‘นายกฯ’ ยัน MOU44 สำคัญไม่ควรยกเลิก ย้ำเขตแดนต้องชัดเจนก่อนเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเล

8 พ.ย. 2567 - 05:07

  • ‘นายกฯ’ ยัน MOU44 สำคัญ! และไม่ควรยกเลิก หวั่นกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

  • ย้ำไทยต้องคุยกับกัมพูชาเรื่องเขตแดนให้ชัดเจน ก่อนเจรจาเรื่องผลประโยชน์ใต้ทะเล

ing_shinawatra_8_nov_2024_SPACEBAR_Hero_b5b0e2afbe.jpg

กรณี พรรคพลังประชารัฐ ออกมาแสดงท่าทีกดดันให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 หรือ บันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเล (พื้นที่ OCA - Overlapping Claims Area) ซึ่งเป็นพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทั้ง 2 ประเทศต่างอ้างสิทธิ์ครอบครอง โดยพรรคพลังประชารัฐมองว่ารายละเอียดในข้อตกลงยังมีปัญหาทางกฎหมาย และยังไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา 

ล่าสุดมีความเห็นเรื่องนี้จาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาชี้แจงว่า แม้ตัวกฎหมายจะยังไม่เข้าสภาฯ แต่เรายึดหลักข้อตกลงนี้อยู่ เพราะเป็นหลักการเปิดเสรีในการเจรจา และทั้ง 2 ประเทศตกลงร่วมกันว่าจะเจรจา ส่วนข้อกังวลว่าไทยอาจโดนฟ้อง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ถ้ามีการยกเลิกฝ่ายเดียว

ดังนั้น การที่เราคุยกันระหว่างประเทศนั้นสำคัญมาก และหากจะยกเลิกต้องดูผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมยกตัวอย่างว่าให้ลองคิดง่ายๆ ถ้าเราเป็นเพื่อนกัน แล้วจะยกเลิกบางอย่างที่เราแชร์ร่วมกัน เราก็ต้องตกลงกัน มันทำได้แต่ไม่ควรไปยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ย้ำว่าต้องคุยกันก่อน 

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ส่วนที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร และส่วนตัวมีโอกาสได้เจอกับผู้นำกัมพูชาในช่วงที่ไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดย ผู้นำกัมพูชา ไม่ได้มีปัญหาอะไร และยังออกปากว่าถ้าประเทศไทยมีอะไรให้ทางกัมพูชาซัพพอร์ตสามารถบอกได้เลย

พร้อมย้ำว่า สิ่งสำคัญจริงๆ คือการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า เรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร เพียงแค่การขีดเส้นของทั้ง 2 ประเทศไม่เหมือนกัน จึงต้องเกิด MOU44 ขึ้นมา เพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อ

ส่วนความคืบหน้าเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี คาดว่า การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) น่าจะเสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ 18 พ.ย. นี้ และรัฐบาลได้แจ้งเรื่องนี้ให้ทางกัมพูชารับทราบแล้ว ซึ่งการเจรจาทุกอย่างจะหารือร่วมกันผ่านคณะกรรมการชุดนี้ 

ส่วนข้อสังเกตว่า MOU 44 ยังไม่สมบูรณ์มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก คณะกรรมการฯ จะหารือเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งยืนอยู่ด้วยเป็นผู้ตอบคำถาม โดย ภูมิธรรม ระบุว่า MOU 44 เป็นข้อตกลงกันว่าจะคุยเรื่องการขยายไหล่ทวีป แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา เพราะสมบูรณ์โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่หากตกลงกันเรียบร้อยแล้ว และมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาต้องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง แต่ตรงนี้ถือว่าสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ย้ำว่าเป็นข้อตกลงร่วมกัน

เมื่อถามว่าแม้จะเป็นข้อตกลง แต่เป็นเรื่องของเขตแดนจำเป็นต้องเข้าสภาก่อนหรือไม่ ภูมิธรรม อธิบายว่า กัมพูชาประกาศเขตแดน ปี 2515 ขณะที่ประเทศไทยประกาศใน ปี 2516 หมายความว่า ต่างฝ่ายต่างมีเส้นแบ่งของตัวเองอยู่ ดังนั้น MOU 44 จึงเกิดขึ้นเพื่อหาข้อตกลงกันเรื่องนี้ 

