ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
โดยภาพรวมในช่วงบ่าย การอภิปรายเป็นไปอย่างราบเรียบ และเงียบเหงา สส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล สลับขึ้นมาอภิปรายการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ สส.ฝ่ายค้าน อภิปรายเน้นไปที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข ปล่อยให้ขาดแคลนแพทย์-พยาบาล อาทิ ในคิวของ กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ชี้ให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไม่ให้ความสำคัญในการเพิ่มแพทย์ พยาบาล มาประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (ตำบล)
รวมถึงนโยบาย สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ที่ระบุจะเพิ่มบุคลากรทางแพทย์ที่ขาดแคลน แต่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2568 กลับไม่มีการจัดสรรงบส่วนนี้ไว้ แสดงว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญการจัดสรรงบส่วนนี้ใช่หรือไม่
ขณะที่ ปิยชาติ รุจิพรวศิน สส.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบอาสากู้ภัยของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอยู่ 45,000 คน แต่กลับมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ มีการค้างค่าค่าชดเชยเจ้าหน้าที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 8 เดือน ตั้งแต่ปี 2566 แม้ล่าสุด สพฉ.ชี้แจงว่า จ่ายเงินที่ค้างอยู่ครบแบบเดือนต่อเดือนแล้ว แต่จากการตรวจสอบพบว่า สพฉ.ยังจ่ายเงินให้บุคลากรแค่ 2 เดือนต่อครั้ง ไม่ใช่เดือนต่อเดือน

แนะรัฐบาลให้ความสำคัญ ‘ผู้ป่วยระยะพึ่งพิง’ มากขึ้น
ทางด้าน ภูริวรรธก์ ใจสำราญ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะพึ่งพิง หรือระยะประคับประคอง ที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้น โดยปี 68 มีผู้ป่วยจำนวน 686,823 คน ซึ่งงบประมาณการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ปี 67 เบิกจ่ายรายหัว 9,000 บาท ไม่เกิน 6 เดือนต่อราย ขณะที่ปี 68 เพิ่มอัตราเหมาจ่ายต่อคนต่อปี 10,442 บาท แม้ว่ารายหัวจะสูงขึ้น แต่ก็มีคนที่ตกหล่นอยู่ถึง 76,882 คน
และเมื่อจำนวนผู้ป่วยระยะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่หากดูโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของ อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ทั้งโครงการพัฒนาศักยภาพและบริการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย ที่ของบประมาณ 1,274.21 ล้านบาท แต่ได้เพียง 153.27 ล้านบาท ส่วนโครงการองค์ความรู้ด้านสุขภาพฯ ของบประมาณ 7,590.49 ล้านบาท ได้เพียง 2,761.96 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มถูกปรับลดลง ทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังคนได้ ไม่สามารถทำให้เขาก้าวหน้าในอาชีพได้
เสนอโครงการ ‘ธนาคารอุปกรณ์’ ลดภาระค่าใช้จ่ายรับผู้ป่วยดูแลที่บ้าน
ภูริวรรธก์ กล่าวว่า นอกจากงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรแล้ว งบประมาณในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในโครงการยกระดับคุ้มครองสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภายใต้การดำเนินงานสถานชีวาภิบาลประเทศไทย ขอไป 71.85 ล้านบาท ถูกปรับลดเหลือ 20.925 ล้านบาท
ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ พรรคก้าวไกล ผลักดัน ‘โครงการธนาคารอุปกรณ์’ โดยให้ยืมอุปกรณ์ไปใช้ที่บ้านได้ และให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการดูแล จึงอยากเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ป่วย และครอบครัวของผู้ป่วยในระยะพึ่งพิงมากขึ้น เพราะวิธีคิดของรัฐบาลต่อผู้ป่วยระยะพึ่งพิงหรือระยะประคับประคอง ในขณะนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญลดน้อยลง
ภูริวรรธก์ ใจสำราญ