ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จำนวน 4 ฉบับ ในชั้นรับหลักการ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย หลังจากได้มีการชี้แจงสาระสาระสำคัญของร่างฯ ทั้ง 4 ฉบับ
และได้เปิดให้ สส.แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ สนับสนุนการแก้ไขร่างฯ ทั้ง 4 ฉบับ พร้อมกับเสนอแนะความเห็นที่สำคัญ คือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อนำไปสู่การ ‘ปลดล็อก’ เงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยง่าย ที่ล็อกไว้เป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ
- ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ
- ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
นอกจากนี้ ยังอภิปรายถึงการตั้งคำถามประชามติที่รัฐบาลกำหนด โดยมีเงื่อนไข ไม่ให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่า เป็นประเด็นที่ควรทบทวน เพื่อให้เกิดคำถามประชามติที่เข้าใจง่ายและประชาชนไม่สับสน โดยควรเป็นคำถามเพียงชั้นเดียว ไม่มีลักษณะเป็นคำถามพ่วง เป็นต้น
ในส่วนของการอภิปรายสรุปนั้น จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปว่า การแก้ไขเกี่ยวกับการใช้เสียงผ่านประชามติ ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยเสนอตรงไปตรงมา ในกรณีเสียงข้างมากสองชั้น เป็นกติกาที่ผู้ไม่เห็นด้วยรวมกับผู้ไม่มาออกเสียงลงคะแนนเป็นเสียงข้างมากและชนะผู้ที่ลงคะแนนเห็นชอบ
ทั้งนี้ สอดคล้องกับฉบับของรัฐบาล และไม่ต่างจากพรรคก้าวไกล นอกจากนั้น ยังแก้ไขเกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องที่ออกเสียงให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดเบือนที่นำไปสู่การลงประชามติในเรื่องใด ๆ เพราะเข้าใจผิด
เป็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ต่อการแก้มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ให้ พ.ร.บ.ประชามติขัดขวางการแก้ไข ดังนั้น ด้วยหลักเกณฑ์ที่ตรงไปตรงมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับแม่ ทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร ประชามติที่เกิดขึ้นโดยกฎหมายประชามติ ต้องเป็นไปหลักเกณฑ์เดียวกัน การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ทำให้การแก้รัฐธรรมนุญไม่ถูกยับยั้งหรือขัดขวาง แต่หากไม่แก้ไขให้ถูกต้อง การทำประชามติที่เกิดขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกยาวนาน เพราะจะสรุปว่าประชาชนทั่วประเทศไม่เห็นด้วย
จาตุรนต์ ฉายแสง
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า ในการอภิปรายยของ สส. พบว่ามีการตั้งคำถามถึงการออกแบบคำถามประชามติ ซึ่งไม่เกี่ยวและอยู่ในเนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะรวบรวม สส.เพื่อเสนอญัตติเพื่อถกเถียงถึงข้อเสนอคำถามประชามติ เพื่อให้เป็นเวทีที่นำไปสู่การตั้งคำถามที่เหมาะสม หลังจากที่ พ.ร.บ.ประชามติฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ
ภายหลัง สส.อภิปรายกันอย่างครบถ้วน ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ทั้ง 4 ฉบับ ด้วยคะแนน 451 ต่อ 0, งดออกเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 31 คน โดยให้ใช้ร่างฯ ของ ครม.เป็นร่างหลักในการพิจารณา ใช้เวลาในการแปรญัตติ 15 วัน
ทั้งนี้ การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ในวันนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 5 ชั่วโมง
สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จำนวน 31 คน แบ่งตามสัดส่วนดังนี้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 7 คน
-
นิกร จำนง
-
วุฒิสาร ตันไชย
-
ชัยเกษม นิติสิริ
-
สมชัย เลิศประสิทธิพันธ์
-
ว่าที่ร้อยตรี ภาสกร สิริภคยาพร
-
อุดมลักษณ์ บุญสว่าง
-
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
พรรคก้าวไกล จำนวน 7 คน
-
พริษฐ์ วัชรสินธุ
-
ณัฐวุฒิ บัวประทุม
-
ฉัตร สุภัทรวณิชย์
-
ถวิล ไพรสณฑ์
-
กฤต แสงสุรินทร์
-
ปกป้อง จันวิทย์
-
ปิยบุตร แสงกนกกุล
พรรคเพื่อไทย จำนวน 7 คน
-
ชูศักดิ์ ศิรินิล
-
จาตุรนต์ ฉายแสง
-
นิคม บุญวิเศษ
-
โกศล ปัทมะ
-
ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ
-
กฤช เอื้อวงศ์
-
เอกชัย ไชยนุวัติ
พรรคภูมิใจไทย จำนวน 3 คน
-
ศุภชัย ใจสมุทร
-
กรวีร์ ปริศนานันทกุล
-
มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช
พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 2 คน
-
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
-
ศรัณยา สุวรรณพรหม
พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 2 คน
-
วิทยา แก้วภราดัย
-
เจือ ราชสีห์
พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 1 คน คือ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ
พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 1 คน คือ ปียะนาถ รอดมุ้ย
พรรคประชาชาติ จำนวน 1 คน คือ วรวิทย์ บารู