การแสดงจุดยืนของ ‘ก้าวไกล’ ต่อปม ‘ทักษิณกลับบ้าน’ ทำได้ดีแค่ไหน

19 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:15

motion-of-move-forward-party-thaksin-shinawatra-returns-home-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สังเคราะห์การแสดงจุดยืนของ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่มีต่อกรณี ‘แม้วกลับบ้าน’ กับฉากทัศน์ทางการเมือง ที่มองว่า ‘ทักษิณ’ อาจเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี สับเปลี่ยน ‘ตำแหน่งนายกฯ’ กับ ‘รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย และ ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ อดีต ส.ส.พัทลุง

หากจับสัญญาณการกลับบ้านจันทร์ส่องหล้าของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เช้าวานนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2567) ประเด็นคงถูกแบ่งออกไปได้หลายมิติ แต่สองเรื่อง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นทอร์กออฟเดอะทาวน์ คือ ‘การเมืองในวันข้างหน้า’ และ ‘ความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม’

มีการแสดงความเห็นในเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ที่ชัดเจน อย่าง การออกผ่านแถลงการ ‘พรรคก้าวไกล’ อันระบุถึงความกังวลของสังคม  ที่มีต่อบทลงโทษทักษิณ และการจองจำบนชั้น 14 รพ. ตำรวจกว่า 180 วัน มิหนำซ้ำยังมีการใช้คำที่ตอกย้ำความหมายลุ่มลึก อย่าง ‘นิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน’ ที่มีในรัฐบาลเพื่อไทย อย่างชัดเจน 

กระนั้นยังมีคอการเมืองหลายคน ออกมาวิพากษ์การออกแถลงการณ์ชิ้นนี้ ว่าไม่หนักหนักแน่น และดูแผ่วเบา ทั้งๆ ที่ผู้ออกคำวิจารณ์มีสถานะเป็น ‘เครื่องจักรสีส้ม’ ที่พร้อมเดินหน้าในการแสดงท่าทีต่อความไม่ทัดเทียมในประเด็นสังคมต่างๆ จนเกิดปุจฉา ‘ก้าวไกล’ ลงน้ำหนักมือเบาไปหรือเปล่า ? 

“ผมคิดว่าก้าวไกลไม่ได้ออกแถลงแบบกั๊ก เพียงแต่ว่าการแสดงออกมันไม่มีดราม่า เนื้อหาคำแถลง มีหัวใจอยู่ที่เรื่องสองมาตรฐาน ผมจึงไม่คิดว่าพรรคก้าวไกล ไม่ได้แสดงท่าทีอะลุ่มอล่วย เพื่อหยั่งไมตรีใดๆ กับพรรคเพื่อไทย เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรร่วมกันทางการเมือง แต่เป็นการแสดงออกแบบตรงไปตรงมา แบบเน้นเนื้อไม่เน้นน้ำ”

เป็นแบบความเห็นตรงไปตรงมาของ ‘รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ที่วิเคราะห์คำแถลงของพรรคก้าวไกล ต่อพรรคเพื่อไทยกรณี 'พานายใหญ่กลับบ้าน’ พร้อมยืนยันจากการที่ได้รับฟังแนวทางและจุดยืนของพรรค ในการเผด็จศึกคราวเลือกตั้งครั้งหน้า จากเวทีเสวนาที่จัดขึ้นย่านบางแควานนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2567) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทักษิณ เดินทางกลับเข้าพักโทษที่บ้านพัก 

ทางบุคลากรคนสำคัญของพรรคก้าวไกล อย่าง ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรค ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลต้องการเอาชนะทางการเมือง โดยใช้วิธีการ ‘ปักธงนำทางความคิด’ ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการทางอารมณ์ หรือสร้างดราม่าให้เกิดขึ้น ส่วนตัวจึงไม่แปลกใจที่พรรคก้าวไกล นำเสนอเนื้อหาในแถลงการณ์แบบไร้ดราม่า  

กรณีที่ประเด็นที่สังคม (บางส่วน) ตั้งคำถามแถลงการณ์และเชื่อมโยงถึง ‘ดีลลับฮ่องกง’ ธนพร ยังยืนยันตามความเชื่อส่วนตัว พรรคก้าวไกล ไม่ได้ยั้งมือในการตอบโต้ แต่แสดงวิสัยทัศน์เต็มที่ ส่วนที่พยายามจะปะติดปะต่อให้เป็นเรื่อง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เดินทางไปพูดคุยกับ ‘ทักษิณ’ ช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น แท้ที่จริงเป็นไปตามคำขอของมารดาอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น ดังนั้นสังคมต้องสังเคราะห์ประเด็นนี้ให้ตกตะกอน  

เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุด คือ ไม่มี 2 ขั้ว 3 ฝ่ายในทางการเมืองจริงๆ แต่จะมีแค่ปีกซ้ายปีกขวา และในมิติการทำการเมืองร่วมกันต่อจากนี้ ระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ถึงจุดตีบตันแล้ว นับตั้งแต่การตระบัตรสัตย์และจับมือร่วมขั่วกับพรรคสองลุง

