ชำแหละ! ‘ร่าง กม.สมรสเท่าเทียม’ จาก ‘สามีภริยา’ สู่ ‘คู่สมรส’

27 มีนาคม 2567 - 06:16

law-lgbtq-weddng-27mar24-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ชำแหละ! ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าทียม หลังจากที่ทุกฝ่ายรอคอยกันมานาน จะครอบคลุมแค่ไหน มาดูกัน!

รอคอยกันมานานสำหรับ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….’ ซึ่งในวันนี้ (27 มี.ค.) เข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 หลังจากคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว

แน่นอนว่า หลักการสำคัญของ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนี้ คือการรองรับให้ ‘บุคคลเพศเดียวกัน’ สามารถหมั้นและสมรสกันได้ มีสิทธิ มีหน้าที่ มีสถานะทางครอบครัว **‘เท่าเทียม’**กับคู่สมรสที่เป็น ‘ชายและหญิง’

INFO-ทะเบียนสมรส คู่รัก หรือ LGBTQ.jpg

ที่เห็นได้ชัดเจนของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือกำหนดให้ ‘บุคคลสองคน’ ไม่ว่าเพศใดสามารถหมั้นหรือสมรสกันได้ นอกจากนี้ยังแก้ไขคำว่า ‘ชาย-หญิง-สามี-ภริยา-สามีภริยา’ ให้ใช้คำว่า ‘บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น-คู่สมรส’ เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยคำเหล่านี้จะมีผลต่อเนื่องไปทุกมาตรา ทั้งมาตราที่เกี่ยวกับการหมั้น การสมรส ของหมั้น สินสอด ทรัพย์สิน การบอกเลิกสัญญาหมั้น สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน 

ทั้งนี้ หลังจากสมรสแล้ว จะใช้คำว่า ‘บุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน’ จากแต่เดิมที่ใช้คำว่า ‘ชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน‘ เท่ากับว่าสถานะหลังจดทะเบียนสมรสจะเรียกว่า ‘คู่สมรส’ ไม่ใช่ ‘สามีภริยา’ แบบกฎหมายปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังแก้ไขเรื่องอายุของการหมั้นและการสมรส โดยกำหนดว่า ทั้งการหมั้นและการสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ‘บุคคลทั้งสอง’ มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จากเดิมที่กำหนดไว้แค่อายุ 17 ปีบริบูรณ์

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

พร้อมกันนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘สามี ภริยา สามีภรรยา หรือคู่สมรส’ เพื่อรับรองสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมายให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเสนอผลการทบทวน พร้อมทั้งร่างกฎหมายในกรณีที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์