ชายแดนเมียนมาดีขึ้น ไม่มียิงกันในรอบ 48 ชม.

24 เมษายน 2567 - 05:06

ministry-foreign-affairs-24apr2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กต.เผยสถานการณ์ชายแดนเมียนมาดีขึ้น ไม่มียิงกันในรอบ 48 ชม. ผู้หนีภัยทยอยกลับแล้ว

  • ‘นิกรเดช’ ย้ำยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด รับสถานการณ์ไม่แน่นอน ปรับเปลี่ยนรายชั่วโมง

  • ยันไทยพร้อมเป็นตัวกลางเจรจา เปิดวง ‘อาเซียนทรอยก้า-ทรอยก้าพลัส’ ผลักดันสันติภาพให้ได้ ลั่น สถานที่อาจเป็นเมืองไทยก็ได้ ตามจุดยืนการเป็น Active promoter of peace

นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยระบุว่า คณะกรรมการได้ติดตามสถานการณ์ความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ว่า มีความไม่แน่นอนสูง มีความผันผวน มีการขยายพื้นที่การสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านและกองทัพเมียนมา ชายแดนไทยและเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้าน และกองทัพเมียนมาต้องการยึด

โดยแนวโน้ม 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทุกอย่างดีขึ้น คนในพื้นที่ไม่ได้ยินเสียงปะทะ สภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับหน่วยข่าวได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลายสถานการณ์ รวมถึงสถานการณ์ที่จะมีผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาฝั่งไทยมากขึ้น ย้ำท่าทีไทยว่า 1.ไทยยึดมั่นรักษาอธิปไตยของคนไทย รวมถึงการดูแลความปลอดภัยความมั่นคงของพี่น้องชาวไทย 2.ไทยไม่ให้ใช้ดินแดนในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศไม่ว่าจะจากฝ่ายใด 3.ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้มอบหมายงานให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบการสื่อสารต่อสาธารณชนไทย และต่างประเทศ ส่วนศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข่าวในพื้นที่ พร้อมให้ที่ประชุมประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ สมช.เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงและการข่าว ส่วนกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานด้านการทูต โดยตอนนี้ไทยได้ประสานให้มีการประชุมอาเซียนทรอยก้า และกรอบอาเซียนทรอยก้าพลัส ผ่านประธานอาเซียน ประเทศลาว 

นิกรเดช ย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่การกระทบกระทั่งระหว่างไทย-เมียนมา และไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในของเมียนมา ไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าเราจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งกลุ่มพลเรือน ทหารที่ขอหนีภัย ซึ่งเรามีหลักสากลในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งการปลดอาวุธ และการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเครื่องแบบพลเรือน ส่งกับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบผ่านหลักการไม่ส่งผู้หนีภัยกลับไปสู่อันตราย ทั้งนี้การดำเนินการจะตั้งอยู่บนพื้นฐานสมดุล ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน 

ไทยมีความพร้อมในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัย โดยที่ผ่านมาประชาชนเมียนมาที่เข้ามาในไทยได้กลับไปเป็นจำนวนค่อนข้างสูง สะท้อนว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมากขึ้นสถานการณ์น่าจะสงบลงในระดับที่ผู้หนีภัยในฝั่งไทยคลายความกังวลและขอกลับไป

ส่วนผลกระทบต่อไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง มีผลกระทบทางการค้าชายแดน ซึ่งเป็นผลกระทบชั่วคราว คณะกรรมการจึงพิจารณาแนวปฏิบัติการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ซึ่งจะมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ โดยมีการเตรียมการ 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.ภาวะปกติ 2.การดำเนินการกรณีที่ผู้หนีภัยเข้ามายังประเทศไทยแล้ว 3.การขอรับการสนับสนุนในภาพรวมจากองค์การระหว่างประเทศ 4.การประชาสัมพันธ์ให้สาธารชนทราบ 

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีแนวทางจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณารายละเอียด จะประกอบด้วยผู้ประสานงานหลัก และหน่วยงานต่างๆ โดย สมช.จะเป็นผู้ดำเนินการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ 

นิกรเดช ยังกล่าวถึง การลงพื้นที่ตามแนวชายแดนตลาดริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 อ.แม่สอด จ.ตาก ของปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

โดย นิกรเดช กล่าวว่า ตามที่ได้รับรายงานมานั้น ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. ไม่มีการสู้รบในบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 โดยผู้หนีภัยความไม่สงบที่มาอยู่ในฝั่งไทยสูงสุดคือ 3,000 กว่าคน แต่จนถึงตอนนี้ได้เดินทางกลับไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยจำนวนที่ยังอยู่ในไทยตอนนี้ประมาณ 650 คน และคาดว่า มีแนวโน้มที่ผู้หนีภัยจะเดินทางกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

นิกรเดช กล่าวต่อว่า กองกำลังนเรศวร โดยหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งประจำการอยู่ในพื้นที่ก็มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา หากมีความจำเป็นก็พร้อมจะเพิ่มกำลัง ทั้งนี้การดำเนินการดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบนั้น ขอย้ำว่า เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยเมื่อมีคนเดินทางเข้ามาก็จะมีพื้นที่แรกรับเพื่อแยกแยะว่าคนกลุ่มใดเพื่อเก็บข้อมูล

ถัดมาคือนำคนเหล่านั้นไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวก่อนที่จะไปยังพื้นที่พักรอ ซึ่งตอนนี้ทางการไทยมีพื้นที่พักรอเกิน 50 จุด และทางกาชาดได้ตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของจากเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรอื่นๆ ตลอดจนคนไทยในพื้นที่ด้วย 

