ใครพูดอะไร? ‘ผบ.เหล่าทัพ’ เผชิญหน้า ‘ก้าวไกล’ ชำแหละงบทหาร

17 ม.ค. 2567 - 11:21

  • ‘ก้าวไกล’ บู้หนัก ชำแหละงบ ‘กลาโหม’ จี้ถาม ผบ.เหล่าทัพ แจงงบ ‘ปลัดกลาโหม’ รับศึกครึ่งเช้า แจงปม ‘สังคมครหา’ เช่น งบกำลังพล 1 แสนล้าน ทำไมมากขนาดนี้ – งบราชการลับ ใช้กฎหมายใดรองรับ - รถประจำตำแหน่ง

  • ครึ่งบ่าย ผบ.ทร. โดนหนัก จี้ถามสัญญา ‘เรือดำน้ำ’ เอาให้เคลียร์ การใช้งบ ‘ท่าเรือ-โรงซ่อม’ ลากถึง รล.สุโขทัย อัปปาง ดึงมือ ‘จัสแมกไทย’ จี้ ทร. ให้เคลียร์สาเหตุ เตือนระวังกระทบจัดหายุทโธปกรณ์ สหรัฐฯ

  • ‘ชยพล สท้อนดี’ มือชำแหละงบทหาร ของ ‘ก้าวไกล’ แจ้งเกิดจาก ‘สุทินดาวน์น้อยผ่อนนาน’ ภูมิหลังสายเลือดทหาร เป็น ‘ลูกชายนายพล’ จบ นร.เตรียมทหาร 53

  • เปิดสัมพันธ์ลึก พูดกลางวง กมธ.พิจารณางบฯ ‘พล.อ.ทรงวิทย์ ผบ.ทหารสูงสุด - วิสาร เพื่อไทย’ หลัง ‘รัฐประหาร 2557 อะไรทำให้ ‘วิสาร’ จำไม่ลืม สำนึกบุญคุณ

Military-Army-Commander-Move-Forward-Party-Expenditure-SPACEBAR-Hero.jpg

เข้าสู่ยุคการเมืองเต็มขั้นปีที่ 5 นับจากเลือกตั้งปี 2562 มาถึง 2566 ในยุคที่มี รมว.กลาโหม เป็น ‘พลเรือนเต็มขั้น’ ชื่อ ‘สุทิน คลังแสง’ ไม่ใช่อดีตนายทหารเฉกเช่นในอดีต อีกทั้ง ‘สุทิน’ มาจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่เคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลกับกองทัพ รวมทั้ง ‘สุทิน’ เคยเป็นอดีตแกนนำเสื้อแดง จ.มหาสารคาม เมื่อต้องมานั่ง รมว.กลาโหม แบบตกกะไดพลอยโจน แต่เมื่อต้องมาทำหน้าที่ ก็ต้องรักษา ‘ความเป็นเพื่อไทย’ เอาไว้ ที่ไม่ย่อมหรืออ่อนกับ ‘กองทัพ’ มากจนเกินไป

จะเห็นได้ว่า ‘งบกระทรวงกลาโหม’ ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 198,320 ล้านบาท แบ่งเป็น สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 9,275 ล้านบาท กองทัพไทย 14,771 ล้านบาท กองทัพบก 95,924ล้านบาท กองทัพเรือ 41,086 ล้านบาท กองทัพอากาศ 36,411 ล้านบาท

หากเทียบงบประมาณกลาโหม ตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 192,949 ล้านบาท งบประมาณปี2559 เพิ่มเป็น 206,461 ล้านบาท งบประมาณ ปี 2560 เพิ่มเป็น 213,544 ล้านบาท  ในงบประมาณปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 218,503 ล้านบาท งบประมาณปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 227,126 ล้านบาท งบประมาณปี 2563 เพิ่มขึ้นอีก 231,745 ล้านบาท ต่อมางบประมาณปี 2564 เริ่มลดลง 214,530 ล้านบาท ที่เข้าสู่สถานการณ์โควิดแล้ว 

