ความขัดแย้ง ‘อิสราเอล - ปาเลสไตน์’ ไม่ใช่ ‘สงครามศาสนา’

20 ต.ค. 2566 - 05:27

  • ฟังความเห็นนักตะวันออกกลางศึกษา กรณี ความขัดแย้ง ‘อิสราเอล - ปาเลสไตน’ ไม่้ใช่ ‘สงครามระหว่างศาสนา’

Israeli_Palestinian_War_is_not_a_struggle_for_religion_SPACEBAR_Hero_79bda6f970.jpg

ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง ‘อิสราเอล’ กับ ‘ปาเลสไตน์’ ที่นำโดย ‘กลุ่มฮามาส’ ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 13 วัน และยังไม่มีทีท่าว่าความรุนแรงจะยุติลงโดยเร็ว สร้างความปั่นป่วนให้ทั้งภายในประเทศ และเกิดกระแสการวิเคราะห์จากภายนอก ที่มักมีการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เพื่อหาชนวนเหตุสงคราม  

หนึ่งในนั้นคือการพยายามเชื่อมโยงว่าเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่าง ‘ศาสนา’ ซึ่งเมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องความเชื่อ อะไรๆ ก็จะดูอ่อนไหว และมักจะสะกิดความรุนแรงให้ทวีคูณได้ทุกเมื่อ ทั้งในประวัติศาสตร์สากลที่เรียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ อาทิ สงครามศักดิ์สิทธิ์ ‘ครูเสด’ หรือที่ร่วมสมัยอย่างเหตุการณ์ 911 ที่เกิดในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ  

แต่คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางหลายคน พยายามสื่อสารกับสาธารณชน อย่ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วนเป็นสงครามระหว่างศาสนิก แม้ในบริบทพื้นที่จะเต็มไปด้วยความหลากหลายทางความเชื่อ และชาติพันธุ์ที่ต่างกัน แต่อยากให้มองเป็นสงครามเชิงรัฐศาสตร์สมัยใหม่

Israeli_Palestinian_War_is_not_a_struggle_for_religion_SPACEBAR_Photo01_20aa589ac2.jpg

‘ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์’ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มศว.ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาวิชาการ ‘ชวนคุยชวนคิด วิกฤตความขัดแย้ง อิสราเอล - ฮามาส’ ที่จัดโดยศูนย์เอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อหลายวันก่อน ว่าการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหนือดินแดนตะวันออกกลางในครั้งนี้ ถือเป็นความรุนแรงที่ยากต่อการแสดงจุดยืนของไทยมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายทศวรรษ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพความปลอดภัยของคนไทยที่กำลังประสบอยู่ ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงมิอาจคาดเดาได้ เพราะทุกอย่างอาจดีขึ้นหรือแย่ลงได้เสมอ 

แม้รัฐบาลจะยังคงแสดงเจตนารมณ์เป็นกลางต่อเหตุการณ์ แต่เขา (มาโนชญ์) ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า คนนอก (ต่างประเทศ) จะมองไทยอย่างไร ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการอ่านสถานการณ์ และการพิจารณาจุดยืนในทุกก้าวย่าง  

โดยเฉพาะประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูด โดยใช้ศาสนาเข้ามาเป็นปมขัดแย้ง ซึ่งความจริงการปะทะมีแง่มุมที่ลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องเขตแดนทางรัฐศาสตร์ และเรื่องสิทธิทางการเมืองตามหลักมนุษยธรรม ที่มีน้ำหนักมากกว่าประเด็นทางความเชื่อและชาติพันธุ์ และเมื่อนานาชาตินำเรื่องความขัดแย้งทางศาสนามาตกผลึก อาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นได้ 

ดังนั้นประชาคมโลกและไทย จำเป็นต้องจิตแข็งและทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ว่าที่มาที่ไปคืออะไร เพราะถ้ามองในมุมศาสนาเพียงอย่างเดียว ย่อมถูกเชื่อมโยงให้เกิดความแย้งกระจายไปทั่วโลก แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง 

“คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเป็นฝ่ายขวา ในสังคมตะวันตกเขาจะได้รับข้อมูลอีกชุดเกี่ยวกับฮามาสจนรู้สึกโกรธแค้น ในขณะที่ชาวอาหรับหรือประชาคมอีกส่วนจะได้รับข้อมูลอีกแบบ ทำให้เกิดเหตุชายวัย 70 ปี แทงมุสลิมในอเมริกา และที่เบลเยียมก็เกิดเหตุลักษณะเดียวกัน (แต่กลับข้างกัน) นี่คือการมองเหตุการณ์แบบเชื่อเรื่องศาสนา ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ผมกลัวว่ามันจะสายเกินไป”  มาโนชญ์ อารีย์ กล่าว

Israeli_Palestinian_War_is_not_a_struggle_for_religion_SPACEBAR_Photo04_4f243c7fe3.jpg

สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของ ‘ดร.รุสตั้ม หวันสู’ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มศว. ที่มองว่าปัญหาสำคัญที่ควรโฟกัส คือประเด็นการพิพาทเหนือดินแดนผ่านการอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ เมื่อ 2000 ปีก่อน ระหว่าง ‘ผู้ยึดครอง’ และ ‘ผู้ถูกยึดครอง’ ซึ่งหากศึกษาจริง ๆ เป็นเรื่องความชอบธรรม - ไม่ชอบธรรม ไม่ใช่เรื่องความบาดหมางทางศาสนาแต่อย่างใด 

ซึ่งความขัดแย้งตลอด 75 ปี เริ่มตั้งแต่การสถาปนาประเทศอิสราเอล เหนือดินแดนปาเลสไตน์ คนภายนอกมักจะพยายามเชื่อมโยงว่าเป็นการปะทะกันระหว่างคน 2 ศาสนา - คน 2 ชาติพันธุ์ แต่หากลองวิเคราะห์จากข้อมูลจริงๆ จะพบว่า ความสูญเสียไม่ได้เกิดกับแค่มุสลิม และชาวยิวเท่านั้น แต่กลับมีชาวคริสต์เตียนที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบ และพบกับความสูญเสียอีกด้วย 

“ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างอิสลามกับยูดาย อันที่จริงทั้ง 2 ศาสนาก็มีความใกล้ชิดในทางประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน และชาวมุสลิมก็นับถือศาสดาของชาวยิวด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งจากการอ้างประวัติศาสตร์ระหว่าง ผู้ยึดครองแผ่นดิน กับผู้ที่ถูกยึดครองแผ่นดินมากกว่า” รุสตั้ม หวันสู กล่าวทิ้งท้าย

Israeli_Palestinian_War_is_not_a_struggle_for_religion_SPACEBAR_Photo03_15a4b84a79.jpg

รุสตั้ม กล่าวต่อว่า 2000 ปีก่อน ถึงแม้พื้นที่ดังกล่าวจะเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวยิว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนั้นก็มีชาวอาหรับที่อยู่อาศัยร่วมกันด้วย แต่เมื่อจักรวรรดิโรมันเข้ามายึดครอง และชาวยิวก่อกบฎจนต้องลี้ภัยไปต่างแดน จึงทำให้เหลือแต่ชาวอาหรับที่อยู่ในพื้นที่ต่อ และเมื่อปี 1948 ชาวยิวได้อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ ว่าเป็นดินแดนพันธะสัญญา หรือพื้นที่ที่พระเจ้ามอบไว้สำหรับชาวยิว ความขัดแย้งเชิงการแย่งชิงพื้นที่จึงเกิดขึ้น  

 “สำหรับชาวปาเลสไตน์เมื่อต้องถูกหั่นประเทศออกเป็นครึ่งนึง เขาก็ไม่ยอมเขาจึงต่อสู้มาจนถึงทุกวันนี้ หรือหากเปรียบเป็นรัฐเพื่อนบ้านของเราถ้าวันนึงมาอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เหนือพ้นที่ของเรา คิดว่าคนไทยคงไม่ยอมเช่นเดียวกัน สรุปคือมันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา” รุสตั้ม หวัน กล่าวทิ้งท้าย

Israeli_Palestinian_War_is_not_a_struggle_for_religion_SPACEBAR_Photo02_433bfc2a8f.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์