กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งกับ ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา’ ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำลังยกร่างขึ้นมาใหม่ ด้วยการปรับปรุงแก้ไขจากร่างเดิมที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ โดยลดจำนวนบทเดิมลงจาก 94 มาตรา เหลือเพียง 77 มาตรา พร้อมแก้ไขสาระสำคัญในแต่ละหมวด ตั้งแต่บทนิยาม มาตราทางกฎหมายจนถึงบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะมาตรการควบคุมไม่ให้ใช้กัญชาผิดประเภท
การยกร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ในแบบฉบับ ‘หมอชลน่าน’ ตั้งใจปิดช่องโหว่ที่ประชาชนห่วงใย โดยเฉพาะใช้กัญชาผิดประเภทและส่งเสริมให้ใช้ในการแพทย์และสุขภาพ โดยมีมาตรฐานที่ควบคุมชัดเจนกับหลักการ ‘ห้ามใช้ในเชิงสันทนาการหรือการสูบเสพ’ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรเขียนถึงข้อห้ามใช้หรือสถานที่ห้ามใช้ ด้วยเห็นว่า ตัวของกัญชา ยังมีสิ่งที่ถือเป็นยาเสพติดคือ สารสกัดของ THC ที่มีปริมาณมากกว่าร้อยละ 0.2
แม้เวลานี้จะยังไม่เห็นหน้าค่าตา ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา’ ของ ‘หมอชลน่าน’ แต่ที่มาแรงแซงโค้งก่อนใคร คือ ‘พรรคภูมิใจไทย’ เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่ผลักดันนโยบาย ‘กัญชาเสรี’ เพราะร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ของพรรคนี้ได้เข้าสู่กระบวนการของสภาฯ เรียบร้อยแล้ว และปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทย ผลักดัน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งเป็นไปตามร่างเดิม 94 มาตราที่เคยได้มีความเห็นจากทุกพรรคทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ด้วยเหตุผลว่า กัญชาถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการทางการแพทย์และการวิจัยเท่านั้น ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายเปิดเสรี ‘นันทนาการ’ หรือ ‘สันทนาการ’

แม้ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับ ‘ภูมิใจไทย’ จะไม่มีคำว่า ‘สันทนาการ’ หรือ ‘นันทนาการ’ แต่ก็กำหนดชัดเจนในร่างกฎหมายว่า ให้ใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์และพืชเศรษฐกิจ ซึ่ง ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ครั้งที่แล้ว ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอเข้าไปเป็นร่างเดิมที่ดำเนินการค้างไว้ในสภาฯ ชุดที่แล้วและพิจารณาไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งเป็นร่างที่ร่วมกันพิจารณากับพรรคการเมืองทุกพรรค ย้ำว่า ร่างนี้ไม่ได้อนุญาตในเรื่องของ ‘นันทนาการ’ แต่เขียนไว้ว่า กรณีที่จะอนุญาตให้มีการ ‘นันทนาการ’ กันได้ในเชิงธุรกิจ เช่น เปิดร้านแล้วไปสูบ ซึ่งจะต้องออกประกาศในลักษณะ ‘โซนนิ่ง’ โดยออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งหมายความว่า จะต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรื่องกำหนดโซนนิ่ง
ศุภชัย บอกอีกว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุข แต่เท่าที่ทราบคือ กระทรวงสาธารณสุขก็นำร่างที่พรรคภูมิใจไทยเสนอมาปรับปรุง ส่วนความแตกต่างที่เห็นชัดเจนคือ กรณีการปลูกกัญชาที่บ้าน ร่างของพรรคภูมิใจไทยกำหนดให้แค่จดแจ้ง แต่ร่างใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดว่าจะต้องขออนุญาตปลูก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่จะต้องไปพิจารณากันต่อในสภาฯ
ศุภชัย ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เขียนอนุญาตเรื่องนันทนาการ แต่ไม่ได้กำหนดห้ามในกรณีที่มีกัญชาแล้วใช้เสรีภาพเรื่องสูบในครัวเรือนตัวเอง เพราะเมื่อครั้งที่พิจารณากันในกรรมาธิการของสภาฯ ชุดที่แล้ว ได้ข้อมูลจากทางแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันว่า การสูบเข้าไป ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งปอด ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดไม่ใช่การหยอดน้ำมันกัญชาเข้าไปรักษา แต่ต้องใช้กระบวนการในการสูบเข้าไป ดังนั้นการตีความว่า ‘การสูบ’ เป็นการ ‘นันทนาการ’ ถือว่าเป็นการตีความที่แคบไป แต่ยอมรับว่า สิ่งที่น่ายินดี คือรัฐบาลไม่นำเอากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะเห็นประโยชน์ทางการแพทย์และขณะนี้ก็เข้าสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจแล้ว
หลังจากนี้ คงต้องจับตาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง แบบฉบับ ‘หมอชลน่าน’ ว่าจะมีหน้าตาอย่างไร โดยเฉพาะการกำหนดห้ามเกี่ยวกับ ‘สันทนาการ’ หรือ ‘นันทนาการ’ ว่าจะชัดเจนได้ขนาดไหน และสุดท้าย จะมี ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าไปถึงสภาฯ ทั้งหมดกี่ฉบับ และใครจะเป็นผู้ชนะ มาลุ้นกัน