ประเมินรายชั่วโมง! วาง 3 แนวทาง รับมือสถานการณ์ในเมียนมา

23 เมษายน 2567 - 07:23

government-reveals-3-approaches-to-deal-with-the-situation-in-Myanmar-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘ปานปรีย์’ นำถกจับตาสถานการณ์​ความไม่สงบในเมียนมา ก่อนลงพื้นที่ช่วงบ่าย

  • ‘อธิบดีกรมสารนิเทศ’ ชี้ต้องประเมินรายชั่วโมง พร้อมแจง 3 แนวทางปฏิบัติ

  • เผยไทยพร้อมเป็น ‘คนกลางเจรจา’ หากได้รับการร้องขอ

government-reveals-3-approaches-to-deal-with-the-situation-in-Myanmar-SPACEBAR-Photo02.jpg

ปานปรีย์​ พหิทธานุกร รองนายก​รัฐมนตรี และ รมว.​การต่างประเทศ​ เป็นประธานการประชุม​คณะกรรมการ​เฉพาะกิจ​บริหารสถานการณ์​อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาครั้งแรก ณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ภายหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ลงนามแต่งตั้ง

โดยมี สีหศักดิ์​ พวงเกตุแก้ว​ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ​ ปลัดกระทรวงกลาโหม ​ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ​ ปลัดกระทรวงมหาดไทย​ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ​ผู้บัญชาการทหารสูงสุด​ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ​ อธิบดี​อธิบดีกรมสารนิเทศ​ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศอธิบดี​กรมเอเชียตะวันออกเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ และเจ้าหน้าที่ สมช.ร่วมประชุม​

การประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือประเมินภาพรวมสถานการณ์​ความไม่สงบในเมียนมา​ ทั้งการเตรียมแนวทางรองรับการรับผู้อพยพจากความไม่สงบ รวมไปถึงการรุกล้ำเขตแดน​ แต่สถานการณ์​ปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นเป็นเฉพาะจุด​ ไม่มีการขยายวงกว้างมากนัก ​

government-reveals-3-approaches-to-deal-with-the-situation-in-Myanmar-SPACEBAR-Photo01.jpg

วาง ‘3 แนวทางปฏิบัติ’ หลังสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ยังไม่แน่นอน ต้องประเมินรายชั่วโมง

ส่วนภายหลังการประชุมฯ นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์ซึ่งค่อนข้างยังไม่แน่นอน ต้องประเมินกันเป็นรายชั่วโมง ขณะที่ ปานปรีย์​ พหิทธานุกร รองนายก​รัฐมนตรี และ รมว.​การต่างประเทศ มีกำหนดลงพื้นที่ในช่วงบ่าย ซึ่งจะเห็นภาพชัดมากขึ้นในหลายเรื่อง ทั้งสถานการณ์สู้รบฝั่งเมียนมา การดูแลความสงบเรียบร้อยของคนไทย และให้ความช่วยเหลือผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรม

สำหรับที่ประชุมวันนี้ ได้สรุป 3 หลักการที่จะใช้บริหารจัดการ การรับมือสถานการณ์ในเมียนมา ได้แก่

  1. ยึดมั่นการรักษาอธิปไตยของไทยเป็นเรื่องหลัก ดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ
  2. ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทย ดำเนินกิจกรรมในการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว
  3. ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ปานปรีย์ ยังได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์และเป็นหน่วยงานหลัก ส่วนกระทรวงต่างประเทศจะดูแลและพูดคุยในส่วนของต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ และการประสานงานกับอาเซียน เพื่อแสดงท่าที ส่วนรายละเอียดหลังจากนี้ ให้รอฟังหลัง ปานปรีย์ลงพื้นที่ เพื่อไปดูว่าแผนที่วางไว้เป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ และพร้อมดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามามากขึ้น

แต่โดยภาพรวม ไม่สามารถควบคุมตัวเลขคนเข้า-ออกได้ เพราะคนที่อพยพเข้ามา คือคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและหนีอันตรายเข้ามา ซึ่งเราก็รับและให้ความช่วยเหลือหมด ส่วนการเดินทางกลับไปถิ่นฐานเดิมนั้น ให้ดูที่ความสมัครใจ และต้องแน่ใจว่าเขาปลอดภัย ดังนั้น ตัวเลขเข้า-ออกจึงมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

นิกรเดช พลางกูร

ส่วนแนวโน้มจะมีการตั้งกองกำลังในประเทศไทยนั้น นิกรเดช ย้ำว่า ตั้งกองกำลังในฝั่งไทยไม่ได้ และไม่มีแนวโน้ม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ย้ำในที่ประชุมว่า เราไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทยเป็นฐานในการปฏิบัติการ และทางประเทศเมียนมาก็ทราบดีถึงแนวปฏิบัตินี้

ไทยพร้อมเป็น ‘คนกลางเจรจา’ หากได้รับการร้องขอ

เมื่อถามอีกว่า จะมีการเจรจากับกลุ่มกองกำลังหรือไม่ นิกรเดช บอกว่า เราพร้อมมาตลอด แต่ไม่สามารถทำเองได้ หากไม่ได้รับการร้องขอจากฝั่งเมียนมา ว่า อยากให้ไทยเข้าไปมีบทบาทช่วยเจรจากับทุกฝ่าย ซึ่งเราพร้อมอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันยังไม่มีการร้องขออะไร คาดว่าน่าจะมีการหารือเป็นการภายในกันเองอยู่

ยอมรับว่าประเทศไทยมีความกังวล เพราะไม่อยากให้เพื่อนบ้านมีการสู้รบกันภายใน พอพูดกันมาตลอดว่า อยากให้เกิดสันติภาพ มีเสถียรภาพความมั่นคงในเมียนมา แต่ถ้ามองบทบาทของไทยในอนาคต หากทุกฝ่ายเห็นว่าไทยพร้อม และต้องการให้เข้าไปมีบทบาท ไปเจรจากับทุกฝ่าย เราก็พร้อม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์