ยัน เหตุสู้รบ ‘อิสราเอล-อิหร่าน’ ไม่กระทบคนไทย!

19 เมษายน 2567 - 06:44

ministry-foreign-affairs-19apr2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กระทรวงการต่างประเทศ ยัน เหตุสู้รบ ‘อิสราเอล-อิหร่าน’ ไม่กระทบคนไทย หารือสถานทูตสองประเทศเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • เช่นเดียวกับ ‘สถานการณ์เมียนมา’ มั่นใจ ไม่กระทบไทย แต่พร้อมต่อยอดช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

  • ระบุ ปล่อยตัว ‘อองซาน ชูจี’ เป็นการพักโทษ ไม่เกี่ยวเหตุการณ์ในเมียววดี

นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศที่สถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย และอิหร่านได้ตอบโต้กลับด้วยโดรนจำนวน 300 ลูกว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนไทยในกรณีฉุกเฉิน เพื่อหาช่องทางและแนวทางในการลำเลียงอพยพคนไทยไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยได้ติดต่อไปทางเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ นิกรเดช ยังระบุอีกว่า จากรายงานที่ได้รับมานั้นมีจำนวนคนไทยทั้งสิ้น 28,000 คนที่อยู่ในอิสราเอล และมีคนไทยในอิหร่าน 300 คน ซึ่งการปะทะกันในห้วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ได้ทราบจากรายงานว่า ยังไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบใดๆ

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังระบุถึงจำนวนตัวประกันชาวไทยที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวนั้น ยังคงได้รับรายงานว่า มีจำนวน 8 คน และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังกล่าวถึงท่าทีไทยต่อสถานการณ์เมียนมาว่า ไทยมีการเฝ้าระวังเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกองทัพ และความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ลี้ภัย ซึ่งเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีวาการกระทรวงการคลังสั่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ชายแดนไทยเมียนมา และจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เบื้องต้นฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านมนุษยธรรม พร้อมจะพูดคุยกับทุกฝ่าย สนับสนุนการพูดคุยและการปรองดอง เพื่ิอนำไปสู่สันติภาพในเมียนมา และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะเพิ่มและขยายการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังยืนยันว่า ขณะนี้สถานการณ์ชายแดนไทยเรียบร้อยปกติ และไม่มีผลกระทบเข้ามาฝั่งไทย ผู้ลี้ภัยสงครามก็ยังไม่มี เพราะสถานการณ์เกิดในฝั่งเมียนมา การให้ความช่วยเหลือมนุยธรรม คือต่อยอดสิ่งที่ทำครั้งที่แล้ว คือการช่วยเหลือผ่านองค์กรต่าง ๆ เข้าไปยังผู้ได้รับผลกระทบในเมียนมาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการทะลักเข้ามาแต่อย่างใด 

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาจะดีขึ้นใช่หรือไม่ หลังรัฐบาลทหารเมียนมา ปล่อยตัว อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอูวิน มายิน อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ไปกักตัวบ้านพักส่วนตัว นิกรเดช ระบุว่า มีการประเมินสถานการณ์ 2 เรื่อง ทั้งเหตุการณ์ที่ชายแดน และการปล่อยตัว ประเมินว่า ต้องแยกออกจากกัน สถานการณ์ที่เมืองเมียวดีเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น และขณะนี้มีการเจรจาภายในฝ่ายเมียนมาอยู่ ส่วนการปล่อยตัวอองซาน ซูจี เป็นเรื่องที่รัฐบาลเมียนมามีแนวทางการลดโทษ เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งการย้ายมากักบริเวณ ก็อยู่ในบริบทการลดโทษ และเราก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์