ต่อมางบประมาณปี 2565 ลดลง 201,666 ล้านบาท ต่อมางบปี 2566 ลดลงต่ำกว่า 2 แสนล้าน อยู่ที่ 197,292 ล้านบาท 

เมื่อเทียบงบปี 2566 กับงบปี 2567 ที่เสนอขอ เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่างกัน

Military-Army-Commander-Move-Forward-Party-Expenditure-SPACEBAR-Photo00.jpg

การชี้แจงงบประมาณกลาโหม-เหล่าทัพ ปี 2567 ในที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่รัฐสภา นำโดย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มาพร้อมกับ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. , พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. , พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ที่อยู่ร่วมการชี้แจงตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงเย็น

งบบุคลากร ‘กลาโหม’ ทะลุ 1 แสนล้าน เพราะ ?

โดยงบประมาณ ‘แผนงานบุคลากรภาครัฐ’ ของกระทรวงกลาโหมปี 2567 อยู่ที่ 109,164 ล้านบาท ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานเดียวได้รวมวงเงิน งบประมาณในการเลื่อนชั้นเงินเดือน ประจำปี ตามสิทธิข้าราชการ และการปรับวุฒิข้าราชการไว้ด้วย ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้ตั้งงบประมาณแตกต่างกับข้าราชการพลเรือน ที่จะตั้งงบประมาณในการเลื่อนชั้นเงินเดือนเพื่อเป็นบำเหน็จประจำปีไว้ที่งบกลาง ในรายการ เลื่อนเงินเดือนและปรับวุฒิข้าราชการ โดยเพิ่ม 10% ภายใน 2 ปี โดยคุณวุฒิปริญญาตรีปรับ จาก 15,000 บาท เป็น 18,000 บาท

‘ก้าวไกล’ ปูพื้นถาม ‘ปลัดกลาโหม - ผบ.เหล่าทัพ’ แนะอย่ารบแบบ ‘ซามูไร’

สุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.พิจารณางบประมาณฯ ตั้งคำถามต่อ ปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า ทุกกระทรวงที่มาชี้แจงงบประมาณ ก็ต้องการของบประมาณเพิ่ม ส่วนตัวเห็นความสำคัญของกระทรวงกลาโหม แต่ถ้าใช่งบโปร่งใส่ ทาง กมธ. ก็จะพิจารณางบให้ลำดับต้นๆ ตนเห็นว่ากองทัพควรมีขนาดเล็กลงแต่องอาจ และทันสมัย ในการรบระหว่างประเทศ ไม่ใช่รบกับคนในประเทศ ไม่ใช่แบบซามูไร ที่เอาคนมาเยอะๆ ถ้าเราเห็นภาพตรงกัน ก็ต้องลดละเลิกสิ่งที่ไม่ใช่ภารกิจกองทัพ และการพัฒนากองทัพ เช่น การลดกำลังพล การมียุทโธปกรณ์ที่ทันยสมัยมากขึ้น ต่อยอดเทคโนโลยีภายในประเทศ 

ฝากถึงสำนักงบประมาณ ควรมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ให้ บก.กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ว่าควรไปทางใด เช่น งบกับสัดส่วนกำลังพล 3 เหล่าทัพ สิ่งใดควรเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น เพื่อให้เห็นตรงกันคือในการลดขนาดกองทัพให้เล็กลง แต่มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น กองทัพอากาศ ที่ได้เริ่มทำแล้ว

