รัฐสภา (31 กรกฎาคม 2567) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนเงิน 1.22 แสนล้านบาท วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดย กมธ.ไม่ได้มีการแก้ไข
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า กมธ.ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้จ่ายให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ และช่วยบรรเทาค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงสุด มีมาตรการในการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ และยินดีตอบข้อซักถามทุกมาตรา


จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า สำหรับการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตามตัวเลขที่แถลงเป็นทางการ เมื่อ 25 ก.ค.ยืนยันที่ 1.2%-1.8% ขยายตัวต่อจีดีพี ทั้งนี้กระบวนการพิจารณาตัวเลขดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา เงื่อนไข ผู้เข้าร่วม และ พฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิ ทั้งนี้เป็นการประมาณการณ์ของผลเศรษฐกิจ หลังจากเติมเงินลงไป
“ไม่มีโมเดลไหนที่รองรับในเรื่องผลของโครงการได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่เคยมีโครงการใดๆ ในประเทศมีข้อจำกัดการใช้ ระยะทาง พื้นที่ กรอบการบังคับใช้ 2 รอบ ดังนั้นอาจไม่มีตัวเลขที่ชี้ชัดเฉพาะให้มั่นใจ ตอนนี้จะเชื่อตัวเลขของใคร ขอให้เดินหน้าโครงการ ส่วนผมเชื่อว่าตัวเลข 1.2%-1.8% เป็นไปได้” จุลพันธ์ อภิปราย
จุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า อย่าคิดว่าโครงการใดโครงการหนึ่งของรัฐ เป็นยาวิเศษที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ ตนไม่ยืนยันว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นยาวิเศษขนาดนั้น แต่อย่างน้อยด้วยกลไกที่ทำและข้อมูลที่เก็บ สามารถเห็นโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำได้
ทั้งนี้ตนขอย้อนถามไปยัง กมธ.ที่สงวนความเห็น หากทำนโยบายที่เป็นของท่าน เช่น เบี้ยผู้สูงอายุที่เติมเงินสด มีความห่วงหรือไม่ว่าเงินจะกระจุกตัวรายใหญ่ เพราะผู้สูงอายุก็เข้าร้านสะดวกซื้อนั้นเช่นกัน ทั้งนี้ไม่มีโครงการใดโครงการเดียวที่เป็นยาวิเศษที่ลงไปทีเดียวปรับโครงสร้างการใช้จ่ายของคนไทยได้ทั้งหมด
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า “แพลตฟอร์มการจ่ายเงิน ได้รับรายงานจากหน่วยงานในชั้นของ กมธ. และคณะกรรมการ ยืนยันว่าทันไตรมาส 4 ปี 67 ดังนั้นต้องเชื่อมั่นใจกระบวนการ แต่หากจะห่วงว่าทำทันหรือไม่ ไม่ใช่เหตุที่จะขอปรับลดเพราะไม่ได้แปลว่าโครงการเดินหน้าไม่ได้ หากจะช้าเพราะผลิตอะไรไม่ทัน สุดท้ายก็ออกไม่ว่า ม.ค.หรือ ก.พ.68 แต่ตนยืนยันว่าไม่เกินเดือน ธ.ค.67 เงินถึงมือประชาชนแน่นอน”