ประวัติศาสตร์ 2 ด้าน ‘ฮุน มาเนต’ ศิษย์นายร้อย ‘เวสต์พอยต์’

7 ก.พ. 2567 - 08:12

  • เปรียบเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ 2 ด้าน ศิษย์เก่า ‘นายร้อยเวสต์พ้อยต์’ สหรัฐฯ สำหรับผู้นำกัมพูชาคนใหม่ ‘พล.อ.ฮุน มาเนต’ ที่เติบโตจากรั้ว ‘กองทัพกัมพูชา’ ผ่านกองพลป้องกันก่อการร้าย ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ตอนอายุ 41 ปี

  • ย้อนสัมพันธ์ ‘ฮุน เซน’ กับอดีต ‘ผู้นำทหาร’ ฝั่งไทย ที่แนบชิดถึงปัจจุบัน ผ่านปฏิบัติการยุคสงครามเย็น การเจรจาเขมร 4 ฝ่าย

  • จับตา ‘ฮุน มาเนต’ นายกฯ กัมพูชา ในบทบาทอดีต ‘นายทหาร’ กับ ‘ด็อกเตอร์’ ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ขึ้นเป็น ‘ผู้นำประเทศ’ สืบต่อจาก ‘บิดา’

Hun-Manet-Prime-Minister-Cambodia-Military-SPACEBAR-Hero.jpg

‘ฮุน เซน’ อดีตนายกฯกัมพูชา ที่นั่งในตำแหน่งยาวนานที่สุด 38 ปี ได้ส่งต่อ ‘มรดกการเมือง’ ให้กับ ‘ทายาททางสายเลือด’ ในการขึ้นเป็น นายกฯ นั่นคือ ‘พล.อ.ฮุน มาเนต’ หลัง ‘พรรคประชาชน’ ของ ‘ฮุน เซน’ ครองเสียงข้างมากในสภา 120 จาก 125 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 66

สำหรับ ‘ฮุน มาเนต’ เป็นบุตรชายคนโตของ ‘ฮุน เซน’ ที่เติบโตในเส้นทาง ‘นายทหาร’ ในกองทัพกัมพูชา โดยเขาเคยเข้าเรียนที่ ‘วิทยาลัยการทหารสหรัฐฯ’ หรือ ‘เวสต์พอยต์’ โดยเป็นบัณฑิต ‘ชาวกัมพูชาคนแรก’ ของสถาบันนี้ 

แต่ประวัติศาสตร์มี 2 ด้าน ว่า ‘ฮุน มาเนต’ ไปเรียน ‘นายร้อยเวสต์พอยต์’ ใช้โควต้า ‘นายร้อย จปร.’ ของไทยหรือไม่?

ด้านหนึ่งระบุว่า ในยุครัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ที่มี‘บิ๊กจิ๋ว’พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ช่วงปี 2538-2539 ที่ พล.อ.ชวลิต มีสายสัมพันธ์ที่แนบชิดบรรดา ‘ผู้นำกัมพูชา’ ในขณะนั้น และในขณะนั้นกัมพูชามีนายกฯ 2 คน ‘เจ้ารณฤทธิ์’จากพรรคฟุนซินเปก และ ‘ฮุน เซน’จากพรรคประชาชนกัมพูชา 

ด้วยสัมพันธ์ของ พล.อ.ชวลิต กับ ‘ฮุน เซน’ ที่แนบแน่นกว่า 40 ปี ตั้งแต่ยุคเปลี่ยน ‘สนามรบเป็นสนามการค้า’ ในพื้นที่ ‘คาบสมุทรอินโดจีน’ ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ที่ พล.อ.ชวลิต มีบทบาทสำคัญ ผ่านการเจรจาร่วม ‘เขมร 4 ฝ่าย’ ได้แก่ ฝ่ายเจ้าสีหนุ ฝ่ายเขมรเสรี ฝ่ายเขมรแดง และฝ่ายเฮงสัมริน-ฮุนเซน เพื่อยุติการสู้รบในกัมพูชา หรือ ‘สงครามกลางเมือง’

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ช่วงปี 2513 มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก 315 (ศปก.ทบ.315) ยุคเขมร 3 ฝ่าย ที่มีภารกิจ รวบรวมข่าวสารทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้ามในทิศทางด้านกัมพูชา , ฝ่ายอำนวยการของผู้บังคับบัญชา ในเรื่องการข่าวด้านกัมพูชาและเวียดนาม , ปฏิบัติการพิเศษมาตรการต่างๆ