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า MOU 44 นี้ ไม่ได้เป็นตัวบอกหรือเป็นตัวชี้ว่าของฉันหรือของเธอ แต่เป็น MOU จากการที่ของฉันและของเธอไม่เหมือนกัน เราต้องคุยกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าสภา มันเป็นการตกลงระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าหากมีข้อตกลงเพิ่มเติมก็ต้องคุยผ่านคณะกรรมการอย่างเป็นกิจจะ ขีดเส้นอะไรเรียบร้อยแล้วค่อยเข้าสภา

เมื่อถามว่าจะเป็นอุปสรรคอะไรหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) แต่กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่เข้าร่วม ภูมิธรรม อธิบายว่า  สนธิสัญญาที่เจนีวา ประกาศกฎหมายทางทะเลไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม คุณก็ต้องยอมรับอนุสัญญานี้ ฉะนั้น ในการเจรจาทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบนี้ เพราะกรอบนี้เป็นกรอบที่คุมทั่วโลกทุกประเทศ 

ย้ำว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลยใน MOUพูดชัดเจน และแสดงออกชัดเจนว่าเป็นอนุสนธิสัญญา เป็นข้อตกลงร่วมกันของสองฝ่าย เพื่อเจรจาเรื่องเขตแดน วัตถุประสงค์เป้าหมายมีแค่นี้ และหลังจากคุยกันแล้วได้ผลอะไรก็มาว่ากันอีกที เราจึงต้องรีบตั้งคณะกรรมการของเรา เพราะทางกัมพูชาเขามีอยู่แล้ว เมื่อตั้งเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งเจรจา ซึ่งเป็นส่วนที่ผูกพันกันสองส่วน เรื่องผลประโยชน์ทางทะเล และเขตแดนที่ชัดเจน 

เมื่อถามย้ำว่า เข้าใจความตั้งใจของรัฐบาล แต่ในเมื่อมีปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันจะต้องชะลอหรือหยุด MOU44 ไว้ก่อนหรือไม่ ให้เกิดความชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า

“เราชะลอได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมีคือคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นก็ไม่ทราบว่ากัมพูชาจะต้องคุยกับใครอย่างไร มันก็จะไม่เป็นหลักฐานในการคุย การตั้งคณะกรรมการนั้นสำคัญ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเร่งเรื่องเดียว ส่วนเนื้อหาข้างในไม่ต้องเร่ง ไม่จำเป็น ดีแล้วที่สื่อมวลชนถามเรื่องนี้ จริงๆ แล้วได้คุยกับกัมพูชา ทางนั้นพูดเหมือนกันว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรเลย แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หากเราตั้งคณะกรรมการเสร็จ ซึ่งรัฐบาลเร่งอยู่แล้ว ถ้าตั้งเสร็จก็จะง่ายขึ้น ทุกอย่างจะถูกตรวจสอบ”

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนประเด็นที่ กองทัพเรือ เผยแพร่คลิปผ่านโซเชียล ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตรงกับที่ นายกฯ แถลงก่อนหน้านี้ แต่พื้นที่โดยรอบ 200 ไมล์ทะเล ต้องเป็นของประเทศไทยด้วยตามกฎหมาย UNCLOS นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวจะให้เลขาฯ ส่งแผนที่ให้เห็นว่าเขาแบ่งกันอย่างไร จะได้เห็นว่าเส้นปี 2515 ที่กัมพูชาขีด และ 2516 ที่เราขีดไม่เหมือนกัน แต่ที่ทางกัมพูชาขีดเขาได้เว้นอ้อมเกาะกูดของเราชัดเจน ย้ำว่าทางกัมพูชาไม่มีปัญหา และเขาก็ไม่อยากจะเป็นปัญหาเหมือนกัน 

เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าการเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเลจะต้องชะลอไปก่อน เพื่อรอให้เกิดความชัดเจน นายกฯ ย้ำว่า ใช่ ต้องชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์