ทร.ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง’

4 พ.ค. 2567 - 06:58

  • ทร.ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง’ เนื่องในวันฉัตรมงคล

king-4may24-SPACEBAR-Hero.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. กองทัพเรือ โดย กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ทำการยิงสลุตหลวง ด้วยปืนใหญ่ขนาด 76/40 มิลลิเมตร จำนวน 21 นัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล ที่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม

king-4may24-SPACEBAR-Photo01.jpg

สำหรับการยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ ธงประจำชาติ หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำหรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ โดยคำว่า “สลุต” นั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Salutio” ในภาษาลาติน

king-4may24-SPACEBAR-Photo00.jpg

ซึ่งในประเทศไทย การยิงสลุตครั้งแรกเกิดขึ้นที่ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งในขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศส กล่าวถึงเรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถึงป้อมวิไชยเยนทร์ มองซิเออร์คอนูแอล กัปตันเรือได้มีใบบอกเข้าไปถามทางราชสำนักอยุธยาว่า จะขอยิงสลุตให้เป็นเกียรติแก่ชาติสยาม ทางราชสำนักจะขัดข้องไหม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงมีรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (มองซิเออร์คอม เดอร์ ฟอร์แบงก์ นายทหารชาวฝรั่งเศส) ผู้รักษาป้อมในขณะนั้น อนุญาตให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้ ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระเพทราชา ทรงไม่โปรดปรานฝรั่งเศส จึงทำให้ธรรมเนียมการยิงสลุตได้ถูกยกเลิกไป

king-4may24-SPACEBAR-Photo02.jpg

ธรรมเนียมการยิงสลุตได้เริ่มกลับมารื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ต้อนรับ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2398 

ต่อมาในปี พ.ศ.2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.125 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การยิงสลุตหลวง และการยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ข้าราชการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ คือ การยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท คือ สลุตหลวง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน 21 นัด และสลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน 101 นัด สลุตข้าราชการ สลุตนานาชาติ พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131 ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2483

king-4may24-SPACEBAR-Photo03.jpg

จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่ เริ่มเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2491 เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

โดยหลักเกณฑ์การยิงสลุตในปัจจุบัน หากเป็นงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระยุพราช รวมถึงงานต้อนรับพระมหากษัตริย์หรือประมุขแห่งรัฐ ยิงสลุตจำนวน 21 นัด ถ้าเป็นระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นทหาร) ผู้บัญชาการทหารเรือ จอมพลเรือ และเอกอัครราชทูต ยิงสลุต 19 นัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นพลเรือน) พลเรือเอก และเอกอัครราชทูตพิเศษ ยิงสลุต 17 นัด พลเรือโท และอัครราชทูต ยิงสลุต 15 นัด พลเรือตรี และราชทูต ยิงสลุต 13 นัด (สามเหล่าทัพยศเท่ากัน ยิงสลุตเท่ากัน) อุปทูตยิงสลุต 11 นัด กงสุลใหญ่ ยิงสลุต 9 นัด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์