‘กต.’ ยันให้ ‘เครื่องเมียนมา’ ลงจอดแม่สอด เป็นไปตามหลักการทูต - มนุษยธรรม

8 เม.ย. 2567 - 09:47

  • ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการ ! ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ แจงตัดสินใจอนุญาต ‘เครื่องบินเมียนมา’ ลงจอด ‘แม่สอด’ ย้ำเหตุผลตามหลักมนุษยธรรม - ปฏิบัติทางการทูต

  • ย้ำต้องคำนึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

Ministry-of-Foreign-Affairs-Clarifying-the-case-of-the-Myanmar-plane-Parking- at-Maesot-SPACEBAR-Hero.jpg

8 เมษายน 2567 ‘ธนวัต ศิริกุล’ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเกี่ยวกับการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษของเมียนมาที่ท่าอากาศยานแม่สอดว่า ตามที่ปรากฎข่าวการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษของเมียนมามาที่ท่าอากาศยานแม่สอดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ 

กระทรวงการต่างประเทศได้รับคำขอจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567 ขออนุมัติเที่ยวบินพิเศษจำนวน 3 เที่ยวสำหรับวันที่ 7 , 8 และ 9 เมษายน 2567 เส้นทางย่างกุ้ง-แม่สอด เพื่อขอขนส่งผู้คนและสิ่งของ  

ภายหลังได้รับคำขอดังกล่าวและเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วนและมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องมีการอพยพบุคลากรของเมียนมาพร้อมครอบครัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาลที่จะอนุมัติคำขอของเมียนมาด้วยเหตุผลด้านมนุษนยธรรม 

ต่อมาสภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายในเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ  

โดยหน่วยงานความมั่นคงมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการบริหารจัดการ หากเกิดกรณีที่มีผู้บาดเจ็บ หรือผู้ที่ขออพยพข้ามแดนมาฝั่งไทย โดยจะไม่อนุญาตให้มีการนำอาวุธจากฝั่งใดๆ เข้ามายังฝั่งไทย  

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 ได้มีเที่ยวบิน 1 เที่ยวบินจากเมียนมา ลงที่ท่าอากาศยานแม่สอดตามคำขอ และได้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้วในวันเดียวกัน ล่าสุดฝ่ายเมียนมาได้แจ้งขอยกเลิกเที่ยวบินที่เหลือสำหรับวันที่ 8 และ 9 เมษายน 2567 แล้ว  

ขณะนี้รัฐบาลได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะบริเวณเมืองเมียวดีอย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมที่จะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย วันพรุ่งนี้ (9 เมษายน) จะมีการประชุมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดแนวทางการดำเนินการของไทยต่อไป 

ภายหลังการแถลงเสร็จสิ้น ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม โดยไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ 

ธนวัต ยืนยันกับสื่อมวลชนภายหลังแถลงข่าวว่าภารกิจหลักของรัฐบาลคือดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติและคนไทยเป็นหลัก ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าการดูแลความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนและความมั่นคงปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงของไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง 

เมื่อถามว่าการขออนุญาตลงจอดที่สนามบินแม่สอดในครั้งนี้ ถูกต้องตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่ นายธนวัต กล่าวว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะมีการแลกเปลี่ยนบันทึกทางการทูตระหว่างกัน และมีการอนุมัติกันไป ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เราทำกันอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน  

"เราเป็นที่รู้กันดีว่าเราอยู่ร่วมกันมานาน เราก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเมื่อจำเป็นเร่งด่วน เราเห็นแล้วว่าเขามีเหตุที่ขอมา และอยู่ในวิสัยที่สามารถอนุมัติได้ ก็คิดว่าปกติ และหากเราขอความร่วมมือจากประเทศชายแดนเพื่อนบ้านเช่นนี้ เราก็คงคาดหวังว่าเขาจะพิจารณาด้วยดีเช่นกัน" ธนวัต กล่าว 

นายธนวัต กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้ก็เป็นไปตามช่องทางที่ทางเมียนมาติดต่อมา คือสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยส่งบันทึกให้กระทรวงการต่างประเทศ 

