8 พรรคพันธมิตร กับ ‘ร้อนใน’ ที่ต้องเร่งรักษา

25 พ.ค. 2566 - 04:00

  • อ่านปรากฏการณ์ ‘ร้อนใน’ ของ (ว่าที่) พรรคร่วมรัฐบาล หลังเกิดวิวาทะว่อนโซเชียล หากไม่รีบแก้เหตุการณ์บานปลาย การจัดตั้งรัฐบาลในฝันอาจล้มเหลว

Internal-problems-of-liberal-political-parties-SPACEBAR-Thumbnail
องคาพยพร่วม ‘รัฐบาลพิธา’ ทั้ง 8 พรรค จัดแถลงข่าวลงนามข้อตกลงร่วมฯ ในวันเดียวกันกับการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ย้ำชัยขั้วอำนาจเก่า ‘รัฐบาล 3 ป.’ ที่พ่ายศึกเลือกตั้งใหญ่คำทายของที่เซียนการเมืองทายทัก กระนั้นชัยชนะครั้งนี้ยังไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ได้รับคำขนานนามว่า ‘ถูกดีไซน์มาเพื่อคนบางกลุ่ม’ ทำให้คณะจัดตั้งรัฐบาล ต้องคว้านหาเสียงมาให้ครบเต็มตุ่ม 376 เสียง มิฉะนั้นก็ต้องพึ่งพาเสียงจาก ‘สภาสูง’ ที่แม้จะออดอ้อนหรือกดดันด้วยวิธีการใดๆ ส.ว. ผู้ทรงเกียรติ (ส่วนใหญ่) ก็ยังไร้ท่าทีจะโหวตให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ขึ้นเป็น สร.1 

ศึกนอกว่าสาหัส ศึกในก็ร้อนแรงมิต่างกัน ให้หลังชั่วข้ามคืนหลังการเซ็น MOU ก็เกิดกระแสแปรปรวนอย่างฉับพลัน จากกรณีวิวาทะระหว่าง ‘ผู้พันปุ่น’ - น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กับ ‘หมอชลน่าน’ (ศรีแก้ว) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในประเด็น ‘ผมไม่ได้กลัวการเสียมารยาท มากไปกว่ากลัวการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ’ ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งกระแสตีกลับไปที่ ‘แด๊ดดี้ปุ่น’ ที่แม้จะออกมาตัวยืนหยัดว่าต้องการคำรับรองที่ชัดเจน แต่การนี้ย่อมดูเสียมารยาททางการเมือง โดยเฉพาะช่วงที่ยิงคำถามออกไป เป็นช่วงที่พรรคเพื่อไทยตกเป็นตำบลกระสุนตกเรื่องการจับมือข้ามขั้วกับ ‘ประวิตร’ 

ขณะที่ฟากฝั่งแกนนำรัฐบาลอย่าง ‘ก้าวไกล’ ก็หวั่นไหวเฉกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกรณี ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ออกมาโพสต์ตั้งคำถามถึง MOU เรื่องการใช้ถ้อยคำ และกรณีการไม่ระบุเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในข้อข้อตกลงและล่าสุดยังปลุกเร้า ‘พรรคส้ม’ อย่ายกตำแหน่ง ‘ประธานสภาฯ’ ให้ใครเป็นอันขาด ทำให้ ‘อดิศร เพียงเกษ’ ต้องออกมาให้ความเห็นว่า พรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ ส.ส. ยังไม่ถึงครึ่งของสภาล่าง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่งต้องแลนด์สไลด์เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย หาใช่การจะ ‘กินรวบ’ ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ  

เรื่อง MOU วิเคราะห์กันซ้ำไปซ้ำมาบรรจบปลายทาง ‘ความปรองดอง’ ที่ ‘พิธา’ พยายามแสวงหาจุดร่วม - สงวนจุดต่าง ลดความบาดหมางด้านนโยบายกับพรรคพันธมิตร ยอมกลืนน้ำลายตัดประเด็นแก้ไข ม.112 ออกไปจากร่าง สร้างแรงตกกระทบให้กับแฟนคลับที่คาดหวัง แต่กำขี้ย่อมดีกว่ากำตด มีหลายคนที่เลือกก้าวไกลเพราะนโยบายอื่นๆ หาใช่มีแค่ประเด็นเดียวที่ชูโรง  

ส่วนกรณีนี้การชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตามประเพณีของรัฐสภา พรรคที่ได้เสียงมาเป็นลำดับที่ 1 จะมีความชอบธรรมในการนั่งบัลลังก์ ‘ประธาน’ แต่หากย้อนกลับไป ปี 2562 ประธานสภาฯ ก็มิได้มาจากพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะไม่แบ่งตำแหน่งสำคัญให้กับพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนน้อยกว่าแค่ 10 เก้าอี้ เพราะถ้าเพื่อไทยทนไม่ไหว เกิดถอนตัวไปแบบ ‘ปลั๊กหลุด’ ก้าวไกลจะหมดโอกาสแทบไม่มีหวังจะได้เป็นรัฐบาลในฝันเลยทีเดียว 

พร้อมกันนี้ ประเด็นต่างๆ ถูกนำไปพูดบนโลกโซเชียลผสมโรงดราม่าการเมืองขั้วเสรีนิยม จนติดลมบนขึ้นเป็นเทรนด์อันดับต้นๆ แอปฯ นกฟ้า ดันอุณหภูมิทางการเมืองรุมๆ ให้ร้อนรุ่มปรอทแตก เรื่องเหล่านี้ผู้เขียนไม่ขอลงรายละเอียด เพราะยืดยาวเทียบเท่ามหากาพย์ย่อมๆ และเชื่อว่าทุกท่านที่เข้ามาอ่านคงพอเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพอสังเขปแล้ว บางท่านอ่านจะทราบปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์มากกว่าข้าพเจ้าเสียอีก  