อย่างไรก็ตาม สุรเชษฐ์ ได้ฝากถึง ปลัดกลาโหม-ผบ.เหล่าทัพ 5 คำถาม 

1)จำนวนกำลังพล แต่ละชั้นยศของแต่ละเหล่าทัพ กับ กระทรวงกลาโหม เท่าใดบ้าง 

2)ความคืบหน้าในการลดกำลังพล 3 เหล่าทัพ

3)เหตุใดจึงมีการโอนงบเยอะ เกี่ยวกับงบบุคลากร ไปยังงบประเภทอื่นหลายรายการ หน่วยงานมีปัญหาใดหรือไม่ การแก้ปัญหาในอนาคตจะเป็นอย่างไร 

4)แผนในการลดจำนวนทหารเกณฑ์ 3 เหล่าทัพ บก.กองทัพไทย มีรายละเอียดอย่างไร 

5)โครงการโครงการเออรี่รีไทร์ที่ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เคยชี้แจงในการอภิปรายงบประมาณปี 2567 วาระแรก มีรายละเอียดและการปฏิบัติการอย่างไร

Military-Army-Commander-Move-Forward-Party-Expenditure-SPACEBAR-Photo03.jpg

คีย์แมนทหาร ‘ขั้วก้าวไกล’ สายเลือด ‘ลูกชายนายพล’ อดีต ‘นร.เตรียมทหาร’

‘กู๊ดดี้-ชยพล สะท้อนดี’ สส.ก้าวไกล กมธ.การทหาร ในฐานะ กมธ.พิจารณางบประมาณฯ ปี 2567 ได้ตั้งคำถามถึงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ถึงงบพิทักษ์รักษา เทิดทูนสถาบัน เปรียบเทียบงบประมาณปี 2566-2567 ที่งบประมาณส่วนนี้เพิ่มขึ้น จากเดิม 1,449 ล้านบาท เป็น 1,843 ล้านบาท หรือ 27.18 % โดยเฉพาะกองทัพเรือ ที่เพิ่มจาก 45 ล้านบาท เป็น 395 ล้านบาท หรือกว่า 769 % และกองทัพอากาศ ที่เพิ่มจาก 35 ล้านบาท เป็น 65 ล้านบาท หรือกว่า 81 % จึงขอถามว่าเพิ่มขึ้นมาอย่างไรบ้าง

พร้อมกันนี้ ชยพล ยังถามถึงเงินราชการลับ ที่มีการขอเท่าเดิมไปเรื่อยๆ มีการใช้งานอย่างไรบ้าง เพราะงบประมาณปี 2566-2567 เท่ากัน 469 ล้านบาท ซึ่ง กมธ. จะทราบได้หรือไม่ เพราะทางเหล่าทัพจะชี้แจงว่าเป็นชั้นความลับ แต่เป็นงบที่เรามองไม่เห็น จึงอยากให้กองทัพชี้แจงเรื่องนี้ พร้อมขอระเบียบประกาศการใช้รถประจำตำแหน่งและงบประมาณย้อนหลัง 3 ปี 

สำหรับ ‘ชยพล’ เป็นมืออภิปราย ‘กองทัพ’ ของพรรคก้าวไกล ที่ถูกปั้นขึ้นใหม่ จากการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 ในวาระแรก ผู้ที่ตั้งฉายาให้ ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม ว่า “สุทินดาวน์น้อยผ่อนนาน” และได้อภิปรายงบกองทัพที่มีความเฉพาะได้คล่องแคล่ว 

เมื่อย้อนประวัติพบว่า ‘ชยพล’ เติบโตมาใน ‘ครอบครัวทหาร’ ตั้งแต่รุ่นคุณปู่และคุณพ่อ โดยคุณพ่อของ ‘ชยพล’ คือ พล.อ.ชัยวัฒน์ สท้อนดี อดีตผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ผอ.อผศ.) อีกทั้ง ‘ชยพล’ เคยผ่านรั้วจักรดาว เป็น นร.เตรียมทหาร รุ่น 53 จากนั้นได้ออกมารั้วทหาร มาสู่การเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace Engineering จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมา ‘ชยพล’ ได้ทำงานเป็น วิศวกรควบคุมคุณภาพการผลิตรถยนต์ Trigo Quality Services (Thailand) นักบินพาณิชย์ A330 การบินไทยจำกัดมหาชน และเริ่มเข้าสู่ ‘ถนนการเมือง’ เป็น ผู้ช่วย สส.พรรคก้าวไกล

