วิบากกรรม 'กฎหมายสุรา' ก้าวไกล ไปไกลแค่ไหน

11 ม.ค. 2567 - 09:58

  • ย้อนรอยมหากาพย์ ‘สุราก้าวหน้า’ กฎหมายที่ไม่ผ่านสภาฯ กับฝันที่ไม่รู้จบ และปมการถกลางวงประชุม ‘พ.ร.บ. ควบคุมแอลกอฮอล์’ ที่เสนอร่างพิจารณาโดย ‘พรรคก้าวไกล’

Free-Liquor-Law-In-Parliament-of-2024-SPACEBAR-Hero.jpg

ใครๆ ก็จำกันได้ ว่าสายธารการ ‘ปลดล็อกสุรา’ เริ่มเข้าสู่การผลักดันผ่านกลไกรัฐสภาอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับการปรากฎตัวของ ‘พรรคอนาคตใหม่ - ก้าวไกล’ และ ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร’ สส.กทม. ผู้มีภูมิหลังเป็นอดีตเจ้าของธุรกิจ ‘เบียร์คราฟต์’ ผ่านการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่… ) พ.ศ… หรือ ‘กฎหมายสุราก้าวหน้า’ ที่มุ่งเปิดโอกาสให้ ‘ผู้ผลิตเบียร์รายย่อย’ ได้ลืมตาอ้าปากในระบบเศรษฐกิจน้ำเมา พร้อมๆ กับการผลักดันให้ครัวเรือนสามารถผลิต เพื่อบริโภคได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย ‘เบียร์นายทุน’ ในการสร้างสุนทรีภาพ ในวงสังสรรค์ 

กระนั้น ร่างกฎหมายฉบับก้าวไกลฉบับนี้ลอยค้างเติ่งอยู่ในสภาหินอ่อนได้ 463 วัน ก่อนจะถูกนำมาพิจารณาในวาระแรก และถูกส่งต่อไปให้ ‘คณะรัฐมนตรี’ รัฐบาลประยุทธ์พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาต่อในขั้นตอนการรับหลักการ ซึ่งก็ผ่านฉลุยเห็นด้วย 178 ไม่เห็นด้วย 137 และงดออกเสียง 15 คน 

ทว่าก่อนจะเข้าสู่การพิจาณาในวาระ 2 และวาระ 3 เพียง 1 วัน ครม.ได้เห็นชอบรับหลักการ ‘ร่างกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …’ ซึ่งสอดไส้เนื้อหา อ้างว่ายกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 และข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอและออกใบอนุญาตฉบับใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสม และการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

ร่างกฎหมายที่ ครม. รับหลักการ ถูกมองจากสังคมว่าเป็นการ ‘เตะตัดขา’ และ ‘สกัดกั้น’ พรรคก้าวไกลในการเสนอ ‘สุราก้าวหน้า’ ซึ่งเป็นไปตามการวิเคราะห์ของสาธารณชน เพราะผลสรุปของร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ถูกลงมติ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 196 เสียง ต่อ 194 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง แพ้เสียงข้างมากเพียง 2 คะแนน ! 

หากยังจำกันได้ วันนั้น (2 พฤศจิกายน 2565) บริเวณถนนหน้าอาคารรัฐสภา มีมวลชนกลุ่มใหญ่ ที่ส่วนมากคือผู้ผลิตแอลกอฮอล์รายย่อย เข้ามาติดตามและให้กำลังใจ สส. จากพรรคก้าวไกล ที่สร้างปรากฏการณ์ ส่งร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า เข้าสู่การพิจารณาได้ถึงวาระสำคัญ ซึ่งภายหลังทราบผลสรุปในห้องประชุม ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) พร้อมด้วย สส. เดินตบเท้าคู่ ‘เท่าพิภพ’ ออกมารับกำลังใจจากมวลชน พร้อมทั้งดื่ม ‘เบียร์เสรี’ แทนคำยืนยันที่พูดซ้ำในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในอาคารมาแล้วก่อนหน้านั้นว่า ‘จะไม่ละทิ้งความตั้งใจ ปลดล็อกสุรา และพร้อมนำเสนอเป็นนโยบายเรือธง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า’ 

เลือกตั้ง 66 ‘ใครเสนอ’ นโยบายน้ำเมา ถูกเสนอในทิศทางไหนบ้าง ? 

