี่วัน แต่ สว. จะเริ่มดำเนินการนับหนึ่งได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศ ตอนนี้ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา หลังจากโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว จึงมีกระบวนการชัดเจน รวมเวลาแล้วไม่เกิน 60 วัน

เมื่อถามว่า หากมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมาแล้ว สว. สามารถเผยแพร่ประวัติหรือข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียได้หรือไม่นั้น แสวง กล่าวว่า ในระเบียบแนะนำตัวให้สามารถทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดียได้ และให้แนะนำตัวกับผู้สมัครด้วยกันเอง และในวันเลือกตั้ง กกต.จะถ่ายทอดผ่านวงจรปิดทุกที่ เพื่อให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนได้สังเกตการณ์ ทั้งในระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ

ส่วนข้อปฏิบัติของสื่อฯ หลังมี พ.ร.ฎ.เลือก สว. การสัมภาษณ์ผู้สมัครไปก่อนหน้านี้ จะต้องลบคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น เลขาฯ กกต. ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย กกต.ได้ดูพฤติการณ์ทั้งสื่อฯ และกลุ่มคนที่จะสมัคร หรืออาจไม่สมัคร ได้รวบรวมไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่เห็นอะไรที่ล่อแหลมจะผิดกฎหมาย สำหรับกรณีของสื่อฯ ‘ระเบียบการแนะนำตัว’ ออกมาใช้บังคับกับผู้สมัครเท่านั้น ไม่ได้บังคับสื่อฯ

สื่อฯ สามารถรายงาน หรือเสนอข่าว หรือวิเคราะห์ข่าว ให้ความเห็น จัดเวทีได้หมด แต่ให้พึงระวังเรื่องของกฎหมายอื่น เพราะอาจไปหมิ่นประมาทผู้สมัครอื่น แต่หากเป็นข้อเท็จจริง สามารถนำเสนอได้ เพราะไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด เราอาจห้ามผู้สมัคร โดยผู้สมัครจะต้องระวังตัวในการแนะนำตัว และปฏิบัติตามคำแนะนำของ กกต.

เมื่อถามต่อไปว่า กกต.มีกลไกป้องกันการทุจริต หรือ ‘ฮั้ว’ ในการเลือก ส.ว.หรือไม่นั้น เลขาฯ กกต. บอกว่า โดยตัวระบบกฎหมายที่ออกมาป้องกันการฮั้วอยู่แล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าคนจะไม่คิดฮั้ว และจากนี้ไป คือมาตรการของ กกต.

ทั้งนี้ จำนวนผู้สมัครประมาณ 4 แสนคน อาจจะมองดูเยอะ แต่ที่จริงแล้ว แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ เมื่อเลือกแล้วจะเหลือไม่กี่คนในสาขาอาชีพ โดยมาตรการฮั้ว จะมี 2 รูปแบบ คือแลกคะแนนกัน โดย กกต.จะมีมาตรการจัดการ ไม่ว่าผู้สมัครจะทำบนดินหรือใต้ดิน และการจัดตั้ง เอาผู้สมัครมาเลือกคนที่จะให้เป็น สว. คือไม่ได้สมัครเพื่อที่จะเป็น สว. แต่จะมาเป็นเสียงเพื่อเลือก สว.ให้ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้และ กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์