ส่วนสาเหตุของเที่ยวบินที่แจ้งยกเลิกนั้น ทางเมียนมาได้แจ้งหรือไม่ นายธนวัต กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่คิดว่าอาจจะมีการหารือกันต่อไปในอนาคต  

เมื่อถามว่ายังมีความกังวล หากทางการเมียนมาขนย้ายสิ่งของไปแล้ว จะมีการเอาคืนชนกลุ่มน้อยจนทำให้กระทบฝั่งไทย นายธนวัต ระบุว่า ตนในฐานะรองโฆษกกระทรวง อาจจะตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการคาดหวัง ไม่ใช่การคาดการณ์ไปล่วงหน้า อาจจะไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะตอบ 

เมื่อถามย้ำว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่ามีการปูพรมน่านฟ้า กระทรวงการต่างประเทศจะมีแนวทางดูแลคนที่อยู่ชายแดนอย่างไร นายธนวัต กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงของเรามีแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจน ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดก็คือผลประโยชน์ของประเทศไทย และความอยู่รอดปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย เราเองก็มีแนวปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นด้านมนุษยธรรม ถ้ามีใครขอเข้ามาก็มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าห้ามเอาอาวุธเข้ามา ส่วนเรื่องอื่นถ้าเกิดขึ้น แล้วส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยในชายแดน เราก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้วเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงดูแลอย่างใกล้ชิด ตนคิดว่าพรุ่งนี้เช้า (9 เมษายน 67) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบจะมีการหารือนั้น จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กัน 

ส่วนเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคต่อโครงการระเบียงมนุษยธรรมหรือไม่ นายธนวัต กล่าวว่า ก็คงมีข้อคำถามมากขึ้น แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ เรื่องการกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติต่างๆ คงต้องประเมินสถานการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารในระดับสูงที่จะพูดคุยกัน เพราะจะเป็นการร่วมมือกันหลายฝ่าย 

ส่วนเรื่องการอพยพมีการเตรียมแผนไว้หรือไม่ นายธนวัต ระบุว่า พรุ่งนี้คงมีการประเมินสถานการณ์ หากเลวร้ายลงจะไปในแนวทางไหน  ตนเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงมีแผนอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งพรุ่งนี้จะมีหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลักในการประชุม 

เมื่อถามว่าไทยจะมีการปรับบทบาทเข้าไปดูแลโดยที่ไม่ผิดหลักการแทรกแซงได้อย่างไร นายธนวัต กล่าวว่า  ตอนนี้เราดูแลเรื่องมนุษยธรรม เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง ส่วนเรื่องในอนาคตคงต้องมีการมาพูดคุยกันว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร 

ส่วนจะทำความเข้าใจกับชาติอื่นในอาเซียนอย่างไร ตนคิดว่าจุดยืนของไทยค่อนข้างชัดเจนว่ามีคำขอเข้ามา และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นเรื่องมนุษยธรรม จึงค่อนข้างที่จะเป็นปกติ เพราะเราอยู่ประเทศเพื่อนบ้านกัน มีการแลกเปลี่ยนกันไปมาอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่ามั่นใจว่าไม่มีการยักย้ายถ่ายเทอาวุธใช่หรือไม่ นายธนวัต ย้ำว่า ผมเชื่อมั่นว่ามีการปฏิบัติตามแนวทางปฎิบัติของเราอย่างเคร่งครัด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ การติดต่อทางการทูตเป็นเรื่องที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว หากมีการลักลอบดำเนินการ ทางฝ่ายเราเองก็ต้องติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามสิ่งที่เกิดขึ้นตามข้อมูลติดตามเหตุที่เกิดขึ้น 

เมื่อถามว่าขณะนี้ ถือเป็นครั้งที่สองที่มีเที่ยวบินต่างชาติเข้ามาในสนามบินแม่สอด ต้นปีก็มีเที่ยวบินจีนมาขนคนจีน ทำให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลทำอะไรโดยพลการ ดังนั้นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนก่อนหรือไม่ว่าจะมีปฏิบัติการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ธนวัต กล่าวว่า คงต้องมีการหารือกัน ผมไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์