ย้อนกลับไป ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ก่อนจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่ละพรรคการเมืองล้วนพยายามเสนอนโยบายตามความต้องการของมหาชน เพื่อกอบโกยคะแนนเสียง สำหรับนโยบาย ‘สุรา’ ที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้น ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ทำตามสัญญาประชาคม ในการสานต่อประเด็นน้ำเมาเสรี ที่สู้กันมาก่อนหน้านี้  

ตามมาด้วย ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่เหมือนจะออกจุดสตาร์ทในจังหวะที่ช้ากว่า คือการผลักดันนโยบาย ‘สุราชุมชน’ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า มีโมเดลมาจากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย จนช่วงหนึ่งของการหาเสียง เกิดวิวาทะระหว่างแฟนคลับ ‘ส้ม - แดง’ กรณี ‘เคลม’ กันไปว่าใครคิดก่อนทำก่อนกันแน่ 

สภาฯ ยื้อร่างกฎหมายคุมสุรา ฉบับประชาชน - ก้าวไกล 

สำหรับประเด็นด้านข้อกฎกมายที่เกี่ยวข้องกับสุรา ล่าสุดวานนี้ (10 มกราคม 2567) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของตัวแทนภาคประชาชน โดยมีเนื้อหาให้เพิ่มความเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายทั้งในส่วนการควบคุมโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสินค้าอื่น การควบคุมการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองประชาชน โดยสส.หลายคน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ของภาคประชาชน เนื่องจากมุ่งควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สุดโต่งเกินไป ทั้งทางออนไลน์และออนไซต์   

อย่างไรก็ดี ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.สาธารณสุข ขอให้นำร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของภาคประชาชนฉบับนี้ไปให้ครม.พิจารณาทบทวนไม่เกิน 60 วัน ก่อนเสนอกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ1 อีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมลงมติ 241ต่อ159 ให้ส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปให้ครม.พิจารณาก่อน  

ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีก 2 ฉบับ ที่เสนอโดย ‘เจริญ เจริญชัย’ ตัวแทนภาคประชาชน และอีกฉบับเสนอโดย ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ ที่สอดไส้เนื้อหา ‘ลดการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ เป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเกินความจำเป็น รวมถึงปลดล็อกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม  

โดยเท่าพิภพ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับพรรคก้าวไกล เป็นการลดข้อขัดแย้งของทุกฝ่าย จะแก้ไขให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ห้ามเกินจริง ส่วนการโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าเป็นคนธรรมดาโพสต์ไม่มีความผิด หากพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีผลประโยชน์ร่วม แต่ถ้าเป็นบริษัทผู้ผลิตโพสต์ถือว่ามีความผิด ปัจจุบันค่าปรับโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แพงกว่าค่าปรับเมาแล้วขับ ถือเป็นการดูถูกสติปัญญาประชาชน พร้อมระบุว่า ‘ประเทศนี้กลัวการแสดงความเห็น’   

ภายหลังจากสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น สันติ กล่าวว่า ขอนำร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของภาคประชาชนและเท่าพิภพไปให้ ครม.พิจารณาทบทวนไม่เกิน 60 วัน ก่อนเสนอกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระ 1 (อีกครั้ง) ซึ่งที่ประชุมลงมติ 257 ต่อ 156 งดออกเสียง 7 ส่งผลให้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปสู่การพิจารณาของครม. ท่ามกลางการตั้งคำถามของ สส. ก้าวไกล และแฟนคลับด้อมส้ม ที่มองว่า เป็นการยื้นการแก้ไขกฎหมายสุรา ที่พรรคส้มผลักดันในอีกวาระ 

การชิงไหวชิวพริบมีให้เห็นกันทุกจังหวะ ไม่เว้นแม่แต่เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องนี้ต้องติดตามต่อไป เพราะสุดท้ายกฎหมายทุกฉบับที่มีการเสนอสู่รัฐสภา ล้วนต้องฝ่าด่านทางการเมืองก่อนเสมอ…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์