‘สภาฯ’ รับหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง’ แต่ตีตก ‘ร่างกฎหมายระเบียบบริหารท้องถิ่น’

30 ต.ค. 2567 - 09:02

  • ‘สภาฯ’ ไฟเขียว 406 เสียง! รับหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง’

  • ยึด ‘ร่างรัฐบาล’ เป็นหลัก-ตั้ง 31 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ประชุมนัดแรก 1 พ.ย.

  • พร้อมตีตก ‘ร่างกฎหมายระเบียบบริหารท้องถิ่น’ ชี้ กมธ.แก้ไขเกินหลักการ

meeting-of-the-HoR-for-draft-rail-transport-act-and-draft-Local-Personnel-Administration-Act-SPACEBAR-Hero.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งวันนี้ มีวาระที่น่าสนใจทั้ง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ... ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี, ร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคประชาชน ที่ได้ค้างการลงมติมาจากการประชุมครั้งที่แล้ว

และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ได้พิจารณา ซึ่งเป็นวาระต่อเนื่องหลัง ในมาตรา 4 หลังจากที่กมธ. ขอถอนรายงานออกจากวาระเพื่อปรับปรุงแก้ไข หลังจากที่ถูกสภาฯทักท้วง เนื่องจากการพิจารณาของกมธ.ในรอบแรกนั้นมีการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการ

โดยเรื่องแรก ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สอบถามมติที่ประชุมถึงร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ทั้ง 3 ฉบับ

ขณะที่ มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี อภิปรายขอบคุณ สส.ที่ได้ร่วมอภิปราย พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ แต่เนื่องจากมีร่าง พ.ร.บ.อยู่ 3 ร่าง ขอเสนอประธานสภาฯ ให้ลงมติรับหลักการในคราวเดียวกัน และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

ส่วนในการลงมติผลปรากฏว่า

  • มีผู้เห็นด้วย 406
  • ไม่เห็นด้วย 0
  • งดออกเสียง 0
  • ไม่ลงคะแนน 4

ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ในวาระ 1 รับหลักการทั้ง 3 ฉบับ และมีการเสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 31 คน

ภายหลังการลงมติ สส.พรรคเพื่อไทย เสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีหรือร่างของรัฐบาล เป็นหลักในการพิจารนณา

แต่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ขอให้ใช้ร่างของพรรคประชาชนเป็นหลัก ทำให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม สอบถามมติที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งพบว่า

  • เห็นด้วย 265
  • ไม่เห็นด้วย 144

ให้ใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก พร้อมทั้งกำหนดวันประชุมนัดแรก วันที่ 1 พ.ย.นี้

‘สภาฯ’ ตีตก ‘ร่างกฎหมายระเบียบบริหารท้องถิ่น’

ส่วนในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฯ ซึ่งมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นั้นไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจาก สส.พรรคภูมิใจไทย ทักท้วงว่าการแก้ไขของ กมธ.นั้นไม่สามารถลงมติเห็นชอบได้ เพราะยังมีเนื้อหาที่ไม่ตรงกับหลักการ

ขณะที่ สส.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ มองว่า ในเนื้อหาสามารถเห็นชอบได้ แต่หากยังมองว่ามีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกันนั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายยังคงถกเถียงว่า เนื้อหาที่ กมธ.แก้ไขนั้น จะขัดต่อหลักการหรือไม่ และสามารถลงมติเห็นชอบได้หรือไม่ ซึ่งมีประเด็นที่โต้แย้งกันถึงการแก้ไขเนื้อหาที่ตรงกับหลักการของร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นวาระรับหลักการ ที่มีถึง 3 ฉบับในฉบับใดหรือไม่ พร้อมกันนี้ มีผู้เสนอให้ กมธ.ถอนเนื้อหาออกไปเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขอีกครั้ง

ทำให้ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า การพิจารณาแก้ไขของ กมธ.นั้นเป็นไปตามหลักการของร่างกฎหมายที่รับไป

ไม่เห็นด้วยที่จะให้ถอนรายงานของ กมธ.ออกไป เนื่องจากจะติดปัญหาว่าหากร่าง พ.ร.บ.ใดถูกตีตกในสมัยประชุมใด จะไม่สามารถเสนออีกได้ในสมัยประชุมเดียวกัน ดังนั้น ต้องการให้เดินหน้าพิจารณา

ณัฐวุฒิ บัวประทุม

สอดคล้องกับ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ที่ระบุให้เดินหน้าพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาของสภาฯ นั้นพบว่าในมาตรา 4 มาตรา 5 มาตราที่เพิ่มใหม่ จำนวน 2 มาตรานั้น มติของสภาฯ ไม่เห็นชอบด้วย

‘เพื่อไทย’ วอนอย่านำไปเล่นการเมือง

จากนั้น ก่อนการลงมติวาระ 3 พัฒนา สัพโส สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ลุกขึ้นอภิปรายว่า “ก่อนโหวตวาระสาม ผมไม่อยากให้นำร่างกฎหมายถูกขยายความ หรือนำไปเป็นประเด็นการเมือง ผมเข้าใจดีว่า สส.หลายคน ห่วงเรื่องหลักการ เป็นหน้าที่ของวิปที่ไปคุยกันแต่สิ่งที่ผมอยากฝากว่า หากวาระสามมีปัญหาไม่ผ่าน อย่านำไปเล่นประเด็นการเมือง

‘วิป’ พร้อมรับฉบับที่แก้ไขเนื้อหาใหม่ เตรียมบรรจุให้สมัยประชุมหน้า

ทั้งนี้ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า สำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายและร่าง พ.ร.บ.ที่สภาฯ รับหลักการไปแล้ว อาจมีปัญหาในกรณีที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้น จึงเสนอให้วิปประสานไปยังกฤษฎีกาเพื่อหาทางออก ส่วนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พรรคประชาชนจะเสนอกลับมาอีกครั้งในสมัยหน้า โดยเนื้อหาจะใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่เล่นประเด็นการเมือง และเสนออีกครั้งในสมัยประชุมหน้าและผ่านไปได้อย่างราบรื่น

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล

ทางด้าน วิสุทธิ์ อภิปรายว่าขอให้นำกลับไปพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้อง สมัยประชุมหน้าเสนอมา วิปพร้อมจะบรรจุเข้าสู่วาระให้

อย่างไรก็ดี พิเชษฐ์ กล่าวว่า “การทำงานในสภาฯ ปีกว่า มีความเกรงใจกัน ทุกคนเสนอร่างกฎหมายประกบกันเข้ามาทุกร่าง ไม่ได้ทิ้งร่าง ทั้งที่ไม่เป็นทำนองเดียวกัน เพราะเกรงใจกัน ทำให้การประชุม กมธ.จึงเกิดปัญหา ขอเชิญญวิปหารือกันว่า เป็นทำนองเดีวกันหรือไม่ ถือเป็นบทเรียนเข้ามา 3 ครั้งแล้ว เป็นปัญหาฝากให้วิปพิจารณาก่อนว่าทำนองเดียยวกันหรือไม่ เพื่อไม่เกิดปัญหา”

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติ ผลปรากฏว่า

  • เห็นด้วย 4 เสียง
  • ไม่เห็นด้วย 405 เสียง
  • งดออกเสียง 1
  • ไม่ลงคะแนน 2

ถือว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่อจากไม่เห็นชอบ เป็นอันว่าตกไปตามข้อบังคับ 134

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์