‘จุรินทร์’ มอง ปรับ ‘ครม.เศรษฐา’ ยืดเยื้อ

27 เมษายน 2567 - 03:23

Jurin-27apr2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘จุรินทร์’ มองการปรับ ‘ครม.เศรษฐา’ ครั้งนี้ยืดเยื้อ ชี้ไม่เกินความคาดหมาย ที่โผต้องไปผ่านความเห็นชอบจากใครบางคน

  • บอก ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น

  • จี้รัฐบาลต้องทำให้ถูกกฏหมาย คุ้มค่าประโยชน์ประเทศ ไม่ใช่พรรคการเมือง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมใหญ่ สามัญประจำปี 2567 ว่า การประชุมวันนี้เป็นไปตามกฏหมาย และมีวาระเรื่องการปรับเปลี่ยนข้อบังคับพรรค 

ส่วนกรณีที่จะมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคเรื่องการโหวตหัวหน้าพรรค จากร้อยละ 70:30  มาเป็นสัดส่วนร้อยละ 40:40:20 มองว่า มีความยืดหยุ่น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เหมาะสม ส่วนท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม และมองว่า เป็นการเปิดกว้างขึ้น สำหรับกรณีการแก้เงื่อนไข การสมัครเป็นกรรมการบริหารพรรค ที่เดิมจะกำหนดไว้ 5 ปี สำหรับการเป็นสมาชิกต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนมาเป็น 2 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ 

จุรินทร์ ยังสงวนท่าทีที่จะแสดงความคิดเห็นถึงตัวบุคคลในการปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา ซึ่งหากมีการปรับจริง ก็มองว่า เที่ยวนี้ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ระยะเวลานานขนาดนี้ และส่วนตัวก็เชื่อว่า คนที่ติดตามการเมืองมานานก็น่าจะรู้ว่าสาเหตุมาจากอะไร ขณะที่ส่วนตัวเห็นใจนายกรัฐมนตรี เพราะว่าในบางรัฐบาล อำนาจไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นจึงอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการบริหารจัดการให้จบ แต่ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านก็ยืนยันว่า จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล 

เมื่อถามว่า การปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สุดท้ายต้องไปผ่านคนบางคน เพื่อนำรายชื่อไปให้ดู จุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ต้องมองว่า ฝ่ายค้านจะมองยังไงในเรื่องนี้ เพราะคนทั้งประเทศจับตาดูอยู่ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย 

“เมื่อรัฐบาลเกิดมาอย่างนี้ ก็ต้องเป็นไปอย่างนี้ประจำ มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย” จุรินทร์ กล่าว 

จุรินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล โดยมองว่า สถานการณ์ ณ ตอนนี้ก็กลับไปในจุดเดิมคือตอนเริ่มต้น ตอนที่จะประกาศว่า พระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น และครั้งนี้ก็ยังเห็นว่า คลุมเครือ แม้จะมีมติครม.ออกมา ที่เห็นชอบในหลักการและไม่ได้มีอะไรใหม่ ซึ่งรายละเอียดที่ต้องพิจารณา นั่นคือหัวใจสำคัญ แต่ถึงขนาดนี้กระทรวงการคลัง ก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ขณะเดียวกันเห็นว่า ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ ด้านการเงินการคลังของประเทศจำนวนไม่น้อย มาแสดงความเห็นถึงความหมิ่นเหม่ ต่อข้อกฎหมาย หากว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดความชัดเจน ก็สามารถทำได้ เช่น การส่งกฤษฎีกาเพื่อวินิจฉัย ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบเหตุผลว่า เหตุใดต้องยื้อเวลาในการส่งกฤษฎีกา โดยเปรียบว่า เหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย เพราะความชัดเจนในข้อกฎหมายยังคงถกเถียงกันอยู่ ซึ่งเป็นคนที่เชี่ยวชาญในด้านการเงินการคลังทั้งนั้น ประชาชนก็รอด้วยความหวัง ที่สุดท้ายแล้วจะจริงหรือไม่ ไม่ได้แปลว่าครม. เห็นชอบในหลักการและเป็นไปตามนี้ โดยชี้ว่า เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องทำ เมื่อหาเสียงแล้ว ได้คะแนนเสียงจากประชาชน ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้มา แต่ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย และคุ้มค่ากับประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่คุ้มค่าแค่พรรคการเมือง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์