ซึ่งหน่วย ศปก.ทบ.315 ที่มี พล.อ.ชวลิต เป็นแกนนำ มีชื่อจัดตั้งว่า “หัวหน้าไชโย” โดยมี ‘บิ๊กอ๊อด’พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ และ ‘บิ๊กบัง’พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. ร่วมปฏิบัติการใน ศปก.ทบ.315 ด้วย โดย พล.อ.วิชิต มีชื่อจัดตั้งว่า “หัวหน้ารณยุทธ์” ส่วน พล.อ.สนธิ มีชื่อจัดตั้งว่า “หัวหน้านาวิก”

ทั้งนี้มี ‘หน่วยปฏิบัติการหมายเลข 838’ หน่วยลูก ศปก.ทบ.315 ที่จัดตั้งโดย พล.อ.ชวลิต ที่มี พล.อ.สนธิ และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่มีชื่อจัดตั้งว่า “หัวหน้าชัยสิทธิ์ อิสสละ” ร่วมทีม 838 

สำหรับผู้เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง ‘บิ๊กจิ๋ว-ฮุน เซน’ นั่นคือ พล.อ.วิชิต กับ พล.อ.เตีย บัญ

สำหรับ พล.อ.วิชิต จบ ตท.9 รุ่นพี่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ตท.10 ช่วงที่ปฏิบัติภารกิจ ศปก.315 ได้พบกับ ‘พลพรรคไทยเกาะกง’ เป็นจุดเริ่มต้นได้พบกับ พล.อ.เตีย บัญ ซึ่งในขณะนั้นก็ทำให้ พล.อ.ชวลิต ได้พบกับ พล.อ.เตีย บัญ จนมีความสัมพันธ์ที่แนบชิดถึงปัจจุบัน อีกทั้ง พล.อ.วิชิต ได้ตั้ง ‘สมาคมและเศรษฐกิจไทย-จีน’ ได้เชิญ พล.อ.ชวลิต มาเป็นนายกสมาคมฯ

แต่ชุดข้อมูลเรื่องการใช้ ‘โควต้า จปร.’ ไม่มี ‘คำคอนเฟิร์ม’ ว่าจริงหรือไม่ และยังไม่มี ‘หลักฐาน’ เพียงพอ

ประวัติศาสตร์อีกด้าน ระบุว่า สหรัฐฯ ให้ทุนและโควต้ากับ ‘ฮุต มาเนต’ โดยตรง ที่ในขณะนั้นเป็น ‘ยุคสิ้นสุดสงครามเย็น’ ที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในกัมพูชามากขึ้น

ย้อนไปเมื่อปี 2554 ‘ฮุน เซน’ เคยออกมาเปิดเผยว่า ‘ฮุน มาเนต’ บุตรชายคนโต ไปเรียน ร.ร.นายร้อยเวสต์พ้อยต์ ด้วยเงินทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมค่าเล่าเรียน 245,000 ดอลลาร์

‘ฮุน มาเนต’ จบนายร้อยเวสต์พอยต์ ปี2542 กลับมารับราชการทหา รติดยศ ‘ร้อยตรี’ สังกัดกองพลน้อยที่ 70 ที่มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย จากนั้น 10 ปีต่อมา ‘ฮุน มาเนต’ ได้เลื่อนยศเป็น ‘นายพลจัตวา’ และได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ผู้นำ’ หรือที่เรียกว่า หน่วยองครักษ์ฮุน เซน

ผ่านมาอีกราว 2 ปีกว่า (ม.ค.54) พล.อ.เตีย บัญ รมว.กลาโหมกัมพูชา ในขณะนั้น เลื่อนยศ ‘ฮุน มาเนต’ เป็น ‘พลตรี’ ในวัย 33 ปี และได้รับแต่งตั้งเป็น ‘ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 70’ ที่มีภารกิจทั้งป้องกันก่อการร้ายและภารกิจชายแดน

จนมาถึงปี 2562 พล.อ.ฮุน มาเนต ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น รักษาการเสนาธิการทหาร และ ผู้บัญชาการกองทัพบกกัมพูชา ในวัย 41 ปีเท่านั้น

ในด้านวิชาการ ‘ฮุน มาเนต’ จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) และ ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol)

จึงต้องจับตาบทบาท ‘ฮุน มาเนต’ ที่เป็นทั้ง ‘อดีตนายทหาร-ดร.เศรษฐศาสตร์’ ในการขึ้นเป็น ‘ผู้นำกัมพูชา’ ต่อจากบิดา การพัฒนาและความสัมพันธ์ ‘ไทย-กัมพูชา’ ยุคหลัง ‘เปลี่ยนผ่านการเมือง’ ในซีกของไทย คือ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่มาอยู่ในซีกอนุรักษ์นิยม กับ ‘ฮุน เซน’ ที่ส่งบุตรชาย มาเป็น ‘ทายาทการเมือง’ เรียบร้อยแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์