ถกญัตติถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ชง 3 มาตรการบี้ ‘รัฐบาล’

14 ก.พ. 2567 - 08:53

  • ‘สภาฯ’ ถกญัตติถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ‘รทสช.’ ชง 3 มาตรการบี้ ‘รัฐบาล’

  • เข้มบังคับใช้กฎหมายพวกเหิมเกริม-ทบทวนมาตรครั้งใหญ่-ระดมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจประชาชน

  • ป้องทำซ้ำจนเป็นแฟชั่น หวั่นปล่อยปละละเลยอาจกลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ทำประชาชนจนแตกแยก

House-of-Representatives-considers-a-motion-to-offer-safety-to-the-royal-motorcade-SPACEBAR-Hero.jpg

จากปมร้อน ‘ป่วนขบวนเสด็จฯ’ นำมาสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (14 ก.พ. 2567) ซึ่งมีวาระการประชุมพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบแผน และมาตรการ การถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมกับเกียรติยศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักชาติ ที่เสนอโดย อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ชี้แจงว่า เหตุผลที่เสนอญัตตินี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการไปรบกวน ก่อกวนขบวนเสด็จฯซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้ประชาชนคนไทย ตนเห็นว่ากรณีนี้หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน จะทำให้สถานการณ์บานปลาย กระทบต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะความมั่นคงของประเทศ

เหตุการณ์ดังกล่าว ตนเห็นคลิปจากสื่อมวลชน ทำให้รู้สึกตกใจ เนื่องจากชัดเจนว่าขบวนเสด็จฯ ที่กำลังใช้ช่องทางสัญจรเป็นขบวนที่สั้นมาก การถวายความปลอดภัยในวันนั้น ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบประชาชน นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีการปิดถนนเส้นนั้น แต่รถผู้ก่อนเหตุวิ่งมาด้วยความเร็ว เจตนาชัดเจนว่า พยายามขับรถไล่ขบวนเสด็จฯ จากนั้น ได้ปรากฏอีกคลิป ที่ทำให้เห็นเจตนาของผู้ก่อเหตุคืออะไร

ในขณะที่ผมรู้สึกโกรธจนเกือบถึงขีดสุด จนกระทั่งจะเกิดเป็นความรังเกียจกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มีประโยคหนึ่งที่แว่วเข้ามา บันดาลใจให้ผมดึงสติลดความโทสะลง คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านได้ทรงตรัสไว้ว่า Thailand is the land of compromise ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความประณีประณอม หลังจากเกิดกรณีไปรบกวนขบวนเสด็จฯ เมื่อช่วงปลายปี 2563

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

เอกนัฏ ระบุ เฝ้ารออยู่ว่า เมื่อเหตุเกิดขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. ในที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะออกมาอย่างไรบ้าง จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร แต่ผ่านไปเกือบ1สัปดาห์ ต้องบอกว่าการแสดงท่าทีไม่ชัดเจน จนกระทั่งวันที่ 10 ก.พ. ผู้ก่อเหตุเหิมเกริมไปทำโพลที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม จนกระทั่งมีการกระทบกระทั่งกับอีกฝ่ายที่ไม่พอใจ ยืนยันว่า ไม่อยากซ้ำเติมความร้าวฉานที่เกิดขึ้นต่อทั้ง 2 ฝั่ง แต่ไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้อีก หากเราไม่รีบบริหารจัดการสถานการณ์ จะบานปลายไปสู่ความแตกแยกประทุไปสู่ระดับประเทศ

จึงขอส่งสัญญาณและเสนอไปยังรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดดำเนินการยับยั้งไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ดังนี้

1. ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทันที ไม่ใช่เป็นการล่าแม่มด หรือต้องการประหัตถ์ประหารใช้ศาลเตี้ยวินิจฉัย แต่เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การใช้สิทธิเสรีภาพมีกรอบชัดเจนต้องไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่นและไม่ทำผิดกฎหมาย

2. ขอให้มีการทบทวนปรับปรุงระเบียบและแผนมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากบริบท และภัยคุกคามเปลี่ยนไป ให้มีความเข้มงวด กระชับ ชัดเจน มีเจ้าภาพ เหมาะสมทันสมัย มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุ มีขอบเขตพื้นที่แบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำจนกลายเป็นแฟชั่น หรือค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้น

เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่อาจกังวลว่าจะมีความเชื่อมโยงไปสู่ความยัดแย้งทางการเมือง หากปฏิบัติเข้มงวดไป จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ แต่ผมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะตำรวจไม่ใช่เซลล์ที่ต้องมาคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า ผู้ก่อเหตุกระทำการอย่างเหิมเกริมท้าทาย แต่เจ้าหน้าที่ดำเนินการล่าช้าไป ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 อัปเดตแล้ว ระเบียบและมาตการดังกล่าวต้องอัปเดตด้วย ภารกิจถวายความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องดำเนินการแบบไร้รอยต่อ

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

3. ที่สำคัญที่สุด คือต้องประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน ว่าสามารถทำอะไรบ้าง อาจมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และที่สำคัญที่สุด ประชาชนจะต้องทำตัวอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า ภารกิจการถวายความปลอดภัย ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณพระเมตตา พยายามให้การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ หรือเส้นทางการสัญจรรบกวนประชาชนให้น้อยที่สุด

ผมเชื่อว่า มีประชาชนหลายคนต้องการให้ความร่วมมือ และช่วยเป็นหูเป็นตาไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะหากปล่อยปละละเลย ไม่เข้มงวด เหตุการณ์แบบนี้อาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว นำไปสู่ความวุ่นวายการปะทะให้หมู่ประชาชนจนแตกแยก ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากเห็นค่านิยมเป็นแฟชั่นไปบั่นทอนสถาบันหลักของประเทศ จึงขอให้มีการทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันเสาหลักของชาติ

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

‘ประชาธิปัตย์’ ชงเข้มมาตรการถวายความปลอดภัย ย้ำจุดยืนธำรงไว้-คุ้มครองสถาบันหลักของชาติ ซัดพฤติกรรมคุกคาม เกินยอมรับได้

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องการถวายรักษาความปลอดภัย ว่า เนื่องจากตนและ สส.พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนเรื่องให้ความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การธำรงไว้ซึ่งการบัญญัติการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 และเห็นว่า การถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จกรมสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอญัตติดังกล่าว และไม่อาจเพิกเฉยได้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สภามีมติส่งความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาและให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม รับไปพิจารณาด้วย

พฤติกรรมการคุกคามดังกล่าว เป็นการกระทำอันไม่บังควรอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นการกระทำเกินกว่าที่คนไทยที่จงรักภักดีทั้งประเทศจะยอมรับได้ เป็นการย่ำยีพระผู้ทรงเป็นหัวใจของประชาชน และการที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนน ยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาที่คุณแก่พสกนิกรอย่างชัดแจ้งเหนือคำบรรยายใด แม้จะทรงงานหนัก ก็ต้องเสด็จให้ทันเวลา แม้สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย คือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพ ต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด และต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฏหมาย เช่น อารยะประเทศอื่นทำกันด้วย

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

ทั้งนี้ เห็นว่าผู้มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย นอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้ว กลไกสำคัญหนึ่ง คือ รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า และใน พ.ร.บ.การถวายรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ได้ระบุไว้ชัด ในมาตรา 6 ว่า ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ที่ประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย

ติง ‘นายกฯ-ฝ่ายเกี่ยวข้อง’ เทคแอ็คชั่นอืด แนะกระตือรือร้นบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด

ผมไม่ประสงค์นำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าผู้สั่งปฏิบัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับว่า ท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า เหตุเกิดวันที่ 4 ก.พ. เวลาล่วงเลยมาวันที่ 10 ก.พ. ได้เกิดเหตุปะทะกันขึ้นตรงทางเชื่อมสถานีบีทีเอสสยาม ถัดมาอีกวันรุ่งขึ้น 11 ก.พ. หลังเกิดเหตุ 7-8 วัน นายกฯ ถึงส่งสัญญาณเรียก ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง มาหารือหามาตรการรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

อย่างไรก็ตาม ขอเสนอว่า รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฏหมายที่กำหนดไว้ให้สมพระเกียรติ ด้วยความสำนึกกระตือรือร้น ให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรมบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใดเพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาฯ

และในกรรมาธิการวิสามัญศึกษาตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นมาอีก

และเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ไม่สมควรส่งเสริมให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบว่าสมควรจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.การรักษาถวายความปลอดภัยหรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะกับผู้ละเมิดกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบัน เมื่อเกิดเหตุ ต้องมีการนำกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงใช้ พร้อมทั้งทบทวนกฎ ระเบียบ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์