สำหรับการค้าชายแดน นิกรเดช ระบุว่า ได้รับผลกระทบพอประมาณตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม พบว่า ปริมาณการค้าในชายแดนลดลงประมาณไม่เกิน 20% แต่สิ่งที่สำคัญมากที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว้าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงพื้นที่คือ เรื่องขวัญกำลังใจของประชาชน ซึ่งท่านต้องการให้ประชาชนตามแนวชายแดนความสบายใจ และมีความมั่นใจในมาตรการที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการอยู่ 

นิกรเดช กล่าวต่อไปว่า ขวัญ และกำลังใจของประชาชนในตามแนวชายแดนยังมีมาก ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทราบดีว่า สามารถขอย้ายไปยังพื้นที่ที่มีความปลอดภัยได้ หากมีความจำเป็น รวมถึงกองกำลังนเรศวรยังมีชุดทหารเดินสายให้ความรู้ และให้ความมั่นใจแก่ประชาชนเพื่อประเมินถึงความเสี่ยงหรือไม่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถลดกระแสความกังวลของประชาชนได้มาก 

นิกรเดช ย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานมานั้นพบว่า สถานการณ์ดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยก็ยังคงติดตามสถานการณ์ และเรายังคงประเมินว่า สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลา 

“หน่วยงานต่างๆ ของไทยมีแผนที่จะรองรับสถานการณ์ ขอให้ประชาชนในพื้นที่มีความสบายใจ และไว้วางใจได้ว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก” นิกรเดช กล่าว

จากนั้น เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมได้มีการประเมินหรือไม่ว่าด่านพรมแดนแม่สอดจะเปิดได้เมื่อไหร่ นิกรเดช กล่าวว่า ตอนนี้ขึ้นอยู่กับฝั่งเมียนมาว่าเจรจากันไปถึงไหน ส่วนตัวทราบว่าทุกฝ่ายในเมียนมาก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดช่องทางการเดินทางเพราะสะพานมิตรภาพแห่งที่สอง เป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ปิดก็เพราะมีความเสี่ยง และทางเจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมาไม่สามารถมาปฎิบัติหน้าที่ได้ ตนเชื่อว่าสะพานน่าจะเปิดได้ในเร็วๆนี้ เมื่อวานนี้รองนายกฯปานปรีย์ ก็ได้หารือกับสภาหอการค้าและภาคเอกชน ทุกฝ่ายก็มีความประสงค์เดียวกันว่าอยากจะให้การค้าชายแดนกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เมื่อถามว่าการไทยจะเป็นตัวกลางในการประสานตามที่ปานปรีย์ได้ให้สัมภาษณ์ ทางกระทรวงได้ดำเนินการถึงขั้นตอนไหน และกรอบเวลา สถานที่จะเป็นอย่างไร นิกรเดช กล่าวว่า ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และสมาชิกของอาเซียน รวมถึงเป็นประเทศที่มีความสนิทสนมกับประเทศลาว ที่เป็นประธานอาเซียน เราได้สนับสนุนในทุกข้อริเริ่ม ซึ่งไทยได้เสนอให้มีการประชุมอาเซียนทรอยก้า และอาเซียนทรอยก้าพลัส เพื่อหาสันติภาพในเมียนมา โดยได้ส่งไปทุกประเทศแล้ว    โดยเฉพาะลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ส่วนเกิดที่ไหนยังไม่มีข้อสรุป แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดที่ประเทศไทยก็ได้ หากมีการนัดจะรีบแจ้งให้ทราบ พร้อมย้ำว่าไทยพร้อมเป็น 1 ในผู้ที่จะทำให้เกิดการพูดจาในเมียนมา เบื้องต้นยังไม่ได้รับการติดต่อทั้งจากฝ่ายรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มต่อต้าน 

นิกรเดช ย้ำว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเมียนมากระทบทุกคน โดยเฉพาะประเทศไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน 

“ไม่ใช่แต่เฉพาะกับเรื่องเมียนมา แต่ไทยเป็น Advocate for Peace ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องปกติมาก เมื่อเรื่องเกิดขึ้นประชิดชายแดนเพื่อนบ้านเรา เรายอมย้ำจุดยืนการเป็น Active promoter of peace การเป็นประเทศผู้ต้องการนำสันติสุขมาสู่ความขัดแย้ง สะท้อนออกมาในการที่ประเทศไทยแสดงความพร้อมตามที่ทุกท่านทราบ เป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปช่วยให้เกิดการพูดจาระหว่างฝ่ายต่างๆในเมียนมา หากฝ่ายเมียนมาเห็นว่าเรามีความพร้อมก็จะไปช่วย” นิกรเดช กล่าว

ส่วนกรณีที่ทหารเมียนมากำลังปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่จังหวัดเมียวดี นิกรเดช ระบุว่า ทางการไทยติดตามข่าวตลอด ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ชายแดนและกรุงเทพฯ เรามีสถานทูตและประชาคม ดังนั้น เรามีการติดตามข้อมูลอยู่ตลอดเวลาว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ผมย้ำอยู่เสมอว่าเราติดตามกันรายชั่วโมง รายวัน ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวในฝ่ายต่อต้านด้วย ผมจึงขอไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้เพราะตัวผมเองก็ได้รับรายงานที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” นิกรเดช กล่าว

นิกรเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของฝ่ายไทย ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อให้เข้ามาดำเนินการเป็นตัวกลาง แต่จะมีการเริ่มเจรจากันภายในกลุ่มของเมียนมา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์