ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยใช้วิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคลตามลำดับรายชื่อ สส.เพื่อลงคะแนน
โดยทาง สรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ซึ่งทาง แพทองธาร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้รับการเสนอชื่อเพียงรายเดียว ไม่มีบุคคลอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจากพรรคอื่น
อย่างไรก็ตาม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นเสนอให้มีการเปิดอภิปรายผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ แต่ทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย และควรให้มีการโหวตลงคะแนนทันที เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบวาระ
อาทิ อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมฯ ดังนั้น ควรให้ขั้นตอนกระบวนการการเลือกนายกฯ แล้วเสร็จ จนมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แล้วค่อยใช้โอกาสนั้นอภิปรายถึงคุณสมบัติ
ขณะที่ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิป 2 ฝ่าย ตกลงกันก่อนหน้านี้ว่า จะอภิปรายในเชิงเสนอแนะ หรือแนะนำเท่านั้น โดยขอให้ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ดังนั้น หากจะมีการอภิปราย ต้องอยู่ในประเด็น หากก้าวก่ายไปเรื่องอื่น อาจมีการประท้วง จึงอยากให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประณีประนอม
ทางด้าน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะฝ่ายค้าน ยืนยันว่า จะไม่อภิปรายถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของนายกฯ แต่จะขออภิปรายเพียงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีนายกฯ มาบริหารประเทศเท่านั้น
เมื่อมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีการอภิปราย และไม่ต้องการให้เปิดอภิปราย ควรดำเนินการตามระเบียบวาระ เข้าสู่การโหวตลงคะแนน ทางประธานสภาฯ ชี้แจงว่า จะไม่ใช่สิทธิ์ชี้ขาดว่าจะเลือกแบบใด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชุมของสภาฯ
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ มีผู้รับรองถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ถือว่าเป็นญัตติแล้ว จึงสามารถอภิปรายได้ ถือเป็นหลักทั่วไปที่ทำมาตลอดในสภาฯ
แต่ทาง ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ไม่ใช่ญัตติ เนื่องจากการความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอตามรัฐธรมนูญ ไม่ใช่เป็นการเสนอตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ จึงไม่จำเป็นต้องอภิปราย ดังนั้น การวินิจฉัยของประธานที่ประชุมครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป
เมื่อมีการเปิดให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแล้ว ฐานะประธานในที่ประชุม เห็นควรให้เป็นไปตามที่วิป 2 ฝ่าย ตกลงกันก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดการประณีประนอม คือเปิดให้มีการอภิปรายชี้แนะ เป็นเวลาไม่เกิน 20 นาที โดยไม่มีการอภิปรายแตะไปถึงคุณสมบัติ เนื่องจากสภาฯ ไม่มีหน้าที่ตัดสินเรื่องนี้ได้ เพราะมีองค์กรดำเนินการอยู่
จากนั้น ได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย โดย ฐากร ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก โดยชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่สภาฯ จะมีสิทธิ์ใช้อำนาจเลือกนายกฯ ด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านวุฒิสภา ท่ามกลางสภาวะขาลงด้านเศรษฐกิจ
วันนี้ ภูเขาอีกลูกหนึ่ง คือภูเขาทางการเมืองเข้ามาทับซ้อน จนประชาชนจะทนอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกร้องจากนายกฯ จะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์
‘หัวหน้าพรรคประชาชน’ ชวนแก้อำนาจศาล รธน.
ในคิวของ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้อภิปรายชี้ให้เห็นถึง ‘ขบวนการนิติสงคราม’ และการยุบพรรคหลายครั้งหลายหน ซึ่งมี สส.หลายคนล้วนเป็นเหยื่อการตัดสินทางการเมืองที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงต้องวางอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติจนล้นเกิน ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนเห็นปัญหาเช่นเดียวกันว่า หลายคนไม่สมควรถูกประหารชีวิตทางการเมือง มาตรฐานทางจริยธรรมควรเป็นเงื่อนไข กติกาที่ สส.ตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กติกาที่ให้องค์กรตุลาการมาวินิจฉัยโดยใช้มาตรวัดทางกฎหมาย
บางช่วงบางตอน ณัฐพงษ์ ชี้ให้เห็นด้วยว่า 7 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซ้ำร้ายยังถูกไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งจากกล่มคนชั้นนำ ทุบทำลาย สส.ที่ได้รับอำนาจสูงสุดจากประชชน ดังนั้น โจทย์ใหญ่คือสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ ไม่ให้เกิดสุญญากาศการเมือง ภารกิจสำคัญ สส. คือเชิญชวนสานต่อภารกิจปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ให้เป็นไปตามหลักสากล และปรับกติกาพรรคการเมืองให้ ‘เกิดขึ้นง่าย ตายยาก’ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ระบอบประชาธิปไตย