Military-Army-Commander-Move-Forward-Party-Expenditure-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘ปลัดกลาโหม’ ทหารลาดหญ้า กองหน้า ฝ่ามรสุม ‘ครหาเหล่าทัพ’

พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ชี้แจงงบราชการลับว่าเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2547 ผ่าน 4 ภารกิจ ด้านความมั่นคงและการป้องกันราชอาณาจักร ภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภารกิจด้านข่าว และภารกิจอื่นที่มีลักษณะปกปิด เพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือโดยสภาพแห่งเทคโนโลยี ซึ่งงบส่วนนี้ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องรถประจำตำแหน่งยึดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ ปี 2523 ที่กำหนดรถราชการใช้กับตำแหน่งใดบ้าง ส่วนหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายยึดตามมติ ครม. ปี 2457

ส่วนงบประมาณพิทักษ์รักษาเทิดทูนสถาบัน หน่วยทหารกระจัดกระจายทั่วประเทศ มีพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ตั้งอยู่ตามจังหวัดอำเภอ ของแต่ละเหล่าทัพชัดเจนเหมือนกับพื้นที่บรรเทาสาธารณภัยที่เข้าไปช่วยเหลือกับประชาชน ดังนั้นมีความจำเป็นในเรื่องของงบประมาณที่พิทักษ์รักษาเทิดทูนสถาบันจะต้องมีทุกหน่วยงานและงบประมาณที่เพิ่มของสำนักงบประมาณที่ตั้งงบฯมิให้ใช้งบกลางให้ตั้งงบตัวเอง จึงเป็นที่มาของงบปีนี้ที่เพิ่มขึ้น และงบพิทักษ์เทิดทูนสถาบันสัดส่วน 0.93% ของงบกระทรวงกลาโหมทั้งหมด

สำหรับ พล.อ.สนิธชนก จบ ตท.24 จปร.35 เกษียณฯปี 2568 กำเนิดจากถิ่นบูรพาพยัคฆ์ เติบโตมาจากสายลาดหญ้า พล.ร.9 สายตรงบ้านป่ารอยต่อ เติบโตเหล่าทหารราบ เริ่มชีวิตราชการที่ ร.12 พัน.2 รอ. จากนั้นเติบโตในหน่วย ทบ. หลายหน่วย ก่อนที่ พล.อ.สนิธชนก เติบโตมาจาก พล.ร.9 ในหลายตำแหน่ง ผู้การ ร.19 , ผบ.พล.ร.9 ก่อนข้ามไปเป็นรอง ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และเข้ามาสู่กระทรวงกลาโหม ตำแหน่ง ผบ.ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม จนขึ้นเป็นปลัดกลาโหม

สัมพันธ์ ‘ผบ.ทหารสูงสุด – อดีต สส.เพื่อไทย’ ย้อน รปห.57 ถึงขั้นสำนึกบุญคุณ

ช่วงหนึ่งในการประชุมช่วงเปิดให้ กมธ. สอบถาม ‘วิสาร เตชะธีราวัฒน์’ อดีต สส.เพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอบคุณ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ว่า สำนึกในบุญคุณ ถ้าไม่ได้ท่าน คงไม่ได้อยู่ในไทย ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ สมัยช่วงเป็น รมช.มหาดไทย ไม่โดยใส่กุญแจมือ หรือนำตัวไปขัง ถือว่าได้รับเกียรติ อีกทั้งมีทหารนำปืนมาอยู่หน้าบ้าน ก็ตื่นเต้นมากแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องจำไปชั่วชีวิต

