‘3 ตุลาคม 2566’ กลายเป็นอีกหนึ่งวันที่ทำให้คนไทยต้องอกสั่นขวัญหายอีกครั้ง เมื่อพบ ‘คนร้าย’ ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงผู้คนที่ห้างดังใจกลางเมือง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ภาพที่ฝูงชนวิ่งกรูกันออกนอกห้างแบบไม่คิดชีวิตยังติดตรึงในใจหลายคน เพราะพวกเขาหวั่นจะซ้ำรอย เหตุ ‘กราดยิง’ หลายครั้งที่เคยเกิดขึ้น
แต่เรื่องราวกลับยิ่ง ‘สะเทือนใจ’ ไปมากกว่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ แล้วพบว่า ผู้ก่อเหตุคนนี้อายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ทำให้ต้องเรียกเขาว่า ‘ผู้เยาว์’ โดยทันที
นี่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักหนาว่า เหตุใด ผู้เยาว์คนหนึ่งที่ยังไม่ถึงวัยบรรลุนิติภาวะ กลับก่อเหตุอันน่าสลดนี้ได้ อะไรเป็นแรงจูงใจกันแน่? แต่ไม่ทันข้ามคืน โซเชียลก็ขุดคุ้ยประวัติของผู้เยาว์คนนี้ ลามไปจนถึง ‘สถานศึกษา’ จนได้รู้ว่า เขาเรียนอยู่ที่ ‘สถานศึกษาซึ่งจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย’
เรื่องนี้ ‘สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ’ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า สถานศึกษาดังกล่าว เป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ภายใต้ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542 ในการกำกับดูแล สพฐ.
แล้ว ‘การศึกษาตามอัธยาศัย’ คืออะไร?
‘พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542’ ตามมาตรา 15 ได้นิยามคำว่า ‘การศึกษาตามอัธยาศัย’ ไว้ว่า ‘เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ’
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ จะอนุมัติการเรียนการสอนโดยพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลางว่า หลักสูตรของสถานศึกษาดังกล่าว มีครบถ้วนตามกลุ่มสาระวิชาหรือไม่ แต่รูปแบบการเรียนการสอนนั้น จะขึ้นอยู่กับผู้ที่จัดการเรียนการสอน เนื่องจากหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการจะดูแลเรื่องของ ‘หลักสูตร’ แต่ ‘เนื้อหากับระยะเวลา’ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้สอนกับผู้เรียน ‘ยินยอมพร้อมใจ’ ที่จะเรียนแบบใด
“โรงเรียนแบบนี้ มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 2,000 กว่าแห่ง เฉพาะในกทม.ระดับมัธยม มีประมาณ 10 แห่ง โรงเรียนแบบนี้จะแบ่งเป็นกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่เป็นเลิศ ที่ต้องการจะให้ลูกไปเน้นย้ำทางด้านใดเป็นพิเศษ ค่าเรียนแพงๆ จัดการเรียนการสอนแบบเป็นเลิศ ก็มาขออนุญาตแบบนี้ได้ หรือบางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส หรือมีเงื่อนไขบางประเภท ที่จะต้องจัดการเรียนการสอนกันเอง ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้จะต้องมาถอดบทเรียนว่า เกิดจากสาเหตุอะไร” สิริพงศ์ กล่าว
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก 'ระบบการศึกษา' หรือไม่?
สิริพงศ์ ยืนยันว่า คงไม่สามารถโทษสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนเอง แต่สิ่งที่ชี้ให้เห็น คือ เมื่อ ‘ผู้เยาว์ก่อเหตุ’ กระทรวงศึกษาธิการต้องทำความเข้าใจว่า เขาอยู่ในระบบการศึกษาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นโอกาสให้สังคมมองย้อนกลับไปว่าระบบการศึกษามีปัญหาหรือไม่? และควรจะเป็นระบบการศึกษาตามอัธยาศัยหรือไม่? สิ่งที่คิดว่าจะกระตุกสังคมคือในความเป็นจริง มีโอกาสเกิดปัญหาได้ในทุกระบบการศึกษา แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือ จะหามาตรการอย่างไร ที่จะมาดูแลกับสถานการณ์เช่นนี้ให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันเหตุ ‘ซ้ำรอย’
ระบบการศึกษาไทย ทำให้เกิดความเครียด?