“ยังไงเพื่อไทยก็ไม่สามารถจับมือกับก้าวไกลได้ จับเมื่อไหร่คุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้เหมือนกัน มันชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อไปดูนายน้อย (แพทองธาร) ที่แสดงทรรษนะในนามหัวหน้าพรรค ที่บอกว่า รัฐบาลต้องทำงานเพื่อประชาชน และสถาบัน มันก็สะท้อนจุดยืนว่าเขาอยู่คนละขั้วกับพรรคก้าวไกล ผมเข้าใจดีว่ามีคนเชียร์อยากให้จับมือกัน แต่เหตุการณ์มันบานปลายแล้ว และวันนี้เพื่อไทยเองก็ไม่จำเป็นต้องจับมือกับก้าวไกล เพราะเพื่อไทยเขารู้ดีว่าสักวันต้องถูกถีบสกัด” 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กล่าว

ธนพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้จับตามิติทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ในการกลับมาเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง เฉกเช่นเดียวกันกับช่วงที่ ‘ครอบครัวชินวัตร’ เคยมีมาช่วง 20 ปี ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ เรื่องมิติการลงทุนแถบประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญที่คือการวางหมากทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล  

ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ยังเชื่อมั่นว่า ‘นายใหญ่’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ยังไม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยน ‘นายกฯ’ เพราะทุกอย่างอยู่ในภาวะ ‘นั่งรถเมล์เลยป้าย’ หรือแม้แต่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เองก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะแบกรับความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร… 

ขณะที่ ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ อดีต ส.ส.พัทลุง ที่อยู่ร่วมยุคเฟื่องฟูของรัฐบาลไทยรักไทย และตรวจสอบความเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ’ มาตลอด ได้เปิดเผยถึงเรื่อง จุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อการกลับบ้านจันทร์ส่องหล้าว่า พรรคก้าวไกล ควรรีบออกแสดงท่าทีอย่างชัดเจนลักษณะแบบนี้ ตั้งแต่ทักษิณถูกควบคุมตัวในช่วงแรกๆ แล้ว ไม่ใช่เพิ่งออกแถลงการณ์ในวันที่ทุกอย่างมันเสร็จสิ้น แก้ไขอะไรไม่ได้ 

“มันช้าไป จริงๆเราเคยได้ยินคำว่า โหนกระแส แม้ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลจะไม่ค่อยโหน แต่เมื่อวานนี้สังคมก็เห็นว่า เขากำลังโหนกระแสเรื่องไม่เห็นด้วย แต่จริงๆ 2 พรรคนี้เขามีจุดร่วมกันเรื่องหนึ่ง คือเรื่องมาตรา 112 อยู่ รวมถึงผลประโยชน์ร่วมกันในกรณีเรื่องนิรโทษกรรม ที่มีแนวโน้มว่าอนาคตอาจจะกลับมาจับมือร่วมกันใหม่บนถนนการเมือง”

นิพิฏฐ์  กล่าวต่อว่า ความชัดเจนคือท่าทีที่คล้อยตามเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทยเริ่มโอนอ่อนเ รื่องการเว้นโทษผู้ต้องหาคดี 112 ภายหลังที่ทักษิณถูกเล่นงานในประเด็นดังกล่าวด้วย จึงมองว่าในการเลือกตั้งรอบหน้า อาจมีแนวทางที่พรรคก้าวไกลกลับมารวมขั้วกันอีกรอบ เพราะหลายสิ่งมีความคิดคลายคลึงกัน  

ส่วนฉากทัศน์ในวันข้างหน้าที่ นิพิฏฐ์วิเคราะห์ต่อจากนี้ คือประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การดูแลของทักษิณ โดยเขามองว่า การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับการเปลี่ยนตัวนายกฯ เพราะในเมื่อถนนทางอำนาจทุกเส้น มุ่งตรงไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และทักษิณเองก็เป็นผู้กุมบังเหียน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ตัวจริง จึงไม่มีจำเป็นต้อง ‘เปลี่ยน’ ให้คนอื่นเข้ากุมอำนาจในฝ่ายบริหารแทนคนของตัวเอง

“เป็นผม (นะ) ก็ต้องการนายกฯ ที่คอนโทรลได้ มันแสดงว่าผมมีอำนาจเหนืออยู่แล้ว ซึ่งคุณทักษิณฉลาดพอจะไม่เปลี่ยนตัวนายกฯ แม้แต่คุณอุ๊งอ๊งเองก็ตาม ที่หากเข้าไปก็ต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยทางการเมือง อาทิ ประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต แต่ท้ายที่สุดผมก็อยากฝากถึงคนแวดล้อมของทักษิณ ว่าผมยังคงตรวจสอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมตัวใน รพ.ตำรวจ 180 วัน หรือมีใครได้รับประโยชน์จากการเอื้อกฎหมายให้ได้กลับบ้านบ้าง ” 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์