ตำนาน ‘มิน อ่อง หล่าย’ จาก ‘ทหารราบสุภาพบุรุษ’ สู่ ‘นักรบผู้ดุดัน’

10 เมษายน 2567 - 03:26

Min-Aung-Hlaing-Coup-Myanmar-Aung-San-Suu-Kyi-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แม้กองทัพจะร่วมกติกา ‘จัดการเลือกตั้ง’ แต่สุดท้ายประชาธิปไตย ก็ไม่มีอยู่จริง ‘การเมืองเมียนมา’ กลับมาอยู่ภายใต้ทหารอีกครั้ง หลังกองทัพคุมตัว ‘อองซานซูจี-ผู้นำระดับสูง’ ก.พ.2564

  • เปิดตัวตน ‘มิน อ่อง หล่าย’ จากคำบอกเล่า นายทหารราบที่ค่อนข้างถ่อมตัว เป็นสุภาพบุรุษ-นักวิชาการ เติบโตในกองทัพ จนขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด แทน ‘นายพลตาน ฉ่วย’

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ที่ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดย อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 

ซึ่งในเวลาต่อมาเครือข่ายของพรรค NLD ได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ รัฐบาลเงา (National Unity Government: NUG) ขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของนายพลมิน อ่อง หล่าย พร้อมกับจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF (People's Defense Force) ขึ้นมาต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

ความเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลทหารเมียนมา ภายใต้การนำของนายพลมิน อ่อง หล่าย หากย้อนไปดูประวัติของเขากว่าจะเติบโตมาถึงวันนี้

มิน อ่อง หล่าย ปัจจุบันวัย 66 ปี มีเส้นทางอาชีพทหารเติบโตมาในกองทัพที่มีอำนาจอย่างมาก หลังจากที่ได้เข้าร่วมในฐานะนักเรียนนายร้อย

มิน อ่อง หล่าย เป็นอดีตนักศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อย(Defense Services Academy) ได้สำเร็จในปี 2517 หลังจากที่ใช้ความพยายามถึง 3 ครั้ง

มีคนบอกเล่าถึงบุคลิกของเขาว่า เป็นนายทหารราบที่ค่อนข้างถ่อมตัว เป็นสุภาพบุรุษและนักวิชาการ ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นประจำและขยับขึ้นระดับสูงต่อเนื่อง จนในที่สุดก็กลายเป็นผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ-2 ในปี 2552 และได้ฉายภาพการเป็นผู้นำทหารนักรบที่ดุดันยิ่งขึ้น

ภายใต้ตำแหน่งนี้ มิน อ่อง หล่าย ดูแลการปฏิบัติการในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การอพยพของชนกลุ่มน้อยหลายหมื่นคน ที่หลบหนีออกจากพื้นที่ตะวันออกของรัฐฉานและเขตโกกั้งตามแนวชายแดนติดกับจีน

กระทั่งในเดือนสิงหาคม 2553 เขาได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการร่วม ต่อมาซึ่งในเวลาไม่ถึง 1 ปี ในเดือนมีนาคม 2554 จึงได้ขยับขึ้นรับตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ข้ามหน้านายพลที่มีอาวุโสมากกว่า ขึ้นเป็นผู้นำแทน นายพลตาน ฉ่วย ที่ครองตำแหน่งนี้มายาวนาน

นายพลมิน อ่อง หล่าย เริ่มดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะที่เมียนมาเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2554 โดยพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(Union Solidarity and Development Party: USDP) ที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร (USDP) ได้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล

ในปี 2559 เมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD)ของ ออง ซาน ซู จี เข้ามามีอำนาจ นายพลมิน อ่องหล่าย ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยการทำงานและมีผลงานปรากฏผ่านสื่อโซเชียล รวมทั้งปรากฏตัวต่อสาธารณะร่วมกับ อองซาน ซูจี เพื่อลบภาพความเป็นรัฐบาลทหาร 

แม้กองทัพจะยังคงมีที่นั่งในรัฐสภา 25% และมีรัฐมนตรีในมือในกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ขณะเดียวกันก็ต่อต้านความพยายามของพรรค NLD ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและจำกัดอำนาจทางทหารเช่นกัน

ท่าทีของกองทัพ หรือ คณะทหารเหล่าทัพ หรือ ตะมะดอว์ (Tatmadaw) ภายใต้การนำของ มิน อ่องหล่ายในช่วงนี้ ได้ถูกประณามกล่าวหาว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ จากหลายชาติ และในเดือนสิงหาคม 2561 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า “นายพลทหารระดับสูงของเมียนมา รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่ายจะต้องถูกสอบสวนและดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ รวมถึงการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมทางสงครามในรัฐยะไข่ รัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน จากเหตุการณ์กองทัพส่งกำลังปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ต่อเนื่องและรุนแรง ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมาก ต้องหลบหนีออกจากเมียนมา

ปีต่อมา 2562 สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับนายพล มิน อ่อง หล่าย พร้อมเจ้าหน้าที่กองทัพอีก 3 นาย และกระทรวงการคลังได้อายัดทรัพย์สินของเขาในสหรัฐ รวมทั้งห้ามการทำธุรกิจกับทั้ง 4 คนนี้

กรกฎาคม 2563 ทางการอังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรนายพล มิน อ่อง หล่าย เช่นกัน โดยกล่าวหาว่าเขาและนายพลโซ วิน รองผู้บัญชาการกองทัพร่วมกันใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา

สถานการณ์ภายในเมียนมาครุกรุ่นต่อเนื่องมาถึงการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่พรรค NLD ชนะแบบถล่มทลาย แต่ในเดือนต่อมา ‘ตะมะดอว์’ และพรรค USDP ที่มีทหารหนุนหลัง ก็ไม่ยอมรับผลเลือกตั้งและโต้แย้งหลายครั้ง

จนในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัว ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ พร้อมกับประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ทำให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กลับมาคุมอำนาจประเทศเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางการประท้วงต่อต้าน รวมไปถึงการสู้รบอย่างรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยในหลายพื้นที่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์