สิริพงศ์ ยอมรับว่า ทั้งเด็กและครูผู้สอนอยู่ในสภาวะเครียดมาก ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบและจากสังคมภายนอกมากมาย กระทรวงศึกษาธิการจึงพยายามหากิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อลดทอนความเครียดเหล่านั้น แต่หลังจากนี้ คงต้องหยิบยกประเด็นร้อนมา ‘ถอดบทเรียน’ ให้ได้ เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สถานศึกษาดังกล่าว มีความพร้อมมากพอสมควร อัตราครูต่อนักเรียนคือ 1 ต่อ 7 ถือว่า เป็นสัดส่วนที่น่าพอใจในเชิงปริมาณ แต่ก็ยังสรุปรายละเอียดในเวลานี้ไม่ได้
“รูปแบบการเรียนการสอน ขึ้นอยู่กับสถานศึกษา การจัดรูปแบบต้องยึดโยงกับหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกำหนดเวลาเรียนก็ขึ้นอยู่กับสถานศึกษาจะจัดสรร โดยกระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดในส่วนของกลุ่มสาระวิชา ที่จะต้องสอนให้ครบ แต่รูปแบบการเรียน เวลา ก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียน โรงเรียนก็จะตกลงกับผู้ปกครอง เมื่อผู้ปกครองเห็นว่าลูกเรียนแบบนี้แล้วดี ก็ส่งลูกไปเรียน ซึ่งค่าเทอมก็ค่อนข้างสูง อย่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ก็ประมาณ 1 แสนกว่าบาท หลักสูตรภาษาอังกฤษประมาณ 3 แสนบาท ก็จะเป็นในอีกรูปแบบหนึ่งต่างจากโรงเรียนนานาชาติ เพราะโรงเรียนนานาชาติอาจจะต้องมีกฎระเบียบ แต่โรงเรียนแบบนี้ไม่ใช่ เป็นโรงเรียนคนละแบบกัน ซึ่งผู้เยาว์ที่ก่อเหตุน่าจะเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์” สิริพงศ์ กล่าว
เมื่อคนพุ่งเป้าไปที่รูปแบบการเรียนการสอน?
สิริพงศ์ ย้ำว่า สิ่งที่ตระหนักคือ เฉพาะ ‘หลักสูตรแกนกลาง’ มีความเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอ ต้องไปทำความตกลงกับโรงเรียนว่า เราจะดำเนินการอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต และหากจะด่วนสรุปว่า สาเหตุมาจาก ‘เกม’ คงจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ ‘สิริพงศ์’ คิด คือ ไม่ใช่เฉพาะ ‘สถานศึกษา’ แต่ควรจะเป็น ‘ผู้ปกครอง’ ที่ช่วยกัน ซึ่งสำหรับสื่อทุกประเภทที่ไม่ใช่เฉพาะเกมที่หาชมได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ เนื่องจากสื่อแต่ละชนิดจะมีเรทอายุควบคุมกำกับอยู่ ดังนั้น แต่ละครอบครัวและแต่ละโรงเรียน ควรแนะนำเยาวชนให้ใช้สื่อโซเชียลหรือคอนเทนต์ต่างๆตามช่วงอายุที่กำหนดไว้ อย่าหลงลืมปล่อยปละละเลยเด็ดขาด!
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สมควรแก้ไขให้ทันยุคสมัยแล้วหรือไม่
แน่นอนว่า นี่คือหนึ่งในเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอน ยังเป็นไปตาม ‘พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542’ ที่อยู่มานาน 20 กว่าปีแล้ว แต่ พ.ร.บ.การศึกษาที่พยายามร่างฉบับใหม่ก็กลับถูกคว่ำในสภาชุดที่แล้วไปเสียได้ ดังนั้น หลังจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จึงพร้อมเดินหน้าผลักดัน ‘พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่’ ให้ผ่านโดยเร็วและเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแน่นอน
