สายเขียวต้องรู้! ความต่างของ ‘กม.กัญชา’ ยุค ‘เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย’ คุม สธ.

16 ม.ค. 2567 - 07:33

  • รู้หรือไม่! ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่กำลังรอการพิจารณามีกี่ฉบับในเวลานี้?

  • และที่สำคัญ กำหนดว่า ‘สันทนาการ’ หรือ ‘นันทนาการ’ ไว้อย่างไรบ้าง ชาวสายเขียว ต้องห้ามพลาด!

green-gang-you-must-know-law-SPACEBAR-Hero.jpg

เรื่องสำคัญที่ ‘สายเขียว’ จะต้องรู้! ประการ คือ ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’ ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ฉบับเดียว แต่มีสองฉบับที่ต้องจับตา เริ่มตั้งแต่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ของ ‘พรรคภูมิใจไทย’ เจ้าเก่าที่ผลักดันนโยบาย ‘กัญชาเสรี’ เข้าสู่กระบวนการของสภาเรียบร้อยแล้ว และปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 และอีกหนึ่งร่างที่น่าสนใจคือ ฉบับของ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ ซึ่งอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 23 มกราคม 2567 

ทั้ง 2 ฉบับต่างกันอย่างไร?

‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’ ทั้ง 2 ฉบับ มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน แต่แตกต่างในรายละเอียดบางประการ โดย ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ จะเป็นไปตามร่างเดิม 94 มาตราที่เคยได้มีความเห็นจากทุกพรรคทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แม้ในร่างนี้ จะไม่มีคำว่า ‘สันทนาการ’ หรือ ‘นันทนาการ’ ปรากฎให้เห็น แต่ก็กำหนดชัดเจนว่า ให้ใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์และพืชเศรษฐกิจ 

‘ศุภชัย ใจสมุทร’ ประธานกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ครั้งที่แล้ว ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอเข้าไปเป็นร่างเดียวกับค้างไว้ในสภาฯ ชุดที่แล้วและพิจารณาไม่เสร็จ ซึ่งเป็นร่างที่ร่วมกันพิจารณากับพรรคการเมืองทุกพรรค โดยร่างนี้ไม่ได้อนุญาตในเรื่องของ ‘นันทนาการ’ ในความหมายที่จะให้ประชาชนสามารถที่จะใช้นันทนาการในลักษณะที่เหมือนเป็นธุรกิจ แต่เขียนไว้ว่า กรณีที่จะอนุญาตให้มีการ ‘นันทนาการ’ กันได้ในเชิงธุรกิจ เช่น เปิดร้านแล้วไปสูบ จะต้องออกประกาศในลักษณะ ‘โซนนิ่ง’ โดยออกเป็นกฎกระทรวง

ซึ่งหากส่องรายละเอียดของ**‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’**ฉบับ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ จะพบว่า ปรับเปลี่ยนไปจากร่างฉบับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ดังต่อไปนี้

  1. จำนวนมาตรา จาก 94 มาตรา เหลือเพียง ‘76 มาตรา’   
  2. เปลี่ยนผู้อนุญาตจาก ‘เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา’ เป็น ‘อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก’  
  3. การเพาะปลูกกัญชา-กัญชง ตามร่างของกระทรวงสาธารณสุข ต้อง ‘ขอใบอนุญาต’ เท่านั้น แต่ร่างของพรรคภูมิใจไทย ใช้การ ‘ขอจดแจ้งการเพาะปลูก’  
  4. ห้ามบริโภคกัญชาเพื่อการ ‘สันทนาการ’ แม้กระทำเพียงคนเดียวก็มีโทษอาญา   
  5. ไม่มีบทกำหนดเขตสูบกัญชาไว้เป็นการเฉพาะ   
  6. ใบอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป ส่งออก และศึกษาวิจัย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจะยังสามารถใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต

เกิดข้อทักทวงปม ‘สันทนาการ’

ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของ ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’ ฉบับ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ เกิดข้อทักท้วงจาก ‘เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย’ ในประเด็นของคำว่า ‘การสันทนาการ’ ที่ไม่มีการระบุถึงนิยามการใช้เพื่อสันทนาการหรือการใช้เพื่อสุขภาพ โดยให้เป็นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน ทำให้กังวลว่า หากมีการตีความว่า ใช้เพื่อสันทนาการก็จะผิดกฎหมาย และมีโทษปรับสูงถึง 60,000 บาท หวั่นจะทำให้เกิดช่องว่างในการขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบประชาชน 

‘ชลน่าน‘ ยอมรับ ร่างของ สธ.ต่างจากเดิม?

‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ รมว.สาธารณสุข ออกมายอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข มีการเติมคำว่า ‘นันทนาการ’ หรือ ‘สันทนาการ’ เข้าไปจริง เพราะหากใช้สันทนาการ ก็เป็นการใช้ที่ผิด เพราะต้องเป็นการใช้เพื่อการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น

ควรกำหนดให้ชัด! ว่า ‘ห้าม’ อะไร?

ต่างจาก ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’ ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่ง ‘ศุภชัย ใจสมุทร’ ย้ำว่า ไม่ได้เขียนไว้ว่า ‘การสูบ’ คือ การกระทำผิดกฎหมาย เพราะมีความรู้สึกว่า เมื่อเขาปลูกอยู่ในบ้านได้ เขาก็มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากตรงนั้นได้ตามแนวทางการแพทย์หรือใช้ในครัวเรือน ดังนั้น ต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่า สิ่งที่ห้ามนั้น ‘ห้ามอะไร’

‘ศุภชัย’ มองว่า ในที่สุด เมื่อกฎหมายนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องร่วมพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ข้อห่วงใยนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะเครือข่ายที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เป็นคนที่รู้และเข้าใจในเรื่องของการใช้กัญชา เวลานี้คนใช้กัญชาเพื่อสูบ จริงๆก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กระทบต่อสังคม เขาใช้กันมาตลอด เขารู้วิธีการใช้ จึงต้องให้เกิดความชัดเจน และเวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่กำหนดโทษที่อาจจะรุนแรงกว่าสุราหรือบุหรี่ ก็คง ‘ประหลาด’ อยู่เหมือนกัน แต่เชื่อมั่นว่า ร่างของพรรคภูมิใจไทยก็น่าจะครอบคลุมให้กับบุคคลทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้นว่า เป็นการใช้ประโยชน์ได้มาก ดังนั้นเมื่อมีการพิจารณากันของคณะกรรมธิการฯ ก็สามารถที่จะไปพิจารณาให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ได้ 

“เรื่องการใช้ส่วนบุคคล คิดว่า กฎหมายไม่ควรเอื้อมมือเข้าไปถึงภายในครัวเรือนเขา เพราะเป็นการใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล ส่วนการประกอบธุรกิจหรือการกำหนดโซนนิ่ง ในร่างของพรรคภูมิใจไทย คณะรัฐมนตรีสามารถออกเป็นกฎกระทรวงได้ ต้องยอมรับว่า วันนี้ก็มีการใช้ในเรื่องของนันทนาการบางสถานที่ โดยมีกฎหมายของกรมแพทย์แผนไทยควบคุม ถือว่าชัดพอสมควร แต่ถ้าในที่สุดกฎหมายออกมาจริงๆ ก็ควรออกโซนนิ่งที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็ได้กำหนดอำนาจไว้ในร่างกฎหมาย” ศุภชัย กล่าว

ยังเหลือเวลาอีกหนึ่งสัปดาห์ในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะนำไปปรับแก้แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คงต้อง ‘เกาะติด’ ว่า สุดท้ายแล้วร่างฉบับนี้จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า การพิจารณาร่างกฎหมายนี้จะสำเร็จหรือไม่ 

ซึ่งคงไม่ง่ายนักที่ ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’ จะผ่านความเห็นชอบไปแบบฉลุย ไม่ว่าจะเป็นจากกระแสสังคมหรือจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายที่คอยทักท้วงมาตลอด ดังจะเห็นได้จากอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณา ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง’ ฉบับที่แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์