เผื่อได้บริหารประเทศในอนาคต! ‘ก้าวไกล’ จัดทำ ‘งบประมาณเงา’ คู่ขนานรัฐบาล

7 พ.ค. 2567 - 08:24

  • ‘ก้าวไกล’ จัดทำ ‘งบประมาณเงา’ คู่ขนาน เผื่อได้เป็นรัฐบาลในอนาคต

  • ‘ณัฐพงษ์’ เผยทำการบ้านศึกษา ‘งบฯ ปี 68’ ล่วงหน้าไปครึ่งทางแล้ว

  • คาดมีคนขออภิปราย 20-30 คน รอถก ‘วิป 3 ฝ่าย’ เคาะจัดสรรเวลา

  • ห่วงตัด ‘งบกลาง’ ไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงผิดกฎหมาย

MFP-creates-shadow-budget-parallel-to-the-government-SPACEBAR-Hero.jpg

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ว่า ได้รับแจ้งมาก่อนหน้านี้แล้ว จากการทำงานหลังบ้าน ในอนุกรรมาธิการงบฯ ปี 68 จึงได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา และศึกษางบประมาณล่วงหน้าไว้ครึ่งทางแล้ว

ซึ่งหลังจากนี้ มีเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ที่อนุกรรมาธิการฯ จะสามารถเรียกข้อมูลจากฝ่ายบริหาร ส่วนที่อยากได้ คือการเพิ่มงบประมาณ โดยเฉพาะตัวเลขตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะที่ผ่านมา จะทราบก่อนเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จึงจะขอให้ได้เร็วที่สุด

สำหรับการทำงานของกรรมาธิการฯ จะศึกษาการจัดทำงบประมาณ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณปี 2568 เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำ 100% เช่น งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัย ที่มีความซ้ำซ้อนกัน ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็เป็นตัวอย่างที่กรรมาธิการฯ ได้ทำงานในเชิงรุก ให้การแก้ไขปัญหาประชาชนไม่ซ้ำซ้อน

ซึ่งได้ทำความเห็นส่งไปยังรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่มีการแก้ไข ก็จะถือว่ารัฐบาลบกพร่อง ฝ่ายค้านก็จะอภิปรายเต็มที่

ส่วนการเตรียมความพร้อมการอภิปรายของพรรคก้าวไกลนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมภายในพรรค คาดว่าจะมีผู้ขออภิปรายประมาณ 20-30 คน ซึ่งขึ้นอยู่ที่วิป 3 ฝ่าย จะจัดสรรเวลา

เวทีอภิปรายงบประมาณปี 2568 เป็นเวทีที่พรรคก้าวไกล ได้เตรียมความพร้อมกรณีในอนาคต อาจได้เป็นรัฐบาลในอนาคต โดยได้จัดทำ ‘งบประมาณเงา’ หรือ ‘งบฯ เงา’ ที่ลงไปทำการบ้าน เพื่อดูรายละเอียดงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่เสนอมา หากพบว่าไม่จำเป็น ในฐานะฝ่ายบริหารก็ควรจะต้องตัดออก เพื่อจัดสรรให้ในส่วนที่จำเป็น และตอบสนองปัญหาของประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากังวลในส่วน ‘งบกลาง’ ของงบประมาณปี 2568 ที่จะถูกนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งได้มีข้อสังเกตส่งกลับไปยังหน่วยงานแล้วว่า มีการตีความบิดเบือนทางกฎหมาย เพราะตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มีการระบุไว้ชัดเจนว่า สัดส่วนงบฯ ลงทุนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และต้องไม่ต่ำกว่าส่วนที่ชดเชยการขาดดุล

แต่พอมีการปิดงบฯ ปี 2568 เพื่อนำไปทำในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 150,000 ล้านบาท กลับมีการระบุว่า งบฯ ดังกล่าว เป็นงบฯ ลงทุนจำนวน 80% จึงขอตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่า รู้ได้อย่างไรว่าประชาชนจะนำ เงิน10,000 บาทดังกล่าว ไปใช้ในการลงทุน หรือใช้ในรายจ่ายประจำ ซึ่งเรื่องนี้ ถ้ารัฐบาลเดินหน้าต่อแบบนี้ โดยปราศจากการออกมาทำความชัดเจนให้เกิดขึ้น ก็เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย หากมีคนไปร้องในภายหลัง

ทั้งนี้ สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะจับตาในการจัดสรรงบประมาณปี 2568 เป็นปัญหาที่เคยได้ยินมาอยู่แล้วทุกปี แต่ปีนี้อาจจะมีความพิเศษ คือ งบประมาณของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมไปถึงงบฯ ประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ที่รัฐบาลนำงบหลวงมาใช้ในการโปรโมทตัวเอง ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะที่การจัดทำ ‘งบฯ เงา’ ของพรรคก้าวไกล จะเป็นการศึกษารายละเอียดงบฯ ที่ไม่จำเป็น ว่าควรจะนำไปทำอะไรที่จำเป็นมากกว่าด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์