ย้อนส่องที่มา ‘กฎหมายถวายความปลอดภัย’

15 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:12

law-safe-secure-important-person-SPACEBAR-Hero.jpg
  • พาไปส่องที่มาของ ‘กฎหมายถวายความปลอดภัย’ ตั้งแต่ยุครัฐบาล ‘พล.อ.เกรียงศักดิ์-ทักษิณ-หัวหน้า คมช.-พล.อ.ประยุทธ์’

เป็นประเด็นใหญ่ในช่วงเวลานี้ หลังจากที่ สส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบแผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมกับเกียรติยศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักชาติ และญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องการถวายความปลอดภัย 

ย้อนไปดูว่า ‘กฎหมายถวายความปลอดภัย’ มีที่มาอย่างไร

info_law-safe-secure-important-person.jpg

ย้อนกลับไป 45 ปี ในยุคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเลขาธิการคณะรัฐประหารนั้น ได้มี กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เรียกว่า ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2521’

ก่อนที่ในปี 2546 ยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออก ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษา ความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2546 ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยเป็นไป โดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น

จากนั้น ในปี พ.ศ.2549 หลังจากที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) รัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองของ รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ ออกประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 36 เรื่องกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยกสถานะจาก ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2546’ เป็น ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2549’

ต่อมา เมื่อถึงยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตรา ‘พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557’ ขึ้นมาแทน ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ.2549’ ด้วยเหตุผลว่า พระราชบัญญัติฉบับแรกนั้น ยังคงมีรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ จึงทำให้กฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นเพื่อให้การถวายความปลอดภัย มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานรัฐ ในการถวายความปลอดภัยอย่างเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยกำหนดให้ชื่อร่างพระราชบัญญัติสั้นและกระชับ และเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ จึงได้แก้ไขจากคำว่า ‘การรักษาความปลอดภัย’ เป็น ‘การถวายความปลอดภัย’

จากนั้น ในปี พ.ศ.2560 ที่ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ได้มีการตรา ‘พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560’ ขึ้นมาใหม่ เนื่องจาก ขณะนั้นมีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการ และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กำหนดให้มีส่วนราชการในพระองค์ เพื่อปฏิบัติภารกิจขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ จึงปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัย ให้สอดคล้องกับการกำหนดหน้าที่ส่วนราชการในพระองค์ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการถวายความปลอดภัยให้สามารถดำเนินการถวายพระเกียรติในการปฎิบัติภารกิจได้ตามพระราชประสงค์

จะเห็นได้ว่า กฎหมายถวายความปลอดภัย มีการปรับปรุงและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง จากนี้ คงต้องติดตาม ญัตติด่วนด้วยวาจาทั้ง 2 ญัตติ เรื่องการทบทวนการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย ว่า หลังจากส่งไปยัง รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี, คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วนั้น จะมีความคืบหน้าหรือไม่?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์