‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเอกสารหลุดรายชื่อผู้สมัคร สว. และผู้ได้รับเลือก สว. ประมาณ 1,200 ราย เป็นบุคคลที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเรียกสอบปากคำในฐานะพยานในคดีฮั้วเลือก สว. ว่า เอกสารดังกล่าวไม่ได้หลุดจากดีเอสไอ แต่ได้สอบถามไปว่าในวันที่มีการเลือก สว. ที่เมืองทองธานี มีการเลือกประมาณ 3000 รายเศษ ทราบว่ามีโพยและรายชื่อประมาณ 1,000 คน ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลชุดนี้มากกว่า ในส่วนของดีเอสไอจะตรวจสอบรายชื่อที่เข้ามา และอาจมีมากกว่าประมาณ 1,200 คน ซึ่งการที่มีรายชื่อไม่ได้ยืนยันว่าเขาทำผิดหรือไม่ ตามหลักการของดีเอสไอ จะพยายามเรียกทุกคนที่รู้เห็นมาให้ข้อมูล ส่วนจะเป็นข้อมูลใหม่หรือไม่ ต้องไปถามพนักงานสอบสวน แต่ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกเมืองทองธานี ก็ต้องมาให้ข้อมูล แต่ขอให้มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ก่อน เพราะยังไม่มั่นใจว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในสำนวนมีมากและเข้มข้นกว่านี้ เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบในเรื่องดังกล่าวนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ก็จะนำมาพิจารณา แต่ในวันนั้นท่านไม่ได้พูดแบบนี้ ท่านพูดหลักการว่าไม่อยากให้ไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิก็ตอบแล้วว่าอันนี้เป็นคนละส่วน ซึ่งเราต้องยึดกฎหมาย ก็ไม่มีประเด็น โดยความเป็นจริงแล้วท่านมีความเห็นที่ดีหลายความเห็น ก็ให้ดีเอสไอไปดูให้ละเอียด เพราะในความผิดอาญา หรืออื่นๆ มันเป็นความผิดของดีเอสไออยู่แล้ว ไม่คงไม่มีไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อว่าการทำงานจะไม่มีปัญหา
เมื่อถามถึงกรณี สว. ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ จะทำให้การทำงานมีปัญหาหรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ในระบบประชาธิปไตยหากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีการใช้สิทธิ์ได้ และยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่คนที่ยื่นคำร้อง หากดูเอกสารที่เป็นตัวเลข หรือในโพย อาจเป็นตัวเลขที่ตรงกัน ซึ่งก็มีเอกสารที่ปรากฏว่ามีรายชื่อที่ยื่นในจำนวน 140 คน คือมี 138 คนที่อยู่ในสภา มีชื่อที่ปรากฏอยู่ในโพย และมีอีกประมาณ 62 คนที่ไม่ปรากฏ
เมื่อถามว่า ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ใช่หลักฐานที่ชัดเจน แต่เป็นหลักฐานที่ได้มาในแต่ละแห่ง มายื่นให้ ส่วนในการประชุม กคพ. วันที่ 6 มี.ค.จะได้ข้อสรุปว่าจะรับหรือไม่เป็นคดีพิเศษ และเรื่องต้องจบ
พร้อมกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ส่งกลับ ‘ชาวอุยกูร์’ ไปยังประเทศจีน ไม่มีความโปร่งใส ว่า เรื่องนี้จะมีการหารือกับ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อที่จะเดินทางไปเยี่ยมชาวอุยกูร์ ที่ถูกส่งตัวกลับอีกครั้ง โดยจะมีการนำสื่อมวลชนไปด้วย ซึ่งยอมรับว่าไทยมีความห่วงใย แต่ต้องยึดหลักบ้านเมือง ถือความเป็นธรรม เพราะชาวอุยกูร์ต้องทรมานมานานนับ 10 ปี และรัฐบาลไทยเราไม่อยากส่งมรดกของการทรมานไปให้คนอื่น เมื่อไทยประเมินในสิ่งที่ดีที่สุดก็ต้องเคารพการตัดสินใจ ซึ่งการประชุมได้มีการพิจารณาอย่างละเอียด
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเผยแพร่จดหมาย ชาวอุยกูร์ 3 ฉบับ แสดงเจตจำนงไม่อยากกลับประเทศจีน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ กล่าวอ้างว่าไม่มีเอกสารดังกล่าว พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ชี้แจง ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดความเสียหายต่อกรมราชทัณฑ์ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เพราะกรมราชทัณฑ์ ได้รับการยืนยันจากชาวอุยกูร์จำนวน 5 คน ในข้อหาปล้นทรัพย์ที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม
ยืนยันว่าไม่ได้เขียนจดหมาย ส่วนกระดาษที่มีตรากรมราชทัณฑ์นั้นเป็นกระดาษที่มีขายในเรือนจำเพื่อให้ผู้ที่ถูกคุมขังเขียนจดหมาย แต่ถ้าจดหมายเผยแพร่จะต้องมีการเซ็นเซอร์ที่ซองจดหมาย ก่อนส่งออกข้างนอก ส่วนจดหมายที่ออกมาจาก ตม.ก็ขอให้ไปถาม ตม.ในเรื่องนี้ เพราะสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็จะมีระบบเช่นกัน
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงข้อมูลรับชาวอุยกูร์ ไปประเทศที่ 3 ไม่ตรงกัน มีทั้งกระแสประเทศที่ต้องการรับตัวชาวอุยกูร์แต่ทางไทยไม่ยอม แต่บางกระแสก็บอกว่าไม่มีใครรับตัว ว่า เรื่องนี้จะต้องขอให้ทาง สมช.เป็นผู้ชี้แจง ซึ่งตัวเองจะขอชี้แจงเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเท่านั้น