อย่างไรก็ดี การเมืองคือเกมอำนาจ หากไม่อธิบายปรากฏการณ์ในเชิงวิชาการ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก็มิต่างอะไรกับข่าวปิงปองหรือประเด็นปาหี่ 

ยกหูหา ‘รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งปุจฉาขยายความสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยอาจารย์ยุทธพร อธิบายว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นภาวะปรกติของการจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มักมีความเห็นที่แตกต่าง มีปัจจัยผกผันหลายประการในการจัดตั้งรัฐบาล ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ กลุ่มย่อยทางการเมือง (Political faction) ที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละพรรคมิตรทั้ง 8 

“วันนี้เราอาจเห็นภาพของพรรคก้าวไกลที่เคลียกับพรรคต่างๆ ผ่าน MOU แต่ในระดับมุ้งทางการเมืองผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละมุ้งจะมีจุดยืนและผลประโยชน์ที่แตกต่างออกไป สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นอาจมาจากการขับเคลื่อนของมุ้งเหล่านี้เข้ามามีส่วนด้วย แต่ท้ายที่สุดถ้ามันบานปลายก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นการถอนตัวเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างพลิกผันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเมืองแบบไทยๆ” 

อาจารย์ยุทธพร กล่าวต่อว่า แม้การทำ MOU จะเป็นสิ่งใหม่ในการเมืองไทย แต่ในมุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของพรรคก้าวไกลด้วย ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่ปัญหาระดับใหญ่ หรือไม่ใช่ปัญหาระดับพรรคแกนนำ แต่เป็นเพียงระดับย่อย ซึ่งสามารถขยายผลไปถึงเสถียรภาพของการจัดรัฐบาลได้ 

ในส่วนประเด็นวิวาทะที่เกิดขึ้นทั้งจากภาคการเมืองและประชาชน อาจารย์ยุทธพรมองว่า วันนี้ยังอยู่ในสภาวะของรัฐบาลผสม ดังนั้นไม่มีทางที่จะได้ทุกอย่างตามใจปรารถนาของกองเชียร์ได้ ทุกคนยังคงมีความเห็นที่แตกต่าง แต่พยายามหาเจตจำนงร่วม เพื่อให้เดินต่อไปข้างหน้า ยิ่งหากเจาะลึกโครงสร้าง จะเห็นชัดว่า พรรครัฐบาลมีสองพรรคใหญ่อย่างก้าวไกลและเพื่อไทยเป็นกำลังหลัก ที่เหลือเป็นพรรคระดับต่ำสิบ ถ้าเกิดกรณีที่สองพรรคนี้ไม่สามารถไปด้วยกันได้แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลก็จะไม่ถึงฝั่งฝัน  

“ผมคิดว่าวันนี้ในภาวะรัฐบาลผสมมันไม่ง่าย กับการที่จะหาจุดยืนที่ตรงกับใจเราทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดการเมืองคือการแสวงหามิตร เคารพเสียงส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันต้องฟังเสียงข้างน้อยที่เป็นองคาพยพด้วย” ยุทธพร กล่าวทิ้งท้าย 

ความเห็นของอาจารย์ยุทธพร สอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้พูดคุยกับ ‘รศ.ดร.โคทม อารียา’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักสันติวิธี ที่ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของประชาธิปไตย ที่แม้จะเห็นการตอบโต้ไปมาบ้างบนหน้าสื่อบ้าง แต่โดยรวมถือว่ากลมเกลียว เห็นได้ชัดเจนจากการร่วมลงนาม MOU ก็ถือว่าเป็นการรับประกันระดับหนึ่งแล้ว ที่เหลือปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของการตกลงร่วมกันภายใน ซึ่งเขาคิดว่าทุกคนสามารถแก้ปัญหาได้ 

“ปล่อยให้เขาโต้กันไปด้วยเหตุผล ส่วนบนโลกโซเชียลที่เป็นเรื่องระหว่างติ่งของแต่ละพรรค นั้นอย่าไม่ได้เหมารวมว่าเป็นแฟนคลับทั้งหมด ทุกควรจะนิ่งและคอยอธิบายเหตุผลซึ่งกันและกัน สื่อเองก็ไม่ควรโหนกระแสและทำให้ความเห็นต่างบนโซเชียลกลายเป็นประเด็นใหญ่ ให้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ปล่อยให้เขาจัดการกันเอง” รศ.ดร. โคทม กล่าว 

การเมืองแบบไทยๆ ภาคพิศดาร ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ย่อมทำให้การแจ้งเกิดรัฐบาลแห่งความฝันมิใช่เรื่องง่าย และยิ่งไปกว่าการขอให้ ส.ว. ฟรีโหวตยกมือให้แล้ว 8 พรรคพันธมิตร ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภายในที่รุมเร้า เสมือน ‘ร้อนใน’ ถ้าไม่รักษาก็ไม่วายเกิดแผลใหญ่  

‘แสวงหาจุดร่วม - สงวนจุดต่าง’ 

หลงลืมข้อนี้ไป ความฝันก็ยากจะสำเร็จ...  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์