ประเด็นร้อนเรื่อง พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ พรรคพลังประชารัฐ และสังคมออกมาเรียกให้ นายกรัฐมนตรี ยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2544 ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะกังวลว่า MOU ดังกล่าวอาจทำให้ไทยเสียเปรียบและเสียดินแดน โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด
ล่าสุดวันนี้ (1 พ.ย.) ที่รัฐสภา นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ แถลงชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือเกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีใครยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ ไม่เคยได้ยินกัมพูชาเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะกูด ขอให้เลิกปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูดเป็นความเท็จ รัฐบาลนี้รักประเทศ ไม่มีใครทำให้เสียดินแดน
ส่วน MOU 44 ที่ลงนามโดย สุรเกียรติ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศขณะนั้น เป็นกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วม เนื่องจากไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ทั้ง 2 ประเทศเลือกใช้วิธีเจรจาการทูต เป็นที่มา MOU 44 เพื่อวางกรอบเจรจาบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ที่สำคัญการเจรจา MOU 44 ไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของไทยและกัมพูชา ถ้าเจรจาไม่สำเร็จก็ไม่กระทบสิทธิไทยและกัมพูชา
อีกทั้ง กลไกเจรจาตาม MOU 44 ทำโดยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) คนเจรจาคือ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นมือหนึ่งกฎหมายของประเทศ มีตัวแทนกองทัพ กระทรวงพลังงาน คนอื่นไปเจรจาไม่ได้ และ นายกรัฐมนตรีก็ไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องนำมาเข้าสภาพิจารณาก่อน ไม่สามารถไปเซ็นข้อตกลงกับกัมพูชาได้ รัฐบาลไม่สามารถงุบงิบทำได้
นพดล ย้ำว่า ไม่อยากให้นำเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมาบิดเบือนใส่ร้าย อย่างที่เคยถูกกระทำในอดีตสมัยเป็น รมว.ต่างประเทศ ที่ถูกใส่ร้ายเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ ปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี การใส่ร้ายผมว่ายกเขาพระวิหารให้กัมพูชาจึงเป็นความเท็จ มองว่าความพยายามปั่นกระแสเรื่องการยกเกาะกูดให้กัมพูชานั้น มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ต้องการทำลายเสถียรภาพรัฐบาล เพราะเป็นกระแสอ่อนไหว ถ้าไม่ชี้แจงอาจเป็นไฟลามทุ่งได้
ย้ำว่า คนไทยไม่ว่าเสื้อสีใดรักชาติเท่ากัน อย่านำประเด็นเรื่องดินแดนมาเป็นประเด็นการเมือง บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาล ถ้ารักชาติจริงต้องเอาความจริงและข้อกฎหมายมาพูด
“หากยังมีการปั่นแสโจมตี ระบุชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยทำให้ประเทศไทยเสียเกาะกูด คิดว่าคงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป”
นพดล กล่าว