'กัณวีร์' แนะรัฐรับมือกรณี ‘ทหารเมียน’ หนีทัพไม่ให้กระทบ ‘ไทย’

12 เมษายน 2567 - 06:11

Kanwee-advises-the-government-to-solve-the-problem-of-defeated-Myanmar- soldiers-SPACEBAR-Hero.jpg
  • 'กัณวีร์' เผย 3 แนวทางรัฐบาลรับมือกรณีทหารเมียนมาหนีทัพหลบหนีอยู่ด่านเมียวดี 2  หวั่นการปะทะกระทบชายแดนไทย ถ้ารับเป็นผู้ลี้ภัยจะต้องไม่ส่งกลับ 

วันที่ 12 เมษายน 2567 ‘กัณวีร์ สืบแสง’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ด่านพรมแดนแม่สอด 2 สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ซึ่งวันนี้มีการเปิดชั่วคราวให้รถบรรทุกสินค้าสองฝั่งได้เดินทางเข้า-ออก และจะตัดสินใจปิดอีกครั้งเพราะในฝั่งเมียวดี ยังมีทหารเมียนมาหนีทัพกว่า 100 คน อยู่ที่ด่านพรมแดนในฝั่งเมียวดี 

กัณวีร์ เปิดเผยว่า กรณีเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหา กรณีทหารเมียนมาแตกทัพประมาณ 200 คน ซึ่งกว่า 100 คน อยู่บริเวณตรงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 และอีก 100 คนอยู่ไม่ไกลออกไป หากมีการเข้ามาในไทย ต้องถูกส่งกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งทางทหารเมียนมาอาจไม่อยากส่งกลับ และหากกองทัพเมียนมา ส่งกำลังเสริมมาโจมตีที่เมียวดี อาจเกิดการปะทะกัน ซึ่งทาง KNU ไม่ยอมเช่นกัน หากเป็นเช่นนี้จะกระทบเศรษฐกิจชายแดนและประชาชนไทย  

"จึงเป็นความเร่งด่วนของรัฐบาลไทยที่จัดการในสถานการณ์ที่เปราะบาง ก็ให้กำลังใจ แต่เป็นสถานการณ์พิเศษที่มีการปะทะของกองกำลัง 2 ฝ่ายแล้วแตกหัก ประเทศไทยต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดครับ" 

กัณวีร์ เปิดเผยว่า มี 3 แนวทางที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้  

1.แนวทางแรก ถ้าทหารเมียนมาหนีทัพมาแล้วแต่เกรงกลัวการถูกประหัตประหารถ้าถูกส่งกลับ ประเทศไทยจะสามารถให้พวกเขาลี้ภัยได้หรือไม่ ถ้าลี้ภัยได้สามารถปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ 

2.ต้องแก้ไขปัญหาภายในระหว่างกลุ่มต่อต้านกับรัฐบาล เช่นการเจรจามอบตัวเป็นเชลยศึกในการดูแลของฝ่ายต่อต้าน ซึ่งภายในเจรจาได้ หรือจะใช้พูดคุยในส่วนคณะกรรมการชายแดน TBC ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ ถ้ากองกำลังเมียนมา SAC ที่หนีทัพอยู่ ยอมจำนน อยู่ในฝ่ายต่อต้าน แล้วทำตามกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป ก็เป็นไปได้ 

3.ถ้ายังจัดการปัญหาไม่ได้ ก็จะมีการปะทะของสองฝ่ายในเมืองเมียวดี ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะกระทบประชาชนทั้งสองฝ่าย 

"ถ้ามีกองกำลังหนุนเสริมมาวันนี้  ทางเมียนมาจะส่งเฮลิคอปเตอร์พร้อมทหารราบ จะกระทบในเมืองเมียวดี และอ.แม่สอด ถ้ามีการปะทะก็จะกระทบทั้งหมด ผมไม่อยากให้เกิดขึ้น" 

กัณวีร์ คาดหวังว่าการลงพื้นที่ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการต่างประเทศ วันนี้จะมีการตัดสินใจทางนโยบายที่เร่งด่วนและเด็ดขาด ซึ่งยินดีให้การสนับสนุนตามแนวทางที่ดีที่สุด รวมถึงข้อเสนอการให้เมืองเมียวดีและแม่สอดเป็น Safety Zone แล้วก็อยากให้เป็นพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมด้วย  จึงอยากให้รัฐบาลไทยตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์