จากนั้น พล.อ.ทรงวิทย์ ชี้แจงว่า ปรัชญาชีวิตผมสุดท้ายเมื่อประเทศชาติ เราเป็นคนไทยก่อนเป็นทหาร เป็นนักการเมือง ก่อนเป็นพรรคการเมือง สิ่งที่ผมดูแลท่านและทุกคน ที่ดูแลในพื้นฐานคนไทยที่รับใช้ประชาชน ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน

‘เพื่อไทย’ อวย ‘มินิ วอป.’ หลังปรากฏชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’

'วิสาร เตชะธีราวัฒน์' อดีต สส.เพื่อไทย ในฐานะ กมธ.พิจารณางบฯ ปี 2567 กล่าวในที่ประชุม กมธ. ว่า เห็นด้วยการเปิดหลักสูตรหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) หรือ นิมิ วอป. เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้งานด้านความมั่นคง พัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ เพราะหลักสูตร วปอ. เดิม เปิดให้อายุ 50-55 ปี เมื่อเรียนจบก็เกษียณฯ ไม่ได้มาใช้พัฒนาประเทศ ตนมองว่าคนรุ่นใหม่จะได้มาพัฒนาประเทศต่อไป แต่ ‘วิสาร’ ได้กล่าวถึงหลักสูตร วปอ. เกี่ยวกับการใช้คอนเนกชันต่างๆ ด้วย

ขณะที่ พล.อ.ทรงวิทย์ ผบ.ทหารสูงสุด ชี้แจงหลักสูตร มินิ วปอ. ว่า หลักสูตรนี้เป็นการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับงานความมั่นคง ซึ่งคนรุ่นใหม่จะอยู่พัฒนาประเทศ 20 -30 ปี ซึ่งเราคิดหลักสูตรนี้มา 3 ปี แต่ไม่ลงตัวเสียที ติดในเรื่องงบประมาณ เรื่องคน จนมาถึงช่วงที่ต้องตัดสินใจว่าในวันนี้วิธีคิดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ของนักการเมืองกับผู้นำเหล่าทัพ เจนเนอเรชั่น อายุมันห่างกันมาก จนถึงอยากสร้างคนในกองทัพให้มีความเข้าใจฝ่ายการเมือง และประชาชนว่าในอนาคตเขาต้องการกองทัพอย่างไร

"นักเรียนไม่ได้เรียนอย่างเดียวต้องมาดีไซน์กองทัพในอนาคตด้วย นี่คือผลงานที่เราต้องการในหลักสูตรนี้ส่วนเรื่องอย่างอื่นที่ตามมาว่าพบกันแล้ว ไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมตรงนี้ผมต้องรับไปและกำหนดจรรยาบรรณในตัวหลักสูตรก็น้อมรับในทุกๆเรื่อง" พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าว

สำหรับหลักสูตรมินิ วปอ. พบว่ามีชื่อของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีชื่อมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ โดยทาง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) เจ้าของหลักสูตร จะทำการคัดจากเกือบ 500 คน เหลือ 150 คน เมื่อไปดูรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ จะพบว่ามีชื่อ ‘ทายาทการเมือง – นักธุรกิจ - ตระกูลดัง’ จำนวนมาก รวมทั้งมี ‘เพื่อนอุ๊งอิ๊ง’ เรียนด้วย เช่น เอิง-คณาพจน์ โจมฤทธิ์ เป็นต้น

Military-Army-Commander-Move-Forward-Party-Expenditure-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘ก้าวไกล’ ทวงสัญญา ‘เรือดำน้ำ’ ทิ้งบอมบ์โยกงบ

‘ชยพล สะท้อนดี’ สส.ก้าวไกล กมธ.การทหาร ในฐานะ กมธ.พิจารณางบประมาณฯ ปี 2567 ขอดูสัญญาเรือดำน้ำ และคำวินิจฉัยของ ‘อัยการสูงสุด’ หลัง ทร. สอบถามเคลียร์ปม ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ อำนาจในการเปลี่ยนอยู่ที่ใคร ?

ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าอำนาจสุดท้ายอยู่ที่ ‘คณะรัฐมนตรี’

นอกจากนี้ ‘ชยพล’ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ‘สุทิน คลังแสง’ ให้สัมภาษณ์สื่อถึงการสร้างอู่จอด-โรงซ่อมเรือดำน้ำที่จะดัดแปลงมาเป็น ‘ท่าเรือพาณิชย์’ ว่า ใช้งบประมาณเท่าใด ส่วนที่ไม่สามารถดัดแปลงเพื่อการพาณิชย์ มูลค่าเท่าใด

พร้อมกันนี้ ‘ชยพล’ ยังได้ถามถึงการ ‘โอนงบ’ ไปจัดหาเรือดำน้ำ เช่น โครงการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลางแบบเคลื่อนที่ 127 ล้านบาท ไปเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 มูลค่า 127 ล้านบาท

โครงการจัดหาเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ สนับสุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ระยะที่ 2 มูลค่า 97 ล้านบาท (รล.ช้าง) ไปเป็นโครงการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ พร้อมระบบสาธารณูปโภค มูลค่า 97 ล้านบาท 

รวมทั้งการโอนงบโครงการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง (8X8) ชนิดลำเลียงพล 15 คัน มูลค่า 118 ล้านบาท ไปเป็น โครงการจัดหาจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง (8X8) ชนิดลำเลียงพล 2 คัน 44 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการโอนงบแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคกคามทุกมิติ 110 ล้านบาท ไปเป็นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ค่าใช้จ่ายในการกู้ลัลำเลียง รล.สุโขทัย มูลค่า 110 ล้านบาท

‘ก้าวไกล’ ดึงมือ ‘จัสแมก’ เคลียร์ปม รล.สุโขทัย อัปปาง

‘ชยพล’ ยังขอดูรายงานเอกสารที่ ทร. ต้องนำส่ง ‘จัสแมกไทย’ เกี่ยวกับการอัปปางของ รล.สุโขทัย เพราะเป็นเรือรบที่จัดหาจากสหรัฐฯ พร้อมขอรายงาน Detailed Survey Report และรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจรอง ทร. รายงาน ผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 และรายงานความผิดทางละเมิดตามกฎหมาย

‘ชยพล’ ได้เยแพร่เอกสารที่จัสแมกไทยทวงการชี้แจงเหตุ รล.สุโขทัย อัปปาง ให้กับสหรัฐฯ โดยเป็นการทวงถามไปยัง ผบ.ทร. ครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้อาจส่งผลต่อการจัดหายุทโธปกรณ์อื่นๆ จากสหรัฐฯ ในอนาคต 

โดย ‘ชยพล’ ได้พ่วงถามถึง ทอ. จะซื้อเครื่องบินรบใดแทน F-35 หลังสหรัฐฯ ไม่อนุมัติขายให้ไทย แล้วทาง ทอ. จะจัดหาเครื่องบินชนิดใด เช่น F-16 จากสหรัฐฯ หรือไม่

ผบ.ทร. แจงยิบ ‘โดนหนัก’ หลายเรื่อง

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ชี้แจงกรณีกู้ รล.งสุโขทัย ว่า กองทัพเรือ ไม่ได้นิ่งดูดายและใจร้อนที่สุดเพราะต้องการนำเรือขึ้นมา เดิมการกู้เรือใช้งบ 200 ล้าน แต่อยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล อนุมัติให้ 90 ล้าน แต่ไม่ต้องผ่าน กกต. ส่วน 110 ล้าน กองทัพเรือต้องออกงบเอง จึงเป็นที่มาการโอนงบประมาณต่างๆ

ทั้งนี้กองทัพเรือสัญญาจะรีบทำให้เร็วที่สุด ขณะนี้ร่างกำลังพลที่หาไม่เจออีก 5 ร่าง ซึ่งเราคิดว่าไม่มีทางใดที่จะไปที่อื่นได้แล้ว เราถึงจำเป็นต้องเอาเรือขึ้นมา ด้วยหลักเหตุผลหลายประการ 

1.คาดว่า 5 ร่างของกำลังพลยังอยู่ในเรือ 

2.เป็นเรือที่ยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์มีน้ำมัน สารพิษที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม 

3.เรือลำนี้ต้องขึ้นมาเป็นวัตถุพยานเพื่อปิดคดี

สอบสวนกำลังพลได้เสร็จสิ้นแล้ว รอแค่เรือขึ้นมาประกอบผลสอบสวนเท่านั้น พร้อมยินดีส่งรายละเอียดข้อมูลให้คณะกรรมาธิการฯ และสิ่งที่คาดหวังก็อยากได้ร่างของลูกน้องแม้แต่เป็นกระดูกอีก 5 ร่างขึ้นมา

ผบ.ทร. ยังขอให้คณะกรรมาธิการฯ อย่าเพิ่งไปจำเรื่องเสื้อชูชีพว่าไม่เพียงพอ ตนยืนยันว่าเป็นเรื่องเท็จทั้งหมด ให้รอผลสอบออกมาก่อน

ต่อมา ผบ.ทร. ได้ชี้แจงเรื่องเรือดำนำ ภายหลัง ‘อัยการสูงสุด’ ตอบมาว่า การแก้สัญญาครั้งนี้ถือเป็นสาระสำคัญดังนั้นจึงต้องเข้า ครม. เพราะเป็นการจัดซื้อแบบ ‘รัฐจ่อรัฐ’ หรือ ‘จีทูจี’ จึงเป็นอำนาจและดุลพินิจ ครม. เพื่อจะได้นำไปเจรจาได้ ซึ่งตอนนี้ทาง รมว.กลาโหม รับทราบแล้ว และเร่งดำเนินการเพื่อให้เรื่องนี้สิ้นสุดโดยเร็วที่สุด ผบ.ทร. ยังชี้แจงอีกว่า ‘ท่าจอดเรือดำน้ำ’ ใช้จอดเรือรบ ไม่ใช่เรือพาณิชย์

ผบ.ทอ. ชี้แจง ‘สบายๆ’ ไม่โดนหนัก

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ชี้แจงโครงการจัดหาเครื่องบิน ภายหลังสหรัฐฯ ไม่อนุมัติเครื่องบิน F-35 ให้กับ ทอ. แต่ทาง ทอ. ยังคงมีความจำเป็นในการจัดหาเครื่องบินโจมตี ซึ่งทาง ทอ. ได้คืนงบจัดหา F-35 งวดแรก 369 ล้านบาท แก่สภาฯแล้ว

ทั้งนี้ในงบประมาณปี 67 ทาง ทอ. ยังไม่ได้จัดหาเครื่องบินโจมตี เนื่องจากแผนการจัดทำงานของ ทอ. เราคำนึกสภาพแวดล้อมประเทศ จึงเน้นเรื่องสวัสดิการกำลังพลในกองทัพ และการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆ ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในปี 2567-2568 

สำหรับแผนงานจัดหาเครื่องบินทดแทน F-16 จะเริ่มทำคำของบประมาณปี 2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินเครื่องบินรบว่าแบบใดเหมาะกับ ทอ. มากที่สุด ใช้งานกับของเดิมได้ เพื่อให้การใช้งบที่คุ้มค่าที่สุด 

ส่วนแผนจะสะดุดหรือไม่ จาก ‘จัสแมกไทย’ ผลพวงจากกรณี รล.สุโขทัย นั้น ผบ.ทอ. ชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับทราบรายงานว่าจะมีผลกระทบการจัดหาเครื่องบินจากสหรัฐฯในปี 2